“ผมไม่เล็กนะครับ” รัฐบาลซิมบับเว ออกมาติโรงงานจีน ผลิตถุงยางไซส์เล็กเกินไป ใส่ไม่ได้

ซิมบับเวเป็นประเทศที่ประชากรติดเชื้อ HIV สูงติดอันดับโลก แต่ในประเทศไม่มีโรงงานผลิตถุงยางเป็นของตนเอง จึงต้องนำเข้าจากจีน ปัญหาคือ ถุงยางจีนไซส์เล็กเกิน ประชากรใส่ไม่ได้ เลยอยากให้โรงงานจีนผลิตถุงยางที่มีไซส์หลากหลายมากกว่านี้

Condom ถุงยาง จีน
Photo: Shutterstock

“ผมไม่เล็กนะครับ” จีนผลิตถุงยางไซส์เล็กเกินไป ชาวซิมบับเวใส่ไม่ได้

ในปัจจุบัน รัฐบาลซิมบับเวกำลังรณรงค์เรื่องการใส่ถุงยางขณะมีเพศสัมพันธ์ให้กับประชากรอย่างเข้นข้น เพราะซิมบับเวเป็นประเทศที่มีประชากรติดเชื้อไวรัส HIV กว่า 1.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 13.5% ของประชากรทั้งประเทศ

แต่ประเด็นคือ ในซิมบับเวไม่มีโรงงานผลิตถุงยาง จึงต้องนำเข้ามาจากจีน แต่แล้วก็เกิดปัญหาทางเทคนิค เพราะหลายคนบ่นว่าถุงยางที่ผลิตจากจีนมีไซส์เล็กเกินไป

เรื่องร้อนไปถึง David Parirenyatwa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของซิมบับเว ที่ต้องออกมาตัดพ้อโดยตรงไปถึงโรงงานผลิตถุงยางจีนว่า ผลิตถุงยางไซส์เล็กเกินไป ประชากรชาวซิมบับเวใส่ไม่ได้ อยากให้ผลิตไซส์ที่หลากหลายมากกว่านี้

ตัวอย่างประชากรชาวซิมบับเว
ตัวอย่างประชากรชาวซิมบับเว Photo: Shutterstock

โรงงานผลิตถุงยางจีนยอมรับ ขอแก้ตัว จะผลิตไซส์ที่หลากหลายมากกว่านี้

ด้านโรงงานจีนยอมรับว่าผลิตถุงยางไซส์เล็กเกินไปจริงๆ

Zhao Chuan ผู้บริหารของ Daxiang บริษัทผลิตถุงยางจีน บอกว่า ได้รับคำเตือนจากกระทรวงสาธารณสุขซิมบับเวแล้ว โดยหลังจากนี้ทางบริษัทจะทำการสำรวจตลาด เพื่อส่งถุงยางที่มีไซส์หลากหลายและเหมาะกับชายชาวซิมบับเวมากกว่านี้

ผู้บริหารบริษัทถุงยางจีน ยังบอกด้วยว่า ลูกค้าแต่ละประเทศมีความต้องการถุงยางที่ต่างกันไป เช่น ผู้บริโภคชาวจีนมักจะไม่สนใจว่าไซส์ของถุงยางจะมีขนาดเท่าไหร่ แต่ขอให้เนื้อสัมผัสของถุงยางบางไว้ก่อน หรือผู้บริโภคในโซนอเมริกาเหนือมักจะชอบถุงยางที่มีเนื้อสัมผัสนุ่มๆ

อย่างไรก็ตาม จีนเป็นประเทศที่ผลิตถุงยางมากที่สุดในโลก มีประมาณ 300 โรงงานทั่วประเทศ ผลิตถุงยางส่งขายทั่วโลกกว่า 3,000 ล้านชิ้นต่อปี

สรุป

รัฐบาลซิมบับเว ออกโรงเตือนบริษัทผลิตถุงยางจีนว่า ผลิตถุงยางไซส์เล็กเกินไป ไม่เหมาะกับประชากร ด้านบริษัทจีนยอมรับ พร้อมบอกว่าจะทำการสำรวจตลาดให้ดีกว่านี้ เพื่อส่งผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคนซิมบับเว

ถือเป็นบทเรียนในการทำธุรกิจต่างถิ่นต่างแดนชั้นดีว่า ต้องศึกษาข้อมูลของคนในท้องถิ่นให้ดีจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะประสบปัญหาลักษณะนี้ได้

ที่มา – South China Mornig Post, Avert

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา