10 ปีหลังวิกฤติการเงินทั่วโลก ปัจจัยอะไรที่อาจทำให้เกิดวิกฤติการเงินได้อีกครั้ง

Brand Inside วิเคราะห์เรื่องวิกฤติการเงินครั้งใหม่ว่าอะไรที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติครั้งนี้ หลังจากที่เราได้ผ่านพ้นวิกฤติการเงินของปี 2008 มาแล้ว 10 ปี ซึ่งนักลงทุนเริ่มค้นหาสาเหตุของวิกฤติครั้งใหม่ว่าจะเกิดจากอะไร

ภาพจาก Shutterstock

10 ปีหลังจากเหตุการณ์ Lehman Brothers ล้มก่อให้เกิดวิกฤติการเงินทั่วโลก ตลาดหุ้นตก รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกที่ปัจจุบันที่กำลังกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะครบรอบ 10 ปีไปแล้ว แต่นักลงทุนก็เริ่มมีความวิตกกังวลว่าวิกฤติการเงินครั้งใหม่กำลังอาจเกิดขึ้น

โดยก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์จาก JPMorgan ได้วิเคราะห์ถึงตัวเร่งที่จะทำให้เกิดวิกฤติไปแล้ว แล้วอะไรที่อาจเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดวิกฤติการเงินรอบใหม่ได้บ้าง?

ภาพจาก Shutterstock

ธนาคารกลางสหรัฐ

สาเหตุหลักๆ ที่นักลงทุนมีความมั่นใจอย่างมากว่าวิกฤติครั้งใหม่อาจมาจากธนาคารกลางสหรัฐ โดยเฉพาะการประกาศขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา และในปีหน้าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 1-2 ครั้ง ซึ่งเป็นแรงกดดันทำให้เกิดวิกฤติการเงินได้ เพราะว่าต้นทุนทางการเงินในการระดมทุน รวมไปถึงการทำธุรกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้นทันที

นอกจากนี้ถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องอาจสร้างผลกระทบมาที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทันที เนื่องจากธนาคารกลางเหล่านี้ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามด้วย

ภาพจาก Shutterstock

จีน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีนมีการเติบโตของเศรษฐกิจสูงมาก โดยเติบโตเฉลี่ยเกิน 6% ยกเว้นในช่วงหลังจากที่เกิดสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาอาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตได้ช้าลง จนอาจทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายของธนาคารกลางจีนเพิ่ม

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของปัญหาหนี้ในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจภายในจีน และยังรวมไปถึงหนี้ของเอกชนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงปัญหา Shadow Banking ที่กดดันเศรษฐกิจจีนด้วย ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ก็ตาม

แต่วิกฤติครั้งต่อไปเป็นไปได้ว่าจีนอาจเป็นตัวละครหลักในเรื่องนี้ได้

ภาพจาก Shutterstock

กลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets)

ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มประเทศเกิดใหม่ ประสบปัญหาเศรษฐกิจอ่อนแอ โดยเริ่มต้นจากที่บราซิล ต่อมาเราก็ได้เห็นเหตุการณ์นี้กับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อาร์เจนตินา ตุรกี รวมไปถึงเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย ที่มีปัญหาในเรื่องค่าเงินอ่อนค่า รวมไปถึงหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศโดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่าธนาคารกลางสหรัฐกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย ย่อมเป็นแรงกดดันกับประเทศเหล่านี้

ยังมีประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มที่อาจต้องจับตามองไม่ว่าจะเป็น โคลอมเบีย แอฟริกาใต้ อินเดีย เม็กซิโก โปแลนด์ ชิลี และรวมไปถึงเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ กดดันเช่น การไหลออกของเงินทุน ที่อาจเป็นตัวเร่งทำให้เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ย่ำแย่จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงินอีกรอบ

ภาพจาก Pixabay

หนี้ทั่วโลก

IMF ได้ประมาณตัวเลขหนี้เมื่อปลายปี 2017 ว่าหนี้ทั่วโลกมีมูลค่า 182 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าเมื่อก่อนเกิดวิกฤติทางการเงินเมื่อ 10 ปีที่แล้วถึง 60% โดยหนี้ของประเทศที่เป็นหัวหลักของเศรษฐกิจโลก 31 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 61% ของ GDP โลก มีหนี้รวมกันประมาณ 101 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ยังมีหนี้ของบริษัทต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา สัดส่วนหนี้ (Debt Ratios) ของบริษัทเอกชนต่างๆ ได้เพิ่มสูงขึ้นกำลังจะทำสถิติใหม่ในรอบ 30 ปี และเรื่องนี้กำลังสร้างความเป็นห่วงไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน

ความกังวลในเรื่องนี้จะเห็นได้จากการประชุมล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ประชุมที่ประเทศอินโดนีเซียในสัปดาห์นี้ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้นว่ารัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องเริ่มทำความเข้าใจเรื่องหนี้และจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ภาพจาก Pixabay

ยังมีปัจจัยอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดวิกฤติครั้งต่อไปได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น

  • ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอีกครั้ง
  • สงครามการค้า
  • Brexit

อย่างไรก็ดีปัจจัยที่กล่าวมาอาจไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของวิกฤติก็เป็นได้ แต่ความเป็นไปได้ของปัจจัยเหล่านี้ที่จะเป็นตัวละครเสริมของวิกฤติครั้งต่อไปถือว่ามีสูงมากเลยทีเดียว

ที่มาAsahi Shimbun, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ