“การส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง ต้องไม่ใช่ One Size Fits All” – พาไปดูข้อเสนอแนวทางส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรองจากภาคเอกชน

อย่างที่เราทราบว่าหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทยคือการท่องเที่ยว โดยในช่วงก่อนโควิด รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 10-20% ของ GDP ประเทศหรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 2 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

แม้รายได้จากการท่องเที่ยวจะดูสูง แต่ในความเป็นจริง การท่องเที่ยวไทยเกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ นักท่องเที่ยวและรายได้กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่เมือง โดยกว่า 88% ของเม็ดเงินข้างต้น กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ เพียง 15 จังหวัดเท่านั้น เช่น กรุงเทพและปริมณฑล, ชลบุรี, เชียงใหม่, ภูเก็ต หรือสุราษฎร์ธานี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง แต่มักจะเป็นยุทธศาสตร์ในภาพใหญ่ ที่ใช้รวมกันทั้งกลุ่ม 55 จังหวัดเมืองรอง ทว่าในความเป็นจริง ยุทธศาสตร์สำหรับการใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ควรแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องของ ศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ไปจนถึงบริบทของการเดินทางด้วย

mobility data

dtac ได้ร่วมมือกับ คณะสถาปัจตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บุญมีแล็บและคณะกรรมาธิการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) นำมาข้อมูล Mobility Data ที่เป็นข้อมูลเชิงพฤติกรรม มาศึกษาวิจัยเพื่อนำเสนอแนวทางและยุทธศาสตร์สำหรับการออกแบบนโยบายด้านการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยเป็นชุดข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 – ตุลาคม 2564

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผศ. ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่าทางทีมวิจัยได้ทำดัชนีชี้วัดศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเมืองรอง ออกมา 3 ตัวชี้วัดคือ ศักยภาพการท่องเที่ยวแบบไปกลับ, ศักยภาพสำหรับค้างคืน และศักยภาพการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (cluster) ทำให้พบว่าเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด ไม่ได้มีศักยภาพเหมือนกัน แต่ละจังหวัดมีศักยภาพเฉพาะตัว ดังนั้นในเชิงนโยบาย จึงไม่ควรเป็นแบบ “One size fit all” 

ดังนั้นทางทีมจึงออกข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองออกมาเป็น 3 แนวทาง

การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Micro Tourism 

Micro Tourism คือการดึงดูดการท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ ระยะทางประมาณ 150 กม. ใช้เวลาเดินทางราว 1-2 ชม. เพื่อมาร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้รวมถึงบริโภคสินค้าและบริการของท้องถิ่น ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งในกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยเกษียณอายุ

การพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ทำได้โดยการผลักดันให้เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยร่วมกันพัฒนากิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตผลผลิตและสินค้าของท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ เปิดโอกาสให้เกิดการบริโภคสินค้าและบริการที่เกิดจากทรัพยากรในพื้นที่  และสร้างรายได้เสริมจากท่องเที่ยวให้กับเกษตรกรและผู้ผลิต

mobility data
coutersy of Shutterstock

โดยจังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ Micro tourism อย่างโดดเด่นมีจำนวน 16 จังหวัดประกอบด้วยจังหวัดนครศรีธรรมราช เชียงราย นครพนม ลำพูน นครนายก ระนอง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน พัทลุง ราชบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคราม สุพรรณบุรี และชุมพรตามลำดับ

การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ (Experience-based overnight tourism)

การท่องเที่ยวแบบค้างคืนเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายและเวลาพำนักของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวและเพิ่มโอกาสในการบริโภคสินค้าและบริการในท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการและชุมชน

ทีมวิจัยพบว่ามี 21 จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพสูงในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ได้แก่ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ เชียงราย อุบลราชธานี พิษณุโลก ชุมพร จันทบุรี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เลย ตราด น่าน นครสวรรค์ อุดรธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคราม สตูล ตรัง และชัยภูมิ ตามลำดับ

การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster)

เป็นแนวคิดการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดเมืองรองที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางไปเยือนในการเดินทางท่องเที่ยว 1 ทริป เพื่อเพิ่มทางเลือกในเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวให้กับผู้มาเยือน การพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดอาจดำเนินการได้โดยการสร้างเรื่องราว (Storytelling) เชื่อมโยงสถานที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด การจัดโปรโมชั่นส่วนลดที่พักและร้านอาหารในกลุ่มจังหวัด เป็นต้น

ทีมวิจัยพบว่าการจับกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีเมืองรองเป็นสมาชิกสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ประกอบด้วย19 กลุ่มจังหวัด ได้แก่

1. กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีจังหวัดเมืองรองร่วมอยู่ด้วย แต่สมาชิกในกลุ่มโดยส่วนใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ประกอบด้วย 9 กลุ่มจังหวัด

2. กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกโดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดเมืองรองอยู่ร่วมกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ประกอบด้วย 4 กลุ่มจังหวัด

3. กลุ่มเพื่อนเมืองรอง เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นจังหวัดเมืองรอง ประกอบด้วย 5 กลุ่มจังหวัด

4. กลุ่มเมืองฝาแฝด เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเพียง 2 จังหวัด มีจำนวน 1 คู่

https://dtacblog.co/wp-content/uploads/2022/09/cluster_03-1024×1024.jpg

ทาง dtac ระบุว่าเตรียมจะเปิดชุดข้อมูลข้างต้นนี้เป็น Open Data และพร้อมร่วมมือกับภาครัฐ ที่มีความต้องการและแผนงานที่จะนำชุดข้อมูลเหล่านี้ไปใช้จริง รวมถึงจะเปิดเป็น interactive dashboard ให้ชมในช่วงเดือนตุลาคมนี้ด้วย

ทั้งนี้ข้อมูล Mobility Data เป็นการอาศัยข้อมูลการเคลื่อนที่จากการเกาะเสาสัญญาณมือถือ (cell site) ซึ่งกระบวนการเก็บและใช้ข้อมูลเป็นไปตาม PDPA ขณะที่ข้อมูลชุดดังกล่าวเป็นลักษณะการท่องเที่ยวในช่วงการระบาดของโควิด ซึ่งพบว่า เป็นการเดินทางพักค้างคืน 67% และไปเช้าเย็นกลับ 33% โดยการค้างคืน ก็มักจะเป็นการกระจุกตัวในช่วงวันหยุดยาวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ระบุว่าระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 วัน

หากสนใจสามารถอ่านรายละเอียดข้อเสนอเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dtac.co.th/mobility-data/

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา