ทำไม 6 ธนาคารต้องพร้อมใจลดดอกเบี้ยเงินกู้ แล้วดอกเบี้ยเงินฝากจะลดลงไหม​?

หลายคนยิ้มกริ่มเมื่อหลายธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125-0.25% แต่แบงก์ไหนลดบ้าง แล้วดอกเบี้ยเงินฝากจะลดลงตามดอกเบี้ยเงินกู้ไหม?

ทำไมธนาคารต้องพร้อมใจกันปรับขึ้นหรือลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้?

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2019 ผ่านมา 1 สัปดาห์ มี 5 ธนาคารที่ประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ภายในวันเดียวกัน (ธนาคารออมสินประกาศวันถัดมา)

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะต้นปี 2019 ที่ผ่านมา ธนาคารขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หลังจากที่ธปท. ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเดือนธ.ค. 2018 ครั้งนั้นผู้บริหารจากธนาคารขนาดใหญ่ยังบอกว่าจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยสนับสนุนประชาชนในช่วงเศรษฐกิจไม่ค่อยดี

ดังนั้นสาเหตุใหญ่ที่ธนาคารต่างพร้อมใจกันปรับขึ้น หรือปรับลงอัตราดอกเบี้ยส่วนหนึ่งอาจมาจากการทำเพื่อแสดงจุดยืนที่สอดคล้องไปกับธปท. โดยส่วนใหญ่การปรับลด หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระบบที่ผ่านมา มักจะเกิดจากการขยับของธนาคารขนาดใหญ่ และส่งต่อไปสู่ธนาคารขนาดลดหลั่นลงมา

ทั้งนี้จากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารจึงไม่จำเป็นว่า ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยแล้วธนาคารพาณิชย์ต้องปรับลดตามทันที่ ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องและปัจจัยเฉพาะของธนาคารนั้นๆ ด้วย แต่หากมีธนาคารใหญ่หนึ่งแห่งเริ่มลดหรือปรับขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารขนาดใหญ่เจ้าอื่นจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากตามๆ กันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้า

อย่างไรก็ตามการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นผลดีต่อประชาชน เพราะภาระการผ่อนชำระหนี้ลดลงบางส่วน ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อรายได้ธนาคารลดลง ยิ่งธนาคารไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามไปด้วย อาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ ราคาหุ้นของธนาคารในตลาดหุ้นไทย (15 ส.ค. 2019) ปรับตัวลดลง

ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนกังวลว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่เป็นรายได้ของธุรกิจธนาคารจะลดลง ขณะเดียวกันผลประกอบการของธุรกิจธนาคารในช่วงไตรมาส 2/2019 สินเชื่อยังเติบโตชะลอตัว เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่โตช้าลง

ภาพจาก Shutterstock

5 แบงก์พาเหรดลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR MRR หวังเอาใจแบงก์ชาติ-ประชาชน

อย่างแรกมาทำความเข้าใจว่า ดอกเบี้ยของธนาคารมี 2 ขา คือ ดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ คือ ดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ เหมือนสินเชื่อเช่าซื้อที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว ที่ธนาคารจะเลือกประกาศใช้ในแต่ละครั้ง เช่น

  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเกินบัญชี (MOR)
  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เช่น สินเชื่อบ้าน
  • อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทสำหรับเงินกู้ระยะยาว (MLR)

ธนาคารพาณิชย์รวม 4 แห่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในวันเดียวกัน ทั้งอัตราดอกเบี้ย MOR และ MRR โดยทั้ง 4 แห่งจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 15 ส.ค. 2019  ได้แก่

  • ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR ลง 0.25% เหลือ 6.87%
  • ธนาคารกรุงไทย (KTB) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR ลง 0.25% เหลือ 6.87%
  • ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR ลง 0.25% เหลือ 6.87%
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่ละประเภทไม่เท่ากัน โดยอัตราดอกเบี้ย MRR ปรับลดลง 0.25% มาอยู่ที่ 7.12%  ส่วนอัตราดอกเบี้ย MOR ลดลง 0.125% มาอยู่ที่ 6.745%

ส่วนแบงก์รัฐ อย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศตอน 23.32น. วันเดียวกันโดยลดอัตราดอกเบี้ยทั้ง 3 ประเภท 0.125% โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 16 ส.ค. 2019 ได้แก่

  • อัตราดอกเบี้ย MLR จากเดิมที่อยู่ 6.250% ปรับลดลงเหลือ 6.125%
  • อัตราดอกเบี้ย MOR จากเดิมที่อยู่ 7.000% ปรับลดลงเหลือ 6.875%
  • อัตราดอกเบี้ย MRR จากเดิมที่อยู่ 6.750% ปรับลดลงเหลือ 6.625%

ล่าสุดทางธนาคารออมสิน ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง MRR และ MOR ลง 0.13% โดยมีผลบังคับใช้ 16 ส.ค. 2019 นี้ดอกเบี้ยทั้ง 2 ประเภทลดลงมาอยู่ที่ 6.87%

สรุป

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาธนาคารมีการปรับอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดอกเบี้ยแบบลอยตัวที่เกิดมาเพื่อให้ธนาคารปรับตัวตามสภาวะตลาดได้ทัน อย่างไรก็ตามการปรับขึ้น หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ อาจเป็นสิ่งที่ธนาคารใช้แสดงจุดยืนต่อผู้กำกับอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์ที่อาจจะเข้าถึงประชาชนได้เร็วและมากที่สุดด้วย (ครั้งนี้คาดการณ์ว่าหลายธนาคารไม่ลดดอกเบี้ยเงินฝากลง)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา