ZEN ควบรวมตำมั่ว ในวันที่ห้างสโลว์ ต้องโกแฟรนไชส์ เล็งขยายให้อินเตอร์

สัญญาณของห้างสรรพสินค้าที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งยอดการซื้อขายและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ZEN ควบรวมแบรนด์อาหารอีสาน “ตำมั่ว” รุกธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์ หวังขยายไปสู่ตลาดโลก

โตมาในห้าง จึงต้องขยาย ไม่งั้นอยู่ยาก

ด้วยสภาวะที่ห้างสรรพสินค้าอยู่ยาก นับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก สรรคนนท์ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด บอกว่า “ZEN กับตำมั่วได้ควบรวมกิจการมาตั้งแต่ปลายที่ผ่านมาแล้ว แต่เพียงปีนี้จะมีการขยายเพิ่มขึ้นอีกทั้งในและต่างประเทศ”

โดยรวมแล้ว ZEN มีแบรนด์ที่อยู่ภายใต้การดูแลถึง 12 แบรนด์ ได้แก่ แนวอาหารญี่ปุ่น ZEN, ZEN Sushi, AKA, TETSU, On The Table, Carnival และแนวอาหารไทย/อีสานคือ ตำมั่ว, ลาวญวณ, แจ่วฮ้อน, เฝอ, ข้าวมันไก่คุณย่า และครัวไทย by ตำมั่ว

แต่ด้วยความที่แบรนด์อาหารภายใต้ ZEN ทั้งหมดนี้เติบโตมาในห้างสรรพสินค้า แต่อย่างที่ทราบกันว่า ในสภาวะปัจจุบันที่ห้างมีแนวโน้มที่เติบโตช้า จึงทำให้รูปแบบร้านอาหารที่ ZEN จะบุกต่อจึงต้องมาในแนว “แฟรนไชส์” ที่เน้นการขยายออกไปในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในห้างและนอกห้างจึงจะอยู่ได้

ซ้าย-สรรคนนท์ จิราธิวัฒน์ ขวา-ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท

ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ หัวหน้ากลุ่มบริหารธุรกิจอาหารไทย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด และผู้ดูแลเชนร้านตำมั่วโดยตรง บอกว่า การมาร่วมจับมือกับกลุ่ม ZEN เป็นเรื่องดี เพราะตอนนี้ตำมั่วมีสาขาทั้งหมดอยู่กว่า 100 สาขา โดยรวมทั้งในไทย และประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า กัมพูชา และลาว ในปีนี้ด้วยความแข็งแกร่งในการควบรวมจะทำให้ตำมั่ววางแผนขยายสาขาให้มีถึง 170 สาขา และจะบุกไปประเทศใหม่ๆ อย่างเช่น มาเลเซีย และออสเตรเลีย

สำหรับตำมั่วที่เป็นร้านอาหารอีสานที่เน้นความแซ่บของอาหาร ผู้บริการมองว่าต้องทานที่ร้าน ปีนี้เลยจะขยายสาขาไปอีก 45 สาขา แต่ทั้งนี้ด้วยกลยุทธ์ของธุรกิจในปัจจุบันจะไม่เน้นไปที่การขยายสาขาเท่ากับการขยายช่องทางการขาย เช่น จะขยับไปทำการขายแบบเดลิเวอรี่ และการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น

จุดเด่นคือแบรนด์ทั้งหมดเป็นของ ZEN เอง ขยายแฟรนไชส์ไม่ใช่เรื่องยาก

ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด บอกว่า “ปกติในไทย เรามักจะซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศมา แต่วันนี้กลุ่ม ZEN มีแบรนด์อาหารเป็นของตัวเอง เป็นแบรนด์ของคนไทย แล้วทำไมเราจะไม่ขยายให้แฟรนไชส์ของไทยออกไปสู่ตลาดต่างประเทศบ้าง”

ในปี 2016 แบรนด์อาหารของ ZEN มีสาขาที่ ZEN ดูแลเองนับรวมทุกแบรนด์ทั้งหมด 88 แห่ง ที่เป็นแฟรนไชส์ในประเทศอีก 114 แห่ง ส่วนต่างประเทศมี 6 แห่ง ส่วนในปี 2017 จะขยายให้เป็นร้านที่ ZEN ดูแลเอง 105 แห่ง ส่วนที่เป็นแฟรนไชส์ในประเทศจะเป็น 159 แห่ง และต่างประเทศอีก 10 แห่ง

แฟรนไชส์ตำมั่ว ราคา 8 แสนบาท (ราคานี้ยังไม่รวมค่าร้านค้า)

แม้จะมีแบรนด์อยู่ในมือกว่า 12 แบรนด์ แต่แบรนด์ที่พร้อมขยายก่อนคือ “ตำมั่ว” โดยจะเน้นให้เป็นแบรนด์เรือธงหลักในการขยายแฟรนไชส์ โดยราคาแฟรนไชส์ของตำมั่วคือ 8 แสนบาท เป็นสัญญา 5 ปี แต่ราคานี้ยังไม่รวมค่าร้านที่การก่อสร้างโดยปกติน่าจะอยู่ที่ไซส์ประมาณ 120 ตารางเมตรต่อ 1 ร้านค้า ส่วนราคาจะตกที่ประมาณ 6 ล้านบาท

ส่วนแบรนด์ตัวอื่นที่ ZEN มองว่ามีศักยภาพในการที่จะเติบโตไปทำแฟรนไชส์ได้ในอนาคตคือ On The Table ที่เป็นอาหารตะวันตกรสชาติจัดจ้านแบบไทย และ AKA แบรนด์ปิ้งย่าง แต่ ZEN แค่วางแผนไว้ ยังไม่มีรายละเอียดในส่วนนี้ เพียงแต่ได้เปรยถึงราคาเบื้องต้นเอาไว้ว่า ค่าแฟรนไชส์ 2 แบรนด์นี้น่าจะอยู่ที่ 1.2 ล้านบาท

เป้าหมายไกลระดับโลก ต้องโตปีละ 20% พอร์ตในอนาคตเน้นแฟรนไชส์

กลับมาที่ตำมั่วกันต่อ ZEN บอกว่า แม้ว่าโดยปกติจะมียอดการเติบโตอยู่ที่ปีละ 10% อย่างปีที่แล้วโตขึ้น 12% แต่หลังจากการควบรวมและส่งแฟรนไชส์ในปีนี้จะทำให้ยอดการเติบโตพุ่งไปอยู่ที่ 20% และมั่นใจว่าจะเป็นไปในอัตรานี้ในอีก 5 ปีหลังจากนี้ด้วย และเมื่อไปในแนวทางนี้จะทำให้สัดส่วนของ ZEN ในอนาคตจะเน้นไปที่การขายแฟรนไชส์มากกว่าการลงมาทำร้านอาหารด้วยตนเอง

รายละเอียดเต็มๆ จะไปปรากฏในงาน THAIFEX 2017

ZEN บอกว่า รายละเอียดของธุรกิจและการขยายแฟรนไชส์ของตำมั่ว ผู้ที่สนใจสามารถไปเยี่ยมชมบูธร้านอาหารตำมั่วและร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป ณ งาน THAIFEX ได้ที่บูธ IM6-LL31 อาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์  ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานีระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2560

สรุป

การปรับตัวของเชนร้านอาหาร ZEN น่าสนใจ เพราะไปควบรวมกับแบรนด์ตำมั่วที่โดดเด่นในการขยายสาขาหรือแฟรนไชส์อยู่แล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของการปรับตัวให้เข้าไปกับยุคสมัยที่ห้างสรรพสินค้าไม่ได้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเหมือนในอดีตแล้ว

ต้องติดตามกันต่อไปว่า “ตำมั่ว” จะขยายแขนขาออกไปได้ไกลเท่าไหร่ เพราะว่าไม่ได้มองแค่ในประเทศ แต่เป็นระดับภูมิภาค และในระดับโลก ถือเป็นแบรนด์อาหารไทยที่มีทั้งเงินทุนและกลยุทธ์ที่น่าจะโกอินเตอร์ได้ไม่ยาก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา