ชีวิตคนฮ่องกงไม่ง่าย ชนชั้นกลาง 9 ใน 10 ไม่มีแผนเกษียณ เงินบำนาญไม่พอ ขอทำงานต่อไปเรื่อยๆ

เกิดเป็นคนฮ่องกงไม่ง่าย ชนชั้นกลาง 9 ใน 10 กังวลชีวิตยามแก่ เงินบำนาญไม่เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตสะดวกสบาย แถมกังวลว่าโควิด-19 จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ฮ่องกง หนึ่งในเมืองที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยจำนวนผู้สูงอายุ (เกิน 65 ปีขึ้นไป) ราว 1.27 ล้านคนในปี 2018 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.44 ล้านคน ในปี 2038 คิดเป็นสัดส่วน 32% ของประชากรทั้งหมด แถมอายุขัยเฉลี่ยของฮ่องกงยังสูงถึง 85 ปี ยิ่งทำให้สังคมผู้สูงอายุของฮ่องกงกลายเป็นสิ่งที่น่ากังวล

ความน่ากังวลของสังคมผู้สูงอายุในฮ่องกง คือ เรื่องของเงินบำนาญ ที่อาจไม่เพียงพอโดยเฉพาะในมุมมองของชนชั้นกลาง เพราะต้องยอมรับว่าฮ่องกง เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพค่อนข้างสูง

ชนชั้นกลางฮ่องกงส่วนใหญ่ไม่มีกำหนดการเกษียณที่ชัดเจน

จากการเก็บข้อมูล Hong Kong Retirement Schemes Association พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุ 50-59 ปีที่เป็นชนชั้นกลาง กว่า 90% ไม่มีกำหนดการเกษียณอายุที่ชัดเจน และกว่า 2 ใน 3 อยากทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว ในขณะที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของฮ่องกง โดยเฉลี่ยสามารถจ่ายเงินบำนาญให้ได้ราว 40% ของเงินเดือนที่ผู้สูงอายุเคยได้รับเท่านั้น

โดยทั่วไปแล้ว ชนชั้นกลางชาวฮ่องกงจะได้เงินเดือนราว 18,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 74,800 บาท ในขณะที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถจ่ายเงินบำนาญให้ผู้สูงอายุได้ไม่เกิน 12,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 49,800 บาท

มีเวลาจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน้อย ปัญหาใหญ่ของคนทำงานสูงวัย

ปัญหาของคนวัยทำงานที่มีอายุ 50-59 ปีในฮ่องกง คือ มีเวลาในการจ่ายเงินให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 20 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่มีเวลาในการจ่ายเงินให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มากกว่า ทำให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้รับเงินบำนาญมากกว่าด้วย

เมื่อได้เงินบำนาญน้อย ผู้สูงอายุจึงอาจไม่มีทางเลือก นอกจากจะทำงานต่อไปเรื่อยๆ แต่หากโดนบังคับให้เกษียญอายุทั้งที่มีเงินบำนาญไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุเหล่านี้ก็ต้องยอมรับที่จะใช้ชีวิตที่มีคุณภาพไม่ดีนัก

ปัญหาเงินบำนาญน้อยไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่เมื่อผู้สูงอายุมีเงินบำนาญน้อย ต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัด ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย เพราะผู้สูงอายุต้องประหยัดเงิน ไม่ได้ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ไม่ได้ช้อปปิ้งสินค้าราคาแพง ธุรกิจต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้หลังยุคโควิด-19 ระบาด ผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-59 ปี 50% ยังกังวลด้วยว่า โควิด-19 จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตด้วย

ที่มา – scmp

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา