คนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากันจริงไหม? เมื่อภาระหน้าที่ไม่อนุญาตให้เราได้ใช้เวลาเท่ากัน

ประโยคสุดคลาสสิก “คนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน” เรามักจะเห็นใครหลายคนบนโลกอินเเทอร์เน็ตใช้คำนี้เพื่อดันหลังให้ผู้อ่านต้องลุกขึ้นมาใช้ทุกวินาทีในชีวิตอย่างคุ้มค่า โดยมักจะพ่วงมาด้วยเหตุผลอื่น เช่น “อย่าคิดว่าตัวเองทำไม่ได้” “อย่าอ้างว่าไม่มีเวลา” เป็นต้น ถ้าตาม Fact แล้ว ไม่ผิดเลยถ้าจะบอกว่าโลกเรามี 24 ชั่วโมง แต่ทำไมคนเราถึงไม่สามารถใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าอย่างที่ไลฟ์โค้ชบนโลกอินเทอร์เน็ตได้บอกไว้ 

“ทำไมเธอถึงไม่ออกกำลังกายเลยล่ะ ใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียวก็พอแล้ว” “ทำไมถึงไม่ลองศึกษาการลงทุนดูสักหน่อยล่ะ ใช้เวลาวันละเท่าไหร่กันเชียว” ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ก็ดูเป็นประโยชน์กับชีวิตของเราจริง ๆ แต่ทำไมบางคนถึงทำได้ บางคนถึงทำไม่ได้กันนะ อาจด้วยเรื่องของภาระหน้าที่และความพร้อมของแต่ละคนที่มีไม่เท่ากัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงจะเป็นความพร้อมทางด้านการเงิน สมมติว่า นายไก่ ต้องเดินทางไปทำงานที่ทองหล่อ แต่ที่พักที่เขาพอจะสามารถเช่าอาศัยได้ เป็นพื้นที่รอบนอก เขาจึงต้องเดินทางหลายต่อ ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า เพื่อไปถึงที่ทำงานในราคาที่ถูกกว่า แต่สิ่งที่เขาต้องจ่ายแพงกว่าคือเวลา เขาตื่นตั้งแต่หกโมงเช้า ใช้เวลาเดินทางไปทำงาน 2 ชั่วโมง เพื่อเข้างานให้ทันเวลา 

มาดูกันที่นายเป็ด คนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ฐานะชนชั้นกลาง มีบ้านที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในเขตกรุงเทพฯ นายเป็ดไม่จำเป็นต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงาน เขาสามารถเรียกรถแท็กซี่หรือขับรถไปเองได้ ในระยะทางอันใกล้ ลดระยะเวลาเดินทางได้มากโข นายเป็ดจึงไม่ต้องจ่ายเวลาไปมากเท่านายไก่ และเวลาที่เหลือเหล่านั้น เขาสามารถนำไปใช้ได้ตามใจ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ baania.com รายงานว่า ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยในการเดินทางไปทำงานประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาพการจราจรที่แน่นขนัดขึ้นทุกปี 

ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก แต่สิ่งที่จะทำให้นายไก่และนายเป็ด ใช้จ่ายเวลาได้เท่ากันคืออะไร? 

เงินซื้อเวลาได้จริงไหม?

มาดูสิ่งที่เรียกว่า Living Wage คือ รายได้ที่เพียงพอให้เราได้มีชีวิตที่ดี สู้กับค่าครองชีพได้ ซึ่งมาตรฐานของชีวิตที่ดีที่ว่านั้นหมายรวมถึง อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การดูแลสุขภาพ การขนส่ง เครื่องนุ่งห่ม และความต้องการที่จำเป็นอื่นๆ รวมถึงการเตรียมการสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

หากนายเป็ดมี Living Wage ที่ดี ก็สามารถใช้ขนส่งสาธารณะที่ประหยัดเวลามากขึ้นกว่ารถเมล์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมที่ทั้งคู่อยู่ด้วยเช่นกัน หากเป็นรถเมล์ในประเทศที่ให้ความใส่ใจในความเป็นอยู่ของประชาชน เราอาจจะไม่ได้เห็นภาพคนยืนเบียดเสียดจนล้นป้ายรถเมล์ออกมาในวันฝนตก น้ำระบายไม่ทันจนท่วมล้นขึ้นมาถึงทางเท้า หรือขนส่งสาธารณะที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ กลับกลายเป็นตัวเลือกการเดินทางราคาแพง จนใครหลายคนยอมที่จะใช้เวลาหลักชั่วโมงไปกับรถเมล์ที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ 

นั่นอาจบอกเราได้ว่า การมีเงินมากกว่า สามารถซื้อความสะดวกสบายได้มากกว่า อย่าง ลดเวลาในการเดินทาง มีพื้นที่ออกกำลังกายอยู่ในที่พัก มีเวลาเหลือมากกว่า จนสามารถเอาไปใช้ต่อยอดให้กับชีวิตตัวเองได้ เมื่อพูดถึงการมีเวลาที่เท่ากัน แต่ได้ใช้ไม่เท่ากัน จึงหมายถึงการเลือกใช้เวลาที่เหลือไปกับอะไร เราจึงไม่อาจเอาไม้บรรทัดของเราไปทาบทับชีวิตคนอื่นได้เลย ตราบใดที่ภาระหน้าที่หรือความพร้อม (โดยเฉพาะทางด้านการเงิน) ของคนในสังคมยังคงแตกต่างกันจนต้องมีใครสักคนยอมสละเวลา เพราะไม่มีความพร้อมด้านการเงิน ในขณะที่คนจากหอคอยงาช้าง พร่ำบอกให้คนข้างล่างนั้น ลองใช้เงินเพื่อซื้อเวลาแบบตนดูสิ ทั้งที่ห้วงความคิดหลังจากได้ค่าจ้างรายวันของพวกเขา คือ เย็นนี้เราและครอบครัวจะกินอะไรกันดี

มีเงินมากกว่า มีเวลามากกว่า แล้วมีความสุขมากกว่าไหม?

มีงานวิจัยสองชิ้น ที่ว่ากันด้วยเรื่องนี้นี่แหละ ถ้ามีเงินเดือนมากกว่า จะมีความสุขมากกว่าด้วยไหม? แต่งานวิจัยทั้งสองกลับให้ผลที่ขัดแย้งกัน ชิ้นหนึ่งบอกว่าได้ แต่อีกชิ้นบอกว่าไม่ได้ แต่เราลองมาสำรวจลงไปให้ลึกกว่านี้กันอีกหน่อย 

งานวิจัยชิ้นแรก คือ งานวิจัยโดย Daniel Kahneman และ Angus Deaton จาก Princeton University ตีพิมพ์เมื่อปี 2010 พวกเขากล่าวว่า แม้เงินเดือนของคุณจะเกิน 75,000 ดอลลาร์ต่อปี ความสุขของคุณก็จะราบเรียบ ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด 

ในขณะที่งานวิจัยของ Matthew Killingsworth จาก University of Pennsylvania ตีพิมพ์เมื่อปี 2021 กล่าวว่า ไม่จริงน่า คนก็ยังคงมีความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อได้เงินเดือนมากขึ้น 

ทีนี้ เรามาดูกันว่าอะไรที่ทำให้ผลของงานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้ออกมาคนละทิศละทางแบบนี้ งานวิจัยชิ้นแรก โดย Kahneman นั้น พบว่าความสุขลดลงในช่วงเงินเดือน 60,000 – 90,000 ดอลลาร์ โดยมี 75,000 ดอลลาร์ เป็นจุดสูงสุดของกราฟ แต่งานวิจัยชิ้นหลัง นักวิจัยตัดสินใจที่จะพิจารณารายได้ที่สูงกว่าหรือต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์เป็นจุดเริ่มต้น ด้วยเรื่องของช่วงเวลางานวิจัยชิ้นแรกที่เป็นงานวิจัยเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อนำมาคำนวณใหม่ จึงต้องใส่เรื่องของเงินเฟ้อเข้าไปด้วย 

งานวิจัยชิ้นใหม่ยืนยันว่ารายได้ที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับความสุขที่สูงขึ้น ในอีกนัยหนึ่งในงานวิจัย พวกเขาระบุว่า ไม่ใช่แค่เรื่องความสุขที่มากขึ้นเท่านั้น พวกเขามองในแง่ความทุกข์ที่น้อยลงอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ลงลึกไปถึงเรื่องที่ว่า ใครบ้างที่เห็นว่าความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น พวกเขาพบว่าประชากรส่วนใหญ่ ความเป็นอยู่ที่ดียังคงเพิ่มขึ้นเมื่อผู้เข้าร่วมเริ่มมีรายได้มากกว่า 100,000 ดอลลาร์ต่อปี

เวลาที่เหลือจากการใช้เงินซื้อความสะดวกสบายมานั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะเข้าถึงได้ เพราะการมีเงินมากกว่าอาจหมายถึงโอกาสที่มากกว่า ความสะดวกสบายที่มากกว่า เลยทำให้ชีวิตมีความสุขมากกว่า แต่ทั้งนี้ เรื่องของความรู้สึกยังคงเป็นเรื่องปัจเจกที่เราไม่อาจบอกได้ทั้งหมดว่าใครจะต้องมีความสุขเพราะรวย เขาจะต้องทุกข์เพราะจน 

 

อ้างอิง

How your salary affects happiness (cnbc.com)

ทุกวันนี้เราใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานเกินไปหรือเปล่า (baania.com)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา