สรุป 6 กลยุทธ์การตลาดยุคดิจิทัลมาแรง ปี 2020 ที่หลายๆ แบรนด์ต้องปรับตัว โดย DAAT

นอกจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT จะได้เปิดเผยข้อมูลเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในช่วงครึ่งปีแรก และคาดการณ์เม็ดเงินในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020 แล้ว DAAT ยังได้รวบรวมแทรนด์ของผู้บริโภคที่น่าสนใจ ที่ทำให้นักการตลาดในประเทศไทยต้องปรับตัว

ภาพจาก Shutterstock

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) เล่าว่า ทุกวันนี้ความท้าทายของนักการตลาดมีมากขึ้น เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง มีความกดดันในการทำธุรกิจที่มากขึ้น แต่ต้องรักษาระดับยอดขายเอาไว้ให้ได้

6 กลยุทธ์การตลาดยุคดิจิทัล มาแรง แบรนด์ต้องจับตามอง

บทบาทของ Agency ที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบันบทบาทของ Agency เปลี่ยนไป ต้องทำงานร่วมกับนักการตลาดมากขึ้น เพื่อรักษาเป้าหมายางการตลาด ในขณะเดียวกันการออกโปรโมชันก็เปลี่ยนไปเช่นกัน Agency ต้องช่วยคิดราคา ว่าควรจะขายสินค้าที่ราคาเท่าใด สำรวจราคาในตลาด e-Commerce รวมถึงต้องวิเคราะห์ไอเดียในการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ส่วนช่องทางการขายผ่านออนไลน์ และ e-Commerce แต่ละร้านค้าจะมีรูปแบบไม่เหมือนกัน ต้องออกแบบหน้าร้านออนไลน์ เช่นเดียวกับในอดีตที่เคยออกแบบหน้าร้าน (Retail Marketing)

ยุคนี้ Creative สำคัญ ต้องสร้างคอนเทนต์เฉพาะแพลตฟอร์ม

ภารุจ ดาวราย เล่าว่า ในปัจจุบัน คน 1 คน เป็นผู้ชมในสื่อต่างๆ ที่มีลักษณะไม่เหมือนกัน เช่น Google, Facebook, Instagram, Twitter และ TikTok มีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกัน ผู้ชมมีสิทธิ์ที่จะดูหรือไม่ดูโฆษณาในช่องทางต่างๆ ได้

ทำให้รูปแบบการทำคอนเทนต์บนแต่ละแฟลตฟอร์มก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย จากเดิมเคยใช้วิธีสร้างโฆษณาจาก 1 ไอเดีย แล้วปรับรูปแบบใหม่เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น คลิปวิดีโอแนวตั้ง หรือแนวนอน แต่ตอนนี้ต้องทำโฆษณาให้เหมาะกับแต่ละแพลตฟอร์มมากที่สุด

ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ยิ่งรู้มากยิ่งสื่อสารได้ง่าย

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักการตลาดมีการเก็บข้อมูลของลูกค้า ทำให้เข้าใจความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ดังนั้นยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น อนันฑ์ ตีระบูรณะพงษ์ เล่าว่า ในอดีต การยิงโฆษณาครึ่งหนึ่งของเงินที่เสียไป จะใช้ไม่ได้ผล แต่ปัจจุบันข้อมูลที่นักการตลาดมี ทำให้รู้ว่านักการตลาดควรใช้เงินที่จุดใด เพราะการมีข้อมูล เป็นเหมือนการรู้คน รู้ความต้องการ โฆษณาจึงตามไปได้ทุกที่ ทำให้เหมือนโฆษณาพูดกับผู้บริโภคโดยตรง

ประกอบกับในอดีตคนบางกลุ่มไม่ได้ใช้การซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น กลุ่มคนเจน X ทำให้นักการตลาดไม่มีข้อมูล การทำการตลาดแบบเจาะจงจึงทำได้ยาก แต่เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนกลุ่มนี้หันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น นักการตลาดจึงมีข้อมูลที่จะสามารถนำมาใช้ได้

เกม ความบันเทิงรูปแบบใหม่ ที่น่าจับตามอง

นรินทร์ เย็นธนกรณ์ เล่าว่า ปัจจุบันคนไทยกว่า 20 ล้านคนเล่นเกม และใช้เวลาไปกับการเล่นเกมกว่า 13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 45% ของผู้ใช้ YouTube ในไทย สนใจคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกม

ส่วนสถิติการใช้งานแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับเกม พบว่า คนไทยใช้ Facebook Gaming ในการรับชมสตรีมเกม รวมถึงเป็นผู้สตรีมเกมเอง ติดอันดับ 5 ของโลก ส่วน Twitch คนไทยก็ใช้เวลาดูไลฟ์สตรีมเกมกว่า 8 ล้านชั่วโมงต่อเดือน

จะเห็นได้ว่าตลาดเกม ไม่ใช่ความสนใจของคนเฉพาะกลุ่มเสมอไป แบรนด์สินค้าต่างๆ สามารถเข้าสู่วงการเกมเพื่อสร้างการรับรู้ได้ โดยเฉพาะสินค้า FMCG ที่มีช่องทางในการเข้าไปมาก เช่น นักแคสเกมผู้หญิง สามารถโฆษณาครีม เพราะต้องโชว์หน้าออกกล้อง หรือจะ Tie-in สินค้าเข้าไปก็ได้

Brand Own Platform

ในยุคนี้แบรนด์ต่างๆ เลือกเข้าสู่วงการ e-Commerce มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Shopee หรือ Lazada แต่ความจริงแล้ว ช่องทาง e-Commerce ของแบรนด์เอง ก็ยังมีความสำคัญ

กัณฑ์ณฐกรณ์ รัตนวีณาวาที เล่าว่า ช่องทาง e-Commercer ของแบรนด์เอง สามารถควบคุมประสบการณ์ของลูกค้าได้ และยังสามารถเก็บข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าได้ ว่ามีความสนใจอะไร โดยเฉพาะการรู้ว่าลูกค้าของตัวเองคือใคร พฤติกรรมออนไลน์เป็นอย่างไร เจอหน้าร้านออนไลน์จากที่ไหนก่อนจะเข้ามาหาที่ช่องทางของแบรนด์

รวมถึงหลังจากที่ออกจากช่องทางของแบรนด์ไปแล้ว ลูกค้าไปเปรียบเทียบสินค้าที่ไหน หรือใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าเท่าไหร่

ยุคนี้ ใครๆ ก็เป็น Influencer ได้

เอกชัย ปาริชาติกานนท์ เล่าว่า Influencer คือคนที่สามารถสร้างคุณค่า สร้าง Impact ของการสื่อสาร บอกเล่าเรื่องราวหรือการสื่อสาร ที่จะเป็นประโยชน์กับแบรนด์ได้ ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์ไอที ทำให้ใครๆ ก็กลายเป็น Influencer ได้ รวมถึงจำนวนประชากรกลุ่มเจน C ที่เพิ่มมากขึ้น Influencer ก็จะต้องมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ซึ่งข้อดีของ Influencer คือ เป็นสิ่งที่เห็นผลในระยะสั้น เพราะคนจะเชื่อข้อมูลที่ได้จากคน มากกว่าข้อมูลที่ได้รับมาจากโฆษณาของแบรนด์เอง ซึ่งในยุคโควิด-19 Influencer ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงการกระจายข้อความของแบรนด์ออกไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องช่วยปิดการขาย บอกรายละเอียด เป็นเหมือนตัวแทยการขายบนช่องทางของ Inflencer แต่ละคน ส่วนในมุมของแบรนด์เองก็ไม่ควรปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของ Inflencer ให้เขาได้นำเสนอข้อมูลในรูปแบบของเขาเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา