Xendit บุกตลาด Payment Gateway ในไทย เจาะองค์กรใหญ่ พร้อมขอมีเอี่ยวในธุรกิจ Virtual Bank

Xendit ผู้ให้บริการ Payment Gateway และบริการทางการเงินอื่น ๆ จากอินโดนีเซีย ประกาศบุกตลาดไทยเต็มรูปแบบหลังทดลองตลาดมาราว 1 ปี เน้นเจาะลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ทุกอุตสาหกรรม ชูความสะดวก และเชื่อมั่นด้วยธุรกรรมทั่วอาเซียนวิ่งในระบบ 320 ล้านครั้ง มูลค่ากว่า 25,000 ล้านเหรียญ จากลูกค้า 6,000 ราย

Xendit

Xendit บุกตลาด Payment Gateway ในไทย

วิศิษฎ์ ยินดีสิริวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ Xendit ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า หลังศึกษาตลาดไทยมาราว 1 ปี บริษัทได้ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดเกี่ยวกับบริการทางการเงิน โดยเน้นที่ระบบรับชำระเงินในไทยอย่างเป็นทางการ ผ่านการเจาะตลาดองค์กรขนาดใหญ่ และดำเนินธุรกิจผ่านการหาพาร์ตเนอร์ที่น่าสนใจเพื่อเติบโตไปด้วยกัน

“แม้ Payment Gateway ในไทยมีการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่ยังมีช่องว่างเกี่ยวกับบริษัทข้ามชาติที่ต้องการมาทำตลาดในประเทศไทย รวมถึงอาเซียนก็ต่างต้องการระบบชำระเงิน และฝั่งองค์กรในไทยเองก็อยากออกไปทำตลาดในต่างประเทศได้ ซึ่ง Xendit ในฐานะหนึ่งในผู้นำตลาดนี้ในภูมิภาคอาเซียนจึงตอบโจทย์เรื่องดังกล่าวได้”

Xendit คือสตาร์ปอัพระดับยูนิคอร์นจากประเทศอินโดนีเซีย โดยในปี 2023 มีจำนวนธุรกรรมที่วิ่งผ่านระบบกว่า 320 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่าราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.54 แสนล้านบาท มีร้านค้า และองค์กรขนาดใหญ่กว่า 6,000 รายใช้งาน เช่น Allianz, Garuda Indonesia และ Samsung

Xendit

บุกตลาดไทยด้วย 3 บริการหลัก

การเข้ามาบุกตลาดไทยครั้งนี้ Xendit จะเดินหน้าด้วย 3 บริการหลักประกอบด้วย Xenpayments หรือระบบรับชำระเงินที่ครอบคลุมทั้งการรับชำระในไทย และระหว่างประเทศ รวมถึงรองรับช่องทางต่าง ๆ ตั้งแต่บัตรเครดิต, คิวอาร์ พร้อมเพย์, โอนเงินระหว่างธนาคาร และอีวอลเล็ต

Xenpayouts ระบบการเบิกจ่ายอัตโนมัติที่ประยุกต์ใช้กับการคืนเงินระบบของอีคอมเมิร์ซ และบริการอื่น ๆ ผ่านการเชื่อมต่อ API ระหว่างแพลตฟอร์ม, Xendit และสถาบันการเงิน รวมถึง Xenissuing บริการสร้างวอลเล็ต และบัตรต่าง ๆ เพื่อยกระดับการใช้บริการของแต่ละแพลตฟอร์มแก่ผู้บริโภคได้ดีขึ้น

ทั้งนี้มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองแค่อินโดนีเซีย ปี 2030 มีการคาดการณ์ตัวเลขอยู่ที่ 1.00-1.65 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนตัวเลขทั้งอาเซียนปี 2023 อยู่ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ แบ่งเป็น 70,000 ดอลลาร์ จากอีคอมเมิร์ซ, ท่องเที่ยว, ขนส่ง กับส่งอาหาร และสื่อออนไลน์ ที่เหลือมาจากบริการทางการเงิน

Xendit

ขอมีส่วนร่วมใน Virtual Bank

กรณ์ จาติกวนิช ประธาน Xendit ในประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า บริษัทต้องการมีส่วนร่วมในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank เนื่องจากปัจจุบันมีหลายองค์กรเริ่มติดต่อเข้ามาหารือ ผ่านความเชี่ยวชาญ และเป็นสตาร์ตอัปบริการทางการเงินระดับยูนิคอร์น

“เราอยู่ในช่วงตัดสินใจว่าจะเดินหน้ากลยุทธ์อย่างไรในการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ให้บริการ Virtual Bank แต่ที่แน่นอนคือแนวทางของเราที่จะไป จะใช้วิธีร่วมมือกับพันธมิตร ไม่ได้เดินหน้าด้วยตัวคนเดียว” กรณ์ ย้ำ โดยปัจจุบันเริ่มมีสถาบันการเงินให้ความสนใจขอใบอนุญาตทำธุรกิจดังกล่าวบ้างแล้ว

เบื้องต้นวันที่ 20 มี.ค. 2024 ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเปิดรับสมัครผู้ขอใบอนุญาตธุรกิจ Virtual Bank และประกาศผลเดือน มิ.ย. 2025 ก่อน มิ.ย. 2026 จะเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ มีเกณฑ์ผู้ขอใบอนุญาต เช่น ต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก เป็นต้น

อ้างอิง // Xendit

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา