เมื่อไม่มีเจ้าไหนแม่น 100% GroupM เลยมองว่า การมีผู้ให้บริการเรตติ้งทีวี 2 ราย มีความจำเป็น

บริษัทจัดวัดเรตติ้งโทรทัศน์เกิดขึ้นมา เพราะการมีคนนอกช่วยตรวจสอบผู้ให้บริการ เพื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่ย่อมโปร่งใสมากกว่าช่องต่างๆ ทำเอง แต่ถ้ามีบริษัทวัดเรตติ้ง 2 รายล่ะ อุตสาหกรรมนี้จะเป็นอย่างไร

มี 2 ราย ย่อมช่วยให้การตัดสินใจดีขึ้น

รัฐกร สืบสุข Trading Partner ของ GroupM ผู้นำด้านธุรกิจวางแผนสื่อโฆษณาครบวงจรระดับโลก มองว่า การมีบริษัทจัดวัดเรตติ้ง 2 ราย ทำให้การตัดสินใจของเอเยนซี่ รวมถึงช่องรายการต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันไม่มีบริษัทจัดวันเรตติ้งใดๆ ทำได้แม่นยำ 100% เพราะจะทำอย่างนั้นได้ต้องมี Sample Size หรือกลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุมประชากรทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครทำอย่างนั้นได้ ผ่านต้นทุนโซลูชั่นที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นเมื่อไม่มีใครแม่น 100% การมีผลสำรวจให้มาตรวจวัดหลายๆ ข้อมูล ย่อมดีกว่า

“ถ้าไม่มีบริษัทวัดเรตติ้ง เจ้าของช่องก็อยากขายแพง ส่วนเอเยนซี่ หรือแบรนด์ก็อยากซื้อให้ได้คุ้มค่าที่สุด แต่ถ้ามีบริษัทวัดเรตติ้งรายเดียว มาตรฐานก็อาจมีแค่เจ้าเดียว และไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมดด้วย อย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ก็เริ่มหันมาใช้ระบบ 2 เรตติ้งแล้ว ผ่านเหตุผลทั้งผู้ให้บริการช่องรายการมองว่าตนเองถูกเอาเปรียบ ผ่าน Sample Size ที่กระจายไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายของตนเอง หรือต้องการมีมาตรฐานใหม่ๆ เข้ามา แต่ทั้งนี้ถ้าไม่มีบริษัทวัดเรตติ้งก็คงไม่ได้ เพราะถ้าวัดผลไม่ได้ มันก็ขายให้คนอื่นไม่ได้”

ยึดติดแค่โทรทัศน์ไม่ได้ ออนไลน์ก็ต้องวัดด้วย

อย่างไรก็ตาม การมีผู้ให้บริการวัดเรตติ้งโทรทัศน์แค่ 2 รายอาจไม่เพียงพอในตอนนี้แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มปรับพฤติกรรมตัวเองไปรับชมสื่อผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยในประเทศไทยนั้นมีถึง 2 ใน 3 ของจำนวน Eyeball ที่หันไปชมรายการย้อนหลังบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะรายการละคร ส่วนการชมสดก็เหลือเพียงรายการกีฬาเท่านั้น ทำให้ช่องรายการต่างๆ ต้องมองเรื่องการวัดเรตติ้งการรับชมผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย เช่นการเลือกบริษัทจัดวัดเรตติ้งที่ไม่ได้วัดแค่โทรทัศน์ แต่มีการวัดช่องทางออนไลน์ให้ เพราะถ้ามีข้อมูลชัดเจน เอเยนซี่ และแบรนด์ก็พร้อมจะจ่ายเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค

สำหรับผู้ให้บริการวัดเรตติ้งโทรทัศน์ในประเทศไทยนั้นมี 2 รายคือ Nielsen กับ Kantar โดยทั้งสองรายนั้นมีเทคโนโลยีคล้ายกัน แต่หากต้องการวัดผลการรับชมบนออนไลน์ Nielsen ต้องชำระเงินเพิ่ม ส่วนทาง Kantar จะอยู่ในแพ็คเกจที่ซื้อตั้งแต่เบื้องต้นอยู่แล้ว ที่สำคัญการวัดผลการรับชมออนไลน์นั้น ต้องเอามาเชื่อมต่อกับการรับชมแบบออฟไลน์ด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และการสามารถจำหน่ายแพ็คเกจโฆษณาให้กับแบรนด์ และเอเยนซี่ต่างๆ ได้ในราคาที่ดีขึ้น เพราะการแยกกันขาย ค่าโฆษณาในฝั่งออนไลน์ก็จะมีราคาต่ำกว่าชัดเจน

สรุป

เมื่อไม่มีใครแม่น 100% การมีบริษัทจัดวัดเรตติ้งเพิ่มขึ้น ก็น่าจะเป็นอีกคำตอบของการวัดผลการรับชม เพราะแต่ละบริษัทก็มีสไตล์ในการกำหนด Sample Size ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าซื้อข้อมูลจาก 2 บริษัทวัดเรตติ้งมาใช้ ก็ต้องวางรูปแบบการขายให้ดี อย่างเช่นในฟิลิปปินส์ บริษัทวัดเรตติ้งที่นั่นแบ่งกันชัดว่า รายแรกวัดในตัวเมือง อีกรายวัดในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ทางช่องสามารถเสนอแพ็คเกจที่แม่นยำที่สุดให้กับเอเยนซี่ หรือแบรนด์ที่ต้องการโฆษณาสินค้า หรือบริการของตนเองได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา