ของฟรีไม่มีในโลก เปิด 4 สัญญาณอันตราย ที่ทำนักช็อปออนไลน์เงินไหลไม่รู้ตัว

Cashless payment การใช้จ่ายล่องหนที่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บเท่าการจ่ายเงินสด

วิถีชีวิตแบบใหม่ที่ถูกเร่งด้วยวิกฤติโควิด-19 ผลักให้เราเดินทางน้อยลง เกิดการทำงานจากที่บ้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ดูเหมือนค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เราจ่ายในช่วงปกติลดลง ไม่ว่าจะเป็นค่าฟิตเนส ค่าเดินทางรายดือน รวมไปถึงอาหาร

จริงๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายเรากำลังลดลงหรือไม่? คำตอบคืออาจจะไม่ เพราะชีวิตบนโลกออนไลน์ทำให้เราต้องใช้จ่ายแบบ cashless มากขึ้น นั่นหมายความว่าการจ่ายเงินสดที่ทำให้เรารู้ตัวว่าเงินกำลังไหลออกจากกระเป๋าลดลง และหันไปจ่ายเงินแบบ “ล่องหน” มากขึ้น โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังจ่ายเงินอยู่

Brand Inside พาไปดู 4 สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าเงินกำลังไหลโดยไม่รู้ตัว และแนะนำวิธีแก้ให้เราใช้จ่ายบนโลกออนไลน์ได้อย่างระมัดระวังมากขึ้น

(1) ตอบไม่ได้ว่า Subscribe อะไรไปบ้าง

ภาพจาก Shutterstock

มีบริการมากมายในปัจจุบันที่ใช้ระบบ Subscription เพื่อเข้าถึงบริการ เช่น บริการดูหนังฟังเพลง ดูวิดิโอ หรือ สำนักข่าว กลยุทธ์การตลาดที่เห็นได้บ่อยที่สุดของบริษัทเหล่านี้คือการให้ทดลองใช้ฟรีหรือมอบราคาพิเศษให้โดยต้องผูกบัตรเครดิตเอาไว้ทำให้เราเป็นสมาชิกของบริการต่างๆ มากกว่าที่เราคิด และที่แย่กว่านั้นคือลืมยกเลิกบริการที่ทดลองใช้แล้วไม่ได้ใช้ต่อโดยที่ยังเสียเงินต่อไป

นอกจากนี้ เรายังอาจสมัครรับบริการไปมากกว่าที่คิดด้วยตัวเอง เพราะการจ่ายเงินแบบไร้เงินสด (cashless) และการชำระอัตโนมัติทำให้เราไม่รู้สึกถูกกระทบทางการเงินมากเท่าการยื่นเงินสดเพื่อจ่ายค่าบริการต่างๆ 

วิธีป้องกันการสมัครบริการมากเกินไป

  1. เช็คว่าเราสมัครอะไรไปบ้าง โดยการดูใบแจ้งยอดบัตรเครดิต หรือเช็คข้อมูลการสมัครบริการในบัญชีของเราผ่าน Apple ID, Play Store, หรือ Gmail 
  2. ตั้งแจ้งเตือนตามความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการจดวันชำระในแอพแจ้งเตือน การจดวันชำระค่าบริการต่างๆ ในปฏิทิน หรือตั้งแจ้งเตือนผ่านอีเมลเมื่อต้อง renew การเป็นสมาชิก

(2) ไม่รู้ว่าแต่ละบริการที่สมัครมีแพคเกจอะไรบ้าง

ภาพจาก shutterstock

สำหรับบางแอพพลิเคชั่น เราอาจรู้สึกว่าจะยกเลิกก็ไม่ได้แต่ถ้าไม่ยกเลิกก็ต้องจ่ายแพง นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเรายังไม่รู้ว่าบริการที่เราใช้อาจมีแพคเกจอื่นๆ ที่ราคาถูกกว่านี้ และเรากำลังใช้บริการที่แพงกว่าที่เรารับได้ 

กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ผู้ให้บริการมักทำคือตั้งแพคเกจราคาแพงเป็นค่าเริ่มต้นและไม่โปรโมททางเลือกอื่นเท่าที่ควร

ซึ่งถ้าหากเรายังอยากใช้บริการดังกล่าวอยู่แต่คิดว่าบริการปัจจุบันแพงเกินไป การหาแพคเกจอื่นที่ตรงความต้องการ อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และนี่คือเทคนิคเล็กๆ ที่เราจะนำมาแชร์กัน

    1. บัญชีใช้ร่วมกัน เป็นทางเลือกที่เราน่าจะรู้จักมากที่สุดซึ่งอาจจะมาในรูปแบบบัญชีครอบครัว บัญชีบริษัท ไปจนถึงบัญชีเพื่อการศึกษา
    2. หาแพคเกจที่เหมาะสมกับความต้องการ เช่น แพคเกจสตรีมมิ่งบางค่ายสามารถดูได้เฉพาะในมือถือในราคาที่ถูกลงถึง 2 ใน 3
    3. การต่อรอง เป็นวิธีที่เราอาจจะคุ้นเคยกับการสมัครเครือข่ายมือถือหรือโทรทัศน์ การขอย้ายค่ายก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่จะทำให้เราได้เพ็คแกจที่คุ้มค่าขึ้น รวมไปถึงปัจจุบันที่เกิดวิกฤติการระบาดโควิด-19 ที่ทำให้บางบริษัท เช่น Adobe ผ่อนปรนเรื่องค่าบริการลง
    4. การหยุดใช้ชั่วคราว เป็นวิธีที่ง่ายแต่มักถูกมองข้าม เช่น Netflix ที่เราสามารถ pause การเป็นสมาชิกโดยไม่เสียประวัติการรับชม ถ้าบริการไหนไม่ตอบโจทย์ในบางช่วงการหยุดรับบริการชั่วคราวก็อาจเป็นคำตอบ

(3) ใช้บริการแค่เจ้าเดียว

Ecommerce // ภาพจาก Shutterstock

บริการ Delivery อาหารและสินค้าจากร้านค้าปลีก และบริการ E-Commerce มักจะเป็นบริการที่ไม่แตกต่างไปจากเจ้าอื่นๆ มากนัก ทำให้เราสามารถเลือกใช้หลายเจ้าได้ตามสะดวก นี่ทำให้เราสามารถเปรียบเทียบเจ้าที่ถูกและดีกว่า และปรับเปลี่ยนไปมาได้ตลอด

ไม่เหมือนบริการคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาต่างกัน เช่น ซีรีย์ที่ฉายต่างกันไปในแต่ละเจ้าทำให้เราไม่มีโอกาสเลือกมากนัก

วิธีการที่ง่ายที่สุดที่ทำให้เราประหยัดได้คือ การเปรียบเทียบราคาสินค้า ค่าจัดส่ง และโปรโมชั่น ก่อนชำระเงินซึ่งทำให้เราสามารถประหยัดได้มากขึ้น

(4) ไม่เคยเช็ค Cloud

Cloud เป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะมองข้าม ไม่เคยเช็ค ไม่เคยจัดการ ไปจนถึงไม่รู้ว่าบัญชีเรากำลังผูกกับ Cloud อยู่ไม่ค่ายใดก็ค่ายหนึ่ง นี่ทำให้บางคนถึงกับต้องซื้อบริการ Cloud เพิ่มโดยไม่ลองจัดการเบื้องต้นดูก่อน

วิธีจัดการ Cloud เบื้องต้น

  1. ตรวจสอบไฟล์ที่ไม่จำเป็นใน Cloud เช่น รูปที่สำรองอัตโนมัติ ข้อความเก่าที่มีไฟล์แนบ
  2. ลบข้อมูลที่ไม่จำเป็นและพยายามสำรองข้อมูลที่จำเป็นไว้ในคอมพิวเตอร์ 
  3. คำนวนความจุที่ต้องการเบื้องต้น โดยดูไลฟ์สไตล์ เช่น ชอบถ่ายรูป หรือมีงานเอกสารมาก
  4. ซื้อ Cloud ตามความจำเป็น เช่น บางเจ้าอาจให้เก็บเฉพาะรูป หรืออาจจะเก็บแค่เอกสารในราคาที่ถูก

ทั้งนี้ ไม่ควรประหยัดมากไปโดยการใช้ Cloud ฟรีหลายเจ้าเพื่อเก็บข้อมูลจำนวนมาก เพราะการลงทุนเพื่อการทำงานที่ลื่นไหลและไม่ลืมตำแหน่งที่เก็บไฟล์จนทำให้งานสะดุด ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่า

ที่มา – Washington Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน