จับ 3 อินไซต์ไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมา ปี 2018 สู่ยุคจับจ่ายเพื่อสเตตัสทางสังคม

เอ็นไวโรเซล (ไทยแลนด์) เผย ‘3 อินไซต์ไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมา ปี 2018’ ใน 3 เมืองเศรษฐกิจหลัก ย่างกุ้ง มัณฑเลย์ และเนปิดอว์ เปลี่ยนผ่านสู่ยุคจับจ่าย เพื่อภาพลักษณ์ทางสังคม และไลฟ์สไตล์ (from necessity to need) ตลาดโมเดิร์นรีเทลเติบโตสูง ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ตัวเองมากกว่าแค่ปัจจัยสี่ และใช้สินค้าอิมพอร์ตมากขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า

เมียนมายังเป็นประเทศเนื้อหอมด้วยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากมายในอนาคตที่จะทำให้เมียนมาสามารถเชื่อมต่อกับนานาประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย บังคลาเทศ หรือไทย ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงประชากรอีก 40% ของโลก (เกือบ 3 พันล้านคน) และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาฟื้นตัวจากปี 2016 โดยมี GDP ที่ 7.7% และคาดการณ์ 8%ในปี 2018

ทำให้คาดการณ์สัดส่วนของผู้มีกำลังซื้อตั้งแต่รายได้ A และ B จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 5 ล้าน เป็น 10 ล้านคน ภายในปี 2020 ข้อมูลวิจัยจากหลายแหล่งตอกย้ำการเติบโตแบบไม่หยุดยั้งนี้ บริษัทเอ็นไวโรเซล ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระดับโลกได้วิเคราะห์เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคเมียนมาในปี 2018 ดังนี้

  1. ตลาดโมเดิร์นรีเทล (Modern Retail) เติบโตสูง

เมียนมาเป็นตลาดที่ดึงดูด Retailer จากหลายประเทศให้เข้ามาลงทุน เช่น ญี่ปุ่น ได้มีการขยายธุรกิจรีเทลมาที่เมียนมา อาทิ Aeon, Miniso หรือ Daiso รวมถึงมีแผนการขยาย Fashion Retail แบรนด์ต่างๆ ทำให้พื้นที่รีเทลในเมียนมาเติบโตสูงถึง 28% โดยเฉลี่ยในแต่ละปี มีการขยายตัวของพื้นที่ให้เช่าจาก 150,000 ตารางเมตร ในปี 2013 เป็น 250,000 ตารางเมตรในปี 2018

ส่วนตลาดค้าปลีกในเมียนมาเองก็มีการขยับขยายกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะการเปิดสาขาเพิ่มในเมืองรอง เช่น Grab and Go ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตัวในปี 2013 ด้วยจำนวน 10 สาขา ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 200 สาขาในเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนย์ปิดอว์ จากงานวิจัยความเชื่อมั่นของผู้บริโภค พบว่า 54% ของคนเมียนมาไม่มีความกังวล และมีความตั้งใจจะใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่จะทำให้ตลาดค้าปลีกเติบโตอย่างคึกคักในปี 2018

  1. มองหาสินค้าที่สนองไลฟ์สไตล์มากกว่าแค่ปัจจัยสี่

ข้อมูลวิจัยผู้บริโภคเมียนมาพบว่า คนเมียนมาซื้อสิ่งของที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์มากขึ้น ไม่ได้ซื้อแค่สินค้าที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันเท่านั้น เช่น มีการใช้น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น  น้ำยาปรับผ้านุ่ม ครีมนวดผม สบู่เหลว มากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนจัดเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น และสิ้นเปลือง โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 14% ต่อปี

ในขณะที่อัตราการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อความสะดวกสบาย เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ก็เติบโตสูงเช่นเดียวกัน ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนเกาหลีเป็นสินค้าเครื่องสำอาง ขณะที่ญี่ปุ่น และจีน เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า

แม้กระทั่งคอนเทนต์ของโฆษณาก็มีการปรับเปลี่ยนอย่างชัดเจนในเมียนมา จากโฆษณาที่เน้น Hard Sale ขาย Functional Product ความยาว 3 นาที ก็เปลี่ยนมาเน้น Soft Sale คือ ขาย Emotional เป็นไลฟ์สไตล์คอนเทนต์มากขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

ไม่เพียงเท่านั้น ภาพคุ้นชินที่เห็นคนเมียนมานั่งยองตามตั่งเก้าอี้ จิบชากาแฟริมถนนกำลังจะกลายเป็นภาพในอดีต  จากผลวิจัยที่ระบุอัตราติดลบ 10%ต่อปี เมื่อคนเมียนมาหันมานิยมเข้าร้านกาแฟที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยร้านกาแฟแบรนด์ต่างๆ ก็ทยอยเข้ามาเปิดตัวในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็น Gloria Jean’s, True Coffee, Black Canyon, Coffee Bean & Tea Leaf เป็นต้น

ผลวิจัยระบุอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของร้านกาแฟจาก 6%ใน ปี 2013 เป็น 45% ในปี 2016 เช่นเดียวกับธุรกิจที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสกายบาร์ โยคะ หรือฟิตเนส ที่จัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงในเมียนมา

ขณะที่ผู้ร่วมงานแฟร์อย่างงาน Myanmar Build & Décor งานแต่งบ้าน ไลฟ์สไตล์ดีไซน์ก็มีผู้ร่วมงานมากขึ้น โดยมีจำนวน 5,119 คนในปี 2017 จาก 2,879 คนในปี 2014 เติบโต 80% (ข้อมูลจากบริษัท ไอซีเว็กซ์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการจัดงานแฟร์ และเอ็กซิบิชั่นทุกครบวงจร บริษัทในเครือของบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน))

  1. โกอินเตอร์

จากงานวิจัยของเอ็นไวโรเซลในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าคนเมียนมาเริ่มหันมาใส่ใจภาพลักษณ์ และ Status Symbol มากขึ้น มีการใช้สินค้าอิมพอร์ตมากขึ้น เช่น บิสกิต ชาอังกฤษ สปาเกตตี้ ซุปฝรั่ง ซีเรียล สอดคล้องกับ ข้อมูลของไอซีเว็กซ์ ที่ระบุว่า คนเมียนมาชอบไปอีเว้นท์ที่เกี่ยวกับ International Food & Beverage มากขึ้น

โดยในปี 2017 มีผู้เข้าร่วมงาน 4,100 คน เติบโตถึง 52 % จากปี 2014 ที่มีผู้เข้าร่วมเพียง 2,696 คน ในขณะเดียวกัน 47 %ของคนเมียนมาที่ใช้ ‘อินเทอร์เน็ต’ มีโอกาสเปิดรับสื่ออินเตอร์มากยิ่งขึ้น โดย VDO Streaming เป็นที่นิยมมากในปี 2017 ซึ่ง 80% ดูผ่านมือถือ ทำให้ Netflix กำลังขยายธุรกิจไปยังเมียนมา รวมถึงพันธมิตรอย่าง Ooredoo และ Iflix ด้วยเช่นกัน

ทำให้คนเมียนมาได้เปิดรับโลกภายนอกมากขึ้น และโกอินเตอร์มากขึ้น รวมถึงเริ่มนิยมเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น โดยปี 2017 ที่ผ่านมา มีคนเมียนมาเดินทางออกนอกประเทศถึง 3 ล้านคน ซึ่งเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉลี่ย 10.6% จนถึงปี 2021

ภาพจาก Shutterstock

โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ A และ B ในย่างกุ้ง และมัณฑเลย์ นับว่ายังมีโอกาสอีกมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และอัตราการเติบโตของผู้มีรายได้สูง และเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมที่สุดของชาวพม่า

“พฤติกรรมการบริโภคของคนเมียนมาที่มีการเปิดรับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และใช้สินค้าตอบสนอง emotional มากขึ้นก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายมากกว่าเดิม โดยเฉพาะสินค้าและการท่องเที่ยวของประเทศไทย แต่ไม่ใช่ทุกแบรนด์จะประสบความสำเร็จ จึงควรมีการศึกษาตลาดและผู้บริโภคให้ดี เพื่อเข้าไปขายสินค้าอย่างถูกที่ ถูกเวลา ถูกกลุ่ม และวางกลยุทธ์ได้ถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาและการลงทุนไปอย่างสูญเปล่า”

**ข้อมูลวิจัยจากบริษัท เอ็นไวโรเซล ประเทศไทย ทำการรวบรวมจากข้อมูลทุติยภูมิ ในช่วงปี 2012-2017 และการสัมภาษณ์ชาวพม่าจำนวนกว่า 2,000 คน ในกลุ่มชายหญิง อายุ 18-45 ปี รายได้ A B C และ D ณ เมืองย่างกุ้ง มัณฑเลย์ และเนปิดอว์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา