ย้อนรอย 10 ปี Uniqlo ประเทศไทย แค่ปรัชญา LifeWear หรือไม่ที่ทำให้มีรายได้ 10,000 ล้านบาท

ในที่สุด Uniqlo ได้ทำตลาดในประเทศไทยครบ 10 ปี หลังเปิดสาขาแรกเมื่อเดือน ก.ย. 2011 แล้วช่วงเวลา 10 ปีนี้ Uniqlo ต้องเจอกับอะไร หลังจากนี้ต้องปรับกลยุทธ์หรือไม่ Brand Inside อยากชวนมาติดตามไปด้วยกัน

uniqlo

Uniqlo กับการเปิดสาขาแรกที่ เซ็นทรัลเวิลด์

การเข้ามารุกตลาดประเทศไทยของ Uniqlo เริ่มต้นเดือน ก.ย. 2011 ผ่านการเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถัดจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขยายตลาดนอกประเทศญี่ปุ่นของ Uniqlo

โยชิทาเกะ วากากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าใหัฟังว่า ผู้บริโภคในไทยให้การตอบรับการเปิดสาขาของ Uniqlo เป็นอย่างดี ทำให้บริษัทตัดสินใจขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีทั้งหมด 54 สาขาทั่วประเทศ ทั้งอยู่ในศูนย์การค้า, Standalone รวมถึงช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบ

“หลังจากนี้ Uniqlo มีแผนขยายสาขาไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่นเดิม โดยรูปแบบ และขนาดของสาขาจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับพฤติกรรม และการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในพื้นที่นั้น ๆ ยิ่งโรค COVID-19 ระบาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทำให้ Uniqlo ต้องศึกษามากขึ้น เช่น การวางแผนประเภทสินค้า เป็นต้น”

uniqlo

คงปรัชญา LiveWear เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

นับตั้งแต่ Uniqlo เริ่มต้นธุรกิจ องค์กรนี้ยึดมั่นในปรัชญา LiveWear หรือการนำความเรียบง่าย ผสานคุณภาพ และความยั่งยืน ในการออกแบบสินค้า ซึ่งในประเทศไทย Uniqlo ได้ใช้แนวคิดนี้ในการทำตลาดเช่นกัน และค่อนข้างประสบความสำเร็จจากการจำหน่ายสินค้าที่มีจุดเด่นดังกล่าว

“Uniqlo พบว่า ลูกค้าชาวไทยค่อนข้างชื่นชอบสินค้าของเรา เพราะสินค้าเหล่านั้นทำให้ผู้สวมใส่มีความสุขมากกว่าเดิม และทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เราจะยึดมั่นในปรัชญานี้ต่อไป ภายใต้ความเชื่อที่ว่าเสื้อผ้าของเรามีพลังที่จะเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้นได้”

การปรับตัวเบื้องต้นของ Uniqlo ภายใต้วิกฤต COVID-19 ทางแบรนด์เลือกทำตลาดเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับการต้องอยู่บ้าน หรือ Work from Home มากขึ้น ใกล้เคียงกับกลยุทธ์ในประเทศอื่น ๆ แต่ Uniqlo มีความพร้อมที่จะทำตลาดเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับการสวมใส่ไปทำงานเช่นเดิม

uniqlo
โยชิทาเกะ วากากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด

ไม่ใช่แบรนด์ Fast Fashion เพราะเน้นยั่งยืน

แม้ผู้บริโภค และนักวิเคราะห์จะมอง Uniqlo เป็นหนึ่งแบรนด์สินค้า Fast Fashion (คล้ายกับ Zara และ H&M) แต่ โยชิทาเกะ ไม่ได้มองอย่างนั้น เพราะเขาเชื่อว่า Uniqlo ไม่ใช่แบรนด์ Fast Fashion แต่คือแบรนด์เครื่องแต่งกายที่เน้นความยั่งยืน และสร้างฐานลูกค้าด้วยคุณภาพของสินค้า

“จุดยืนของเราไม่ใช่ Fast Fashion เพราะเราทำตามปรัชญา LiveWear ซึ่งเน้นความเรียบง่าย และสวยฝาม แต่แฝงไปด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนของตัวสินค้า ทั้งมุมการผลิต และการสวมใส่ของลูกค้า พร้อมอุทิศสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมผ่านการทำธุรกิจเช่นกัน”

ปัจจุบัน Uniqlo เป็นหนึ่งในแบรนด์สินค้าของกลุ่ม Fast Retailing ที่มียอดขายทั่วโลกราว 2.01 ล้านล้านเยน (ราว 6.1 แสนล้านบาท) ในปีปฏิทิน 2020 (สิ้นสุดเดือน ส.ค. 2020) โดย Uniqlo มีสาขากว่า 2,200 แห่ง ใน 25 ประเทศทั่วโลก

Uniqlo
ภาพจาก Shutterstock

มองดูธุรกิจอื่น ๆ สร้างการเติบโตเพิ่ม

ขณะเดียวกันแบรนด์เครื่องแต่งกายอื่น ๆ เริ่มขยายธุรกิจไปมากกว่าแค่จำหน่ายเสื้อผ้า เช่นทำร้านกาแฟ หรือร้านอาหาร ซึ่ง Uniqlo มีทำเช่นกัน แต่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น และได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ส่วนในประเทศไทย โยชิทาเกะ ขอศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน

“ในประเทศไทยอาจมี Business Model อื่น ๆ เพื่อต่อยอดทำตลาดแบรนด์ Uniqlo ในอนาคต แต่เวลานี้ทางองค์กรขอเน้นที่การจำหน่ายเครื่องแต่งกายก่อน โดยเฉพาะการขยายสาขา, การส่งมอบสินค้าให้ตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้า, การให้ความสำคัญทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงการช่วยเหลือสังคมด้วย”

อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด มียอดขายราว 10,000 ล้านบาท ลดลง 13.33% จากปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิปิดที่ 2,007 ล้านบาท ลดลง 17.22% เนื่องจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยภาพรวมตลาด Fast Fashion ในไทยมีการวิเคราะห์ว่าอยู่ราว 30,000 ล้านบาท

สรุป

Uniqlo กลายเป็นแบรนด์ขวัญใจชาวไทยได้ในเวลาอันรวดเร็ว และแม้จะผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่องค์กรก็ยังแข็งแกร่ง และครองใจลูกค้าคนไทยไว้เช่นเดิม ซึ่งต้องดูว่า 10 ปีแล้ว กลุ่ม Fast Retailing จะเอาแบรนด์อื่น ๆ เข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มหรือไม่ และจะต่อยอดความสำเร็จของ Uniqlo นี้อย่างไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา