ZEN ขยายธุรกิจ Delivery ใช้โมเดลครัวกลางแบบ Delco บริการเสิร์ฟอาหารถึงบ้าน

Food Delivery เติบโตอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย ทำให้อาณาจักรอาหารอย่าง Zen Group ต้องขับเคลื่อนด้วยการสร้าง “ครัวกลาง” ในรูปแบบ Delco เพื่อลุยในธุรกิจบริการจัดส่งอาหารให้กับลูกค้าถึงที่

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เล่าว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเจเนอเรชั่น  Y และ Z เริ่มคุ้นชินกับการสั่งอาหารในรูปแบบ Delivery ไปแล้ว บวกกับการเติบโตของสังคมขยายเพิ่มขึ้น

วิชั่นของการสร้างอาณาจักรอาหารของ “เซ็น กรุ๊ป” คือทำอย่างไรให้ร้านอาหารสเกลเล็กลง แต่สามารถเข้าถึงคนกินอาหารได้มากขึ้น จากการมีแบรนด์อาหารในพอร์ตโฟลิโอทั้งหมด 12 แบรนด์ ดังนั้นถึงเวลาต้องสยายปีก Food Delivery อย่างจริงจัง 

ภาพจาก : shutterstock

โมเดลสร้างครัวกลางรูปแบบ Delco

การทำสร้างครัวกลางในรูปแบบ Delco เป็น ครัวกลางขนาดเล็ก 100-200 ตร.ม. มีไว้เพื่อทำอาหารสำหรับไปส่งลูกค้าที่สั่ง Delivery เท่านั้น ยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจร้านอาหารของ “เซ็น กรุ๊ป” ไม่ได้มองที่สเกลใหญ่ต้องเปิดสาขาใหญ่ การสร้างครัวกลางรูปแบบ Delco พื้นที่ขนาดเล็กแต่มีศักยภาพเข้าถึงคนในชุมชนได้มากกว่า ในอนาคตอาจไม่มีหน้าร้าน มีแต่ครัวกลางเพื่อบริการทำอาหารแล้วจัดส่งได้เลย

เรียกว่าเป็นโมเดลเดียวกับ GrabKitchen เลยก็ว่าได้ และจิ๊กซอว์ตัวต่อไปในการขับเคลื่อนการทำแอปพลิเคชั่น คอลเซ็นเตอร์ เปิดบริการสั่งอาหารผ่านทางมือถือ เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายของผู้บริโภคในยุค 4.0 

ร้านอาหารเขียง แนวสตรีทฟู้ด โมเดลนำร่อง Food Delivery

“เราปักหมุดการสร้างครัวกลางรูปแบบ Delco ได้ทดลองทำในบริเวณย่านศาลาแดง โดยใช้ ‘เขียง’ เป็นแบรนด์นำร่องโมเดลไปก่อน เพราะเป็นอาหารสไตล์สตรีทฟู้ดที่กำลังมาแรง ปัจจุบันตลาดมีมูลค่า 3 แสนล้านบาท” 

เลือกแบรนด์เรือธงหัวหอกลุย 

แผนการขยายธุรกิจในปีหน้า “เซ็น กรุ๊ป” เปิดสาขาใหม่ 100 สาขา ภายใต้การใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท โดยเป็นโมเดลครัวกลางรูปแบบ Delco ราว 40-50% ซึ่งข้อดีของการมีร้านที่สเกลเล็กลง หมายถึงการลงทุนต่างๆ ที่น้อยลง เท่ากับว่าเป็นการลดต้นทุนการดำเนินการลง 

และหากจะทำดิลิเวอรี่ การเลือกแบรนด์อาหารเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องพิจารณาจากประเภทของอาหารและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งหมด 4 แบรนด์ จาก 12 แบรนด์ ด้วยกัน

  1. เขียง อาหารแนวสตรีทฟู้ด
  2. ZEN อาหารญี่ปุ่นโดยจะให้บริการในรูปแบบเบนโตะ
  3. On The Table อาหารแนวฟิวชั่นสไตล์ญี่ปุ่น 
  4. ตำมั่ว อาหารไทย ส้มตำ ไก่ย่าง 
ภาพจาก : shutterstock

ทำ Food Delivery ไม่ใช่เรื่องง่าย 

ท่ามกลางเชนธุรกิจร้านอาหารลุย Food Delivery ซึ่งเป็นตลาดที่น่าจับตามอง และทุกแบรนด์พร้อมชิงชิ้นเค้กตลาดที่มีมูลค่า 33,000 -35,000 ล้านบาท โดยปีนี้ตลาดเติบโต 14% แต่ก็เป็นตลาดที่ไม่ง่ายนัก

เพราะการแข่งขันแต่ละแบรนด์ล้วนผูกด้วยการทำโปรโมชั่นล้วนๆ แถมต้องมีเมนูเด็ดที่น่าสนใจว่าลูกค้าสั่งแน่นอน และสิ่งสำคัญการรักษามาตรฐาน รวมทั้งพันธมิตรที่แข็งแกร่ง นั่นคือโจทย์ของ Food Delivery ต้องมอง 

แน่นอนว่าทิศทางการขยายสาขานั้น เราปักหมุดในโลเคชั่นในกลุ่มสังคมเมือง โดยยึดทำเลทองในพื้นที่ของกรุงเทพ ได้แก่ สุขุมวิท สีลม และสาธร เป็นย่านกลุ่มคนทำงานเป็นจำนวนมาก และมีไลฟ์สไตล์เร่งรีบ

แม้ว่ารายได้ Food Delivery ของ เซ็น กรุ๊ป จะน้อยนิดราว 100 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3% ของรายได้ทั้งปีนี้ราว 3,000 ล้านบาท เติบโต 10% หากแต่ว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ทุกแบรนด์เชนร้านอาหารต้องทำ และปีหน้าผมเชื่อ Food Delivery ของอาณา เซ็น กรุ๊ป เติบโต 2-3 เท่าตัว 

สรุป

เหตุผลง่ายๆ แผนขยายธุรกิจรูปแบบเดลิเวอรี่ เซ็น กรุ๊ป ต้องวางยุทธศาสต์รอบทิศทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เรียกว่า OmniChannel การมีหน้าร้านเพียงอย่างเดียวและรอให้คนมากินอาหาร ไม่เพียงพอแล้ว เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการขยายตัวของศูนย์การค้าที่นับวันเริ่มลดลง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา