ย้ายประเทศกันไหม รู้จัก 10 ประเทศที่ย้ายไปทำงานแล้วแฮปปี้ ผลสำรวจจากคนไปอยู่จริงทั่วโลก

ตอนนี้ การ #ย้ายประเทศ กำลังเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่คนที่อยากจะแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในต่างแดน หลังจากมีการตั้งสร้างกลุ่มย้ายประเทศใน Facebook เพื่อแชร์ประสบการณ์ สอบถามข้อมูล ให้คำแนะนำ ไปจนถึงการแบ่งปันความช่วยเหลือ

10 best countries for expats
สำหรับคนที่อยากย้ายประเทศแต่ยังไม่มีตัวเลือกในใจ เราจะพาไปรู้จัก 10 ประเทศ ที่คนต่างชาติย้ายไปทำงานแล้วแฮปปี้มากที่สุดในปี 2021 จากผลสำรวจของ InterNations เครือข่ายคนทำงานต่างประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาอีกหลายๆ มิติ ช่วยในการตัดสินใจสำหรับการเลือกจุดหมายปลายทาง

ผลสำรวจ Expat Insider 2021 คือรายงานจากการสอบถามคนที่ย้ายไปทำงานต่างประเทศ (expat) ทั่วโลก ว่าพึงพอใจหรือไม่ใน 4 ด้าน (โดยในแต่ละหมวดก็มีคำถามแยกย่อยลงไปอีก) คือ

  • คุณภาพชีวิต
  • ความง่ายในการปรับตัว
  • การเงิน
  • ชีวิตการทำงาน
internations 2021 best country for expat
capture from InterNations’ Expat Insider Survey 2021

ในปีนี้ 10 ประเทศ ที่ผู้คนมองว่าดีที่สุดในการย้ายไปทำงาน ได้แก่

  1. ไต้หวัน
  2. เม็กซิโก
  3. คอสตาริกา
  4. มาเลเซีย
  5. โปรตุเกส
  6. นิวซีแลนด์
  7. ออสเตรเลีย
  8. เอกวาดอร์
  9. แคนาดา 
  10. เวียดนาม

หลายประเทศในการจัดอันดับคือปลายทางในฝันสำหรับใครหลายคนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย หรือ แคนาดา แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ติดโผเข้ามาอย่างเกินคาดไม่ว่าจะเป็นประเทศจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ สองประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไปจนถึงประเทศนอกกระแสจากฝั่งยุโรป

แล้วทำไมประเทศเหล่านี้ถึงแฮปปี้สำหรับชาวต่างชาติที่ย้ายไปทำงานทั่วโลก?

ไต้หวันคือสถานที่ที่ดีต่อใจคนย้ายประเทศอันดับ 1 สามปีซ้อน

ไต้หวัน Taipei 101 Tower
ภาพจาก Unsplash

เราทราบกันดีว่าไต้หวันเป็นที่เมืองที่ดี เป็นที่ที่น่าอยู่ แต่ก็แทบไม่คาดคิดว่าจะเป็นอันดับ 1

ไต้หวันมีกลิ่นอายความเป็นเอเชียและความเป็นสากลผสมผสานกันอย่างกลมกล่อมลงตัว อาหารการกิน วัฒนธรรม ค่าครองชีพ และนิสัยใจคอไม่ได้แตกต่างไปจากเรามากนัก น่าจะเป็นตัวเลือกที่พอเหมาะพอเจาะกับคนไทย 

คนที่ย้ายไปทำงานที่ไต้หวันพึงพอใจกับเรื่องงานอย่างมาก 83% ของคนที่ย้ายไปไต้หวันบอกว่าการงานที่นั่นมั่นคง (ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 61%) แถม 85% ยังยืนยันอีกว่าเศรษฐกิจไต้หวันดี (ค่าเฉลี่ย 62%) ซึ่งทำให้หน้าที่การงาน ความเป็นอยู่ และความสุข เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว  

ที่สำคัญ ความเป็นอยู่ในไต้หวันดีมาก 96% มองบริการด้านสาธารณสุขของไต้หวันในแง่บวก ซึ่งไม่ใช่แค่ดี เพราะ 94% บอกว่าราคาเข้าถึงได้อีกด้วย เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 61% เท่านั้น 

คนที่ย้ายมาจากแคนาดาท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า อยู่ไต้หวันแล้วไปไหนมาไหนแทบไม่ต้องพึ่งพาใคร เพราะรู้สึกปลอดภัยทุกที่ (0% รู้สึกว่าไต้หวันไม่ปลอดภัย) และเดินทางได้สะดวกมากๆ

ประเทศจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้คือม้ามืดตัวจริง

คลังภาพถ่ายฟรี ของ กลางวัน, การบริหารงาน, คน

เม็กซิโก คอสตาริกา และเอกวาดอร์ คือ 3 ประเทศที่ไม่มีใครคาดคิดในการจัดอันดับครั้งนี้ สิ่งที่ทำให้ทั้งสามประเทศพาเหรดกันเข้ามาติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่น่าย้ายไปทำงานคือ ความเป็นมิตรของผู้คน ความง่ายในการปรับตัว ชีวิตทางสังคม วัฒนธรรมที่สนุกสนาน ไปจนถึงค่าครองชีพที่ไม่สูงนัก

ผู้ร่วมการสำรวจจากสหรัฐท่านหนึ่งบอกว่า เขารักวัฒนธรรมและความเป็นมิตรของคนที่นี่ คน 85% บอกว่าการปรับตัวในเม็กซิโกง่ายมาก (อันดับที่ 1 ของโลก) ส่วนคอสตาริกาและเอกวาดอร์ก็ตามมาไม่ห่างนัก อยู่อันดับ 3 และ 10

คนที่มาทำงานแถบนี้พบว่าสถานการณ์ทางการเงินน่าพอใจ ค่าบ้านไม่แพง รายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่างเพียงพอ ความพึงพอใจทางการเงินของของคนที่ย้ายไปเม็กซิโก เอกวาดอร์ และคอสตาริกา อยู่ในอันดับ 2 5 และ 7

ข้อสังเกตุคือ คุณภาพชีวิตของประเทศในแถบนี้ไม่เลิศหรูสักเท่าไหร่ เรียกได้ว่าอยู่ในระดับกลางค่อนท้ายของการจัดอันดับ ทั้งในแง่คุณภาพของสิ่งแวดล้อม ความพร้อมของสาธารณูปโภคพื้นฐาน ความสะดวกในการเดินทาง ความพร้อมของระบบขนส่งสาธารณะ ไปจนถึงความปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ยังเป็นรองประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

เพื่อนบ้านของไทยก็ติดอันดับขวัญใจคนต่างชาติที่ย้ายไปทำงาน

บรรยากาศเวียดนาม ภาพจาก Pixabay

มาเลเซีย และ เวียดนาม อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มอเมริกากลางและใต้ที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้ จึงมีลักษณะต่างๆ ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือ คนเป็นมิตร ชีวิตสนุก ค่าครองชีพถูก แต่โครงสร้างพื้นฐานไม่ดี คุณภาพชีวิตในภาพรวมจึงไม่ได้โดดเด่นนัก 

แต่ที่น่าจับตามองต่อไปคือประเทศเวียดนามที่เศรษฐกิจเติบโตเอามากๆ แบบไม่เกรงอกเกรงใจโควิด-19 ไม่แน่ว่าต่อไป เวียดนามอาจจะมีงบประมาณสร้างโครงสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนมากขึ้นกว่านี้

โปรตุเกส หนึ่งเดียวจากยุโรปที่ติดอันดับ

Lisbon Top City
Photo by Louis Droege on Unsplash

สิ่งที่น่าจะพลิกความคาดหมายมากที่สุดของการจัดอันดับคือ ประเทศยุโรปที่เป็นปลายทางในฝันของหลายคน เช่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ไปจนถึงกลุ่มประเทศนอร์ดิกไม่ติดอันดับ 1 ใน 10 ในทางกลับกัน ประเทศหนึ่งเดียวที่ติดโผคือ โปรตุเกส ประเทศที่ในทางเศรษฐกิจดูจะเป็นรองประเทศอื่นที่ได้กล่าวมา

โปรตุเกสคือประเทศที่คนที่ย้ายมาทำงาน 84% ลงความเห็นว่ามีความสุขกับชีวิตโดยรวม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโลก ทั้งนี้เป็นเพราะโปรตุเกสมีอากาศอบอุ่นตลอดปี มีกิจกรรมให้ทำมากมาย วัฒนธรรมขึ้นชื่อ อาหารหลากหลาย ประเทศสวยงาม คนเป็นมิตรทำให้มีชีวิตทางสังคมที่ดี ผู้คนที่ย้ายไปอยู่จึงรู้สึกว่าโปรตุเกสเหมือนบ้าน

แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ โปรตุเกสมีเศรษฐกิจเป็นรองประเทศอื่นๆ ในยุโรป จึงมีสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ดีเทียบเท่า

กลุ่มประเทศคลาสสิคของการย้ายประเทศยังคงติดโผ

Australia

ถ้าพูดถึงการไปทำงานต่างประเทศ เชื่อว่าไม่มีทางที่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และแคนาดา จะหลุดโผไปได้ เพราะนี่คือดินแดนที่มีผู้คนจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้าไปทำงาน เป็นปลายทางในฝันของใครหลายๆ คน

ทั้งสามประเทศคือประเทศที่พัฒนาแล้ว มีโอกาสในชีวิตการทำงานรวมไปถึงความมั่นคงด้านอาชีพที่สูงอยู่ในระดับต้นๆ ที่สำคัญคือมีเศรษฐกิจแข็งแรง

นอกจากเรื่องงาน ผู้ที่ย้ายไปทำงานยังระบุว่าคุณภาพชีวิตของตนดีมาก เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ตอบโจทย์ความต้องการ มีสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ มีกิจกรรมให้ทำหลากหลายไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมกลางแจ้งหรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมในประเทศที่ผู้คนเปิดกว้างต่อชาวต่างชาติ

แต่ปัญหาสุดคลาสสิคสำหรับประเทศที่ผู้คนทั่วโลกหลั่งเข้าไปหาโอกาสคือสถานการณ์ทางการเงิน ในออสเตรเลีย 63% พึงพอใจการเงินของตน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 64% ส่วนค่าที่อยู่อาศัยก็แพงในระดับต้นๆ ส่วนในแคนาดา 1 ใน 3 บอกว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ 

ส่งท้าย

เน้นย้ำว่าผลสำรวจเป็นเพียงหนึ่งในข้อมูลอีกหลายๆ มิติที่ควรพิจารณาในการย้ายประเทศเท่านั้น เพราะนี้คือผลสำรวจที่กำหนดเกณฑ์ของ ‘ความน่าอยู่’ เอาไว้รูปแบบหนึ่ง ยังมีข้อมูลอีกหลายมิติมากที่จำเป็นต้องพิจารณาเพื่อเฟ้นหาประเทศน่าอยู่ในสายตาแต่ละบุคคล

[ดูผลสำรวจอื่นของ InterNations ได้ที่]

ที่มา – CNBC, InterNations (รายงานผลสำรวจฉบับเต็ม)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา