เป็นกระแสเขย่าธุรกิจร้านอาหาร หลังจาก Zen Group ประกาศร่วมทุนกับบริษัท เค.เอส.เอฟ. ฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรุงรสและน้ำปลาร้ารายใหญ่ จังหวัดมหาสารคาม ที่มีมาตรฐานของประเทศไทย เมื่อพูดถึง เซ็น กรุ๊ป เป็นธุรกิจที่เติบโตมาจากน่านน้ำของธุรกิจอาหารมาโดยตลอดระยะกว่า 30 ปี
หากมองถึงเหตุผล ZEN Group เข้าร่วมทุนกับบริษัท เค.เอส.เอฟ. ฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด (ZEN and Kosum Interfoods Co.,Ltd) โดยเซ็นกรุ๊ป ถือหุ้น 51% ผ่านบริษัท เซ็น แอนด์ สไปซี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และ เค.เอส.เอฟ.ฟูดส์ โปรดักส์ ถือหุ้น 49% เบื้องลึกของการขับเคลื่อนในครั้งนี้มีด้วยกัน 7 ยุทธศาสตร์
1. มุ่งสร้างธุรกิจรีเทลเสริมความแกร่ง
เมื่อมามองถึงโครงสร้างทางด้านรายได้ของ ‘เซ็น กรุ๊ป‘ มีด้วยกัน 4 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร มีทั้งหมด 12 แบรนด์ ถือว่าเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้สัดส่วน 82.4% ธุรกิจเดลิเวอรี่และบริการจัดเลี้ยง 9.6% ธุรกิจแฟรนไชส์และการขายวัตถุดิบ 5.8% ในขณะที่ธุรกิจรีเทลมีสัดส่วนรายได้เพียง 2.2% เท่านั้น แต่กลับมีการเติบโต 76.4% เมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีน้ำปลาร้าตำมั่วเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้เป็นหลัก
โอกาสการเติบโตในธุรกิจรีเทล ในฐานะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรุงรส ยังมีช่องว่างอีกมาก เพราะด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในขณะนี้ที่หันมาปรุงอาหารทำเองกินในครัวเรือนมากขึ้น และคนรุ่นใหม่มองหาผลิตภัณฑ์คู่ครัวที่ตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบาย โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสในระดับพรีเมี่ยมเพื่อสุขภาพถือว่ายังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก ยังไม่รวมถึงการเป็นผู้รับจ้างผลิตให้ป้อนในอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ ร้านอาหารและภัตราคารต่างๆ อีก น่านน้ำนี้จึงหอมหวนสำหรับเซ็น กรุ๊ป
2. ใช้น้ำปลาร้าสปริงบอร์ดไปสู่เครื่องปรุงอื่นๆ
ผลิตภัณฑ์รีเทลของเซ็น กรุ๊ป แจ้งเกิดมาจากน้ำปลาร้าแบรนด์ตำมั่ว ซึ่งปัจจุบันน้ำปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์นำมาปรุงอาหารที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกระดับ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายที่นอกเหนือจาก ส้มตำ ตำมั่ว ตำถั่ว
ขณะที่ตลาดน้ำปลาร้า ยังไม่มีผู้นำอย่างชัดเจนและส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตรายเล็ก นั่นคือโอกาสของตำมั่ว โดยอาศัยความเปรียบการเป็นแบรนด์ของเซ็น กรุ๊ป ที่สำคัญตำมั่วได้ส่งผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าทำตลาดมากว่า 4 ปี และแบรนด์ของตำมั่วยังสะท้อนภาพลักษณ์ของร้านอาหารสไตล์อีสานระดับกลาง–บนที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ได้เป็นอย่างดี น้ำปลาร้าตำมั่วจึงมีโอกาสที่จะปักหมุดเป็นผู้นำได้อย่างแน่นอน และเซ็น กรุ๊ป เองคงมองถึงการใช้ฐานการผลิตโรงงานเครื่องปรุงรส การมีผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าแบรนด์ตำมั่วต่อยอดไปสู่เครื่องปรุงรสอื่นๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน อย่างเต็มรูปแบบเพื่อทำตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ
3. กินรวบตลาดปลาร้าทุกผลิตภัณฑ์
การร่วมทุนระหว่างเซ็น กรุ๊ป ซึ่งเป็นมีแบรนด์น้ำปลาร้าตำมั่วทำตลาดน้ำปลาในเซ็กเมนต์บน และบริษัท เค.เอส.เอฟ. ฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด มีแบรนด์น้ำปลาร้า ‘ภา–ทอง‘ ทำตลาดระดับล่าง เท่ากับว่าเป็นการเสริมความแข็งแกร่งทั้งตลาดบนและล่าง และขณะเดียวกันปัจจุบัน ตำมั่วยังมีโปรดักส์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากน้ำปลาร้าด้วยกัน อาทิ น้ำพริกปลาร้าบองผัดสุก, น้ำปลาร้าปรุงรส, น้ำปลาร้าปรุงรสส้มตำ และน้ำยำปลาร้าปรุงรส
4. โรงงานน้ำปลาร้าสร้างแต้มต่อธุรกิจต้นน้ำร้านอาหาร
การร่วมทุนในครั้งนี้เหตุสำคัญอีกอย่าง ส่งผลให้ เซ็น กรุ๊ป เป็นเชนร้านอาหารที่มีธุรกิจต้นน้ำ นั่นคือ การมีโรงงานที่ผลิตเครื่องปรุงรสต่างๆ ที่เปรียบเสมือนเป็นครัวกลาง ที่สามารถรองรับกับธุรกิจร้านอาหารในเครือ ต้นทุนการผลิตที่ลดลง จึงมีความได้เปรียบได้บริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้น รวมทั้งยังสามารถพัฒนาและวิจัยเครื่องปรุงใหม่ๆ โดยสามารถนำ Big Data ของผู้บริโภคภายในร้านมาพัฒนาต่อยอดเครื่องปรุงรสใหม่ตอบโจทย์ความต้องการที่ดีขึ้น และยังรับกับเทรนด์ของโลกได้ทันท่วงที โดยเฉพาะกระแสกัญชงกับกัญชาที่นำมาปรุงเป็นอาหาร ซึ่งเซ็น กรุ๊ป วางแนวทางใช้ฐานการผลิตที่มีอยู่พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่มีส่วนผสมกัญชาด้วยเช่นเดียวกัน
5. โอกาสปั้นแบรนด์ศักยภาพในเครือต่อยอดสู่ธุรกิจรีเทล
เครื่องปรุงรสต่างๆ เป็นสินค้าที่อยู่คู่ครัวในทุกยุคทุกสมัย แต่ด้วยพฤติกรรมของคนไทยที่ยกระดับมากขึ้น โดยเฉพาะการทำอาหารสไตล์ญี่ปุ่น เซ็น กรุ๊ป สามารถนำแบรนด์ ZEN มาต่อยอดสู่เครื่องปรุงรสญี่ปุ่นได้หลากหลาย หรือแบรนด์ เขียง โอกาสที่จะสามารถออกผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสกระเพรา ก็มีความเป็นไปได้สูง
ขณะที่ตลาดเครื่องปรุงรสเมื่อปี 2563 มีมูลค่า 1 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.3% ต่อปี และยังรวมถึงโอกาสการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งตัวเลขการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่าสูงถึง 207.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.75 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 12.05 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
6. ขายวัตถุดิบให้กับแฟรนไชส์ปั๊มรายได้เพิ่ม
หนึ่งในยุทธศาสตร์การเติบโตของเซ็น กรุ๊ป อีกขาธุรกิจหนึ่ง การปลุกปั้นสตรีทฟู้ดภายใต้แบรนด์ ‘เขียง‘ เป็นหัวหอกในการปักหมุดในการสร้างรายได้จากการขายแฟรนไชส์ โดยเมื่อปี 2563 ประกาศขายแฟรนไชส์ครบ 100 สาขา และมีแผนจะเปิดแฟรนไชส์แบรนด์อื่นๆ อาทิ AKA เมื่อถอดรายได้ของแฟรนไชส์เขียง มาจากรายได้จากค่า Franchise Free ของวัตถุดิบ (Raw Material) โอกาสที่จะใช้กระบวนการผลิตจากโรงงานขายวัตถุดิบให้กับแฟรนไชส์มีความเป็นไปได้อยู่แล้ว
7. สร้างโอกาสโตต่างแดนครัวไทยสู่ครัวโลก
เมื่อมองถึงศักยภาพของบริษัท เค.เอส.เอฟ. ฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องปรุงรสที่มีประสบการณ์ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องปรุงรสและน้ำปลาร้ามากกว่า 20 ปี โดยมีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ ‘ภา–ทอง‘ และรับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์อื่นๆ โดยมีมาตรฐานการผลิตระดับสากล GMP, HACCP เป็นต้น พร้อมทั้งได้รับใบอนุญาตส่งออกเครื่องปรุงรสสู่ตลาดต่างประเทศ จากปัจจุบันได้ส่งออกน้ำปลาร้าทำตลาดประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา