คุยกับ ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร ผู้กุมบังเหียน 2C2P สยายปีกสู่พื้นฐานของทุกธุรกิจที่อยากขายออนไลน์

ตอนนี้คงไม่มีธุรกิจไหนไม่ขายออนไลน์แล้ว เพราะช่องทางดังกล่าวถูกเข้าถึงโดยผู้บริโภคมากขึ้น และเป็นช่องทางที่สะดวกในการพัฒนามากกว่าเดิม แต่เมื่ออยากขายออนไลน์ หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ระบบรับชำระเงิน หรือ Payment Gateway เพราะถ้าไม่มีก็คงไม่สามารถรับเงินจากผู้ซื้ออย่างปลอดภัยได้

2C2P คือผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินชั้นนำของเอเชีย ผ่านทีมงานกว่า 500 คน รองรับการทำตลาดในเอเชีย ทั้งยังขยายความร่วมมือกับธุรกิจต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป รวมถึงมีใบรับรองมาตรฐานทางการเงินจำนวนมาก เรียกว่าอยากเข้ามาทำตลาดในเอเชีย แค่ต่อระบบกับองค์กรก็เดินหน้าธุรกิจได้ทันที

เมื่อธุรกิจออนไลน์ยังเติบโต หลากหลายธุรกิจในสหรัฐอเมริกา และยุโรปต่างเข้ามาบุกตลาดเอเชียมากขึ้น 2C2P จะอาศัยปัจจัยบวกเหล่านี้เติบโตอย่างไร Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรับทราบถึงคำตอบดังกล่าวดังนี้

2C2P

ไม่มี Payment Gateway ก็ขายออนไลน์ลำบาก

ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า การจะขายออนไลน์ ถ้าหากธุรกิจไม่ได้ใช้บริการระบบรับชำระเงิน หรือ Payment Gateway ก็คงลำบาก เพราะระบบดังกล่าวเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ ผ่านการเป็นตัวรับชำระเงินตามชื่อ

“เมื่อมันสำคัญ ตลาดนี้มันยังเติบโตไปได้อีกเยอะโดยเฉพาะในประเทศไทย เพราะตัวเลขการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์นั้นยังคิดเป็น 5% ของการซื้อขายทั้งหมด แต่ในสหรัฐอเมริกา และยุโรปมันเติบโตไปเป็นสัดส่วน 20-30% แล้ว โดยการเติบโตนอกจากการใช้งานเพิ่ม ตัวนวัตกรรม และลูกเล่นใหม่ ๆ ของบริการนี้ก็จะช่วยขับเคลื่อนเช่นกัน”

ปัจจุบันระบบรับชำระเงินในประเทศไทยมีจำนวนมาก ทั้งผู้ให้บริการท้องถิ่น และผู้ให้บริการจากต่างประเทศ โดยมีทั้งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการที่ได้ใบรับรองจากองค์กรต่าง ๆ เช่น Visa หรือ PCI และมีผู้ให้บริการที่วางตัวเองเป็น Middleware ที่มาเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการที่มีใบรับรองมากกว่าเพื่อให้บริการนี้ได้เหมือนกัน

2C2P
ความครอบคลุมในการให้บริการของ 2C2P

เจาะความยากในการทำ Payment Gateway

ปิยชาติ ย้ำว่า การทำธุรกิจระบบรับชำระเงินค่อนข้างยาก เช่น ในระยะแรกของบริการดังกล่าวจะมีเพียงธนาคาร หรือผู้ให้บริการรับชำระเงินของบัตรเครดิต อาทิ Visa หรือ Mastercard เพราะพวกเขามีความพร้อมที่จะผ่านมาตรฐานในการรับชำระเงินออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงความพร้อมในการรับชำระด้วยเงินตราหลากหลายสกุล

“แม้จะมีผู้ให้บริการ Payment Gateway มากขึ้น แต่ผู้เล่นที่มีความครอบคลุมในการรับชำระจริง ๆ มีน้อย เช่น 2C2P ที่ทำธุรกิจนี้มา 20 ปี และใช้เวลาในการผ่านมาตรฐานต่าง ๆ อาทิ ใบรับรองจาก Visa ที่ต้องใช้เวลาตรวจสอบ 6 เดือน ถึง 1 ปี และต้องใช้เงินลงทุนที่เยอะ และใบรับรองไม่ใช่ใบเดียว ยิ่งเยอะ ก็ยิ่งใช้เวลานาน”

หนึ่งในใบรับรองที่ได้ค่อนข้างยากคือ PCI DSS ที่ต้องเงินลงทุนจำนวนมาก และจ้างผู้ตรวจสอบภายนอก ซึ่งรวมกันแล้วต้องใช้งบประมาณหลายสิบล้านบาท ยังไม่รวมกับการไปของใบอนุญาตให้บริการจากแบงก์ชาติ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. อีก

2C2P

เมื่อมันยาก Middleware จึงตอบโจทย์มากกว่า

“การเติบโตขึ้นมาของ Middleware ในตลาดไทยนั้นมีมาก ผ่านการพัฒนาหน้าตาการใช้งานให้ดูสวยงามกว่าระบบรับชำระเงินที่เน้นความครอบคลุมของบริการ และยอมจ่ายค่าส่วนต่างเล็กน้อยเพื่อมาเชื่อมต่อกับระบบรับชำระเงินที่ครอบคลุมการรับชำระ ซึ่งก็อยู่ที่การวางแผนธุรกิจของพวกเขา”

หากนับไปถึงจุดเริ่มต้นของ 2C2P ต้องย้อนไปที่การมีต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยที่มี Visa และ Mastercard เป็นระบบรับชำระเงิน แต่ด้วยระบบของพวกเขาอิงกับสหรัฐอเมริกา การติดต่อระหว่างภูมิภาคอาเซียนจึงต้องใช้เวลา และการมีพาร์ตเนอร์ที่เชื่อถือได้ในอาเซียนนั้นแก้ไขเรื่องนี้ได้

เบื้องต้นลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ที่ใช้บริการ 2C2P ในประเทศไทยมีทั้งค้าปลีก และบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ส่วนองค์กรไทยมีสายการบินต่าง ๆ ที่ล้วนคุ้นชื่อ โดยเหตุผลที่มีองค์กรระดับโลกมาใช้งาน 2C2P เพราะเมื่อเชื่อมต่อระบบกับบริษัทจะสามารถทำตลาดทั้งอาเซียนได้ทันที คุ้มค่าในการลงทุนมากกว่าการทำแค่ทีละประเทศ

2C2P

ส่วนต่างกำไรน้อยจึงขอเน้นองค์กรขนาดใหญ่

“ส่วนต่างกำไรของธุรกิจนี้มันน้อยมาก หรือเป็นหลักศูนย์เปอร์เซ็นต์ เราจึงเลือกองค์กรใหญ่ ไม่ใช่กลุ่ม SME และทำแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ถ้าให้พูดชื่อจะมีทั้งเซ็นทรัล, มาร์เกตเพรสทั้งหมด, แฟชั่นเกือบทุกแบรนด์ และแบรนด์เนมทั้งหมด เพื่อให้ได้จำนวนที่มากเพียงพอในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ”

ในส่วนของภาครัฐ บริษัทยังไม่มีแผนในการเข้าไปรุกตลาดดังกล่าว ส่วนตลาด SME เบื้องต้นมีการทำ Qwik หรือบริการแตะเพื่อจ่าย (Tap to Pay) ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยใช้เทคโนโลยี NFC ที่ให้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องรับชำระบัตรเครดิต และให้ผู้ซื้อนำบัตรเครดิตมาแตะเพื่อชำระเงิน

บริการดังกล่าวจะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2024 และตั้งเป้าผู้ใช้งานเบื้องต้น 5,000 ราย โดยบริษัทไม่ได้ทำตลาดเอง แต่จะแต่งตั้งให้พาร์ตเนอร์ที่เชี่ยวชาญตลาด SME ช่วยทำตลาดแทน นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังสามารถรับชำระด้วย Alipay และ Wechatpay เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน เช่นกัน

2C2P

ปี 2024 หวังรายได้ทะลุ 4,000 ล้านบาท

สำหรับรายได้ของ 2C2P สาขาประเทศไทย ในปี 2023 ปิดที่ 3,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2022 มีธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ผ่านระบบของบริษัทกว่า 150 ล้านรายการต่อปี ในมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนของรายการปีนี้มาจากสายการบินมากที่สุด ที่เหลือเป็นมาร์เก็ตเพลส ฟู้ดดิลิเวอรี ขายตรง และท่องเที่ยว

“หากมองในภาพรวมอาเซียน ตอนนี้ประเทศไทยนั้นเกิน 50% ของมูลค่าทรานแซกชันทั้งหมดที่เราให้บริการอยู่ และสิงคโปร์ก็มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน โดย 5 ปีจากนี้ เราจะพยายามเติบโตในธุรกิจ Payment Gateway ที่เป็นมากกว่าแค่ระบบชำระเงิน และต้องโตทุกประเทศอย่างยั่งยืน ทำ Cross Selling ในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย”

ส่วนปี 2024 บริษัทตั้งเป้ารายได้สาขาประเทศไทยที่ 4,000 ล้านบาท ผ่านการจับจ่ายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นของผู้ซื้อ และอาจประยุกต์ธุรกิจใหม่ ๆ จากข้อมูลการจับจ่ายที่มี เช่น บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หรือ Buy Now Pay Later: BNPL รวมถึงบริการสินเชื่อ เป็นต้น

2C2P

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา