ZEN ปรับธุรกิจรับโควิด-19 เน้นเดลิเวอรี่ ขยายครัวส่วนกลาง ตอบโจทย์คนเดินห้างน้อย

ในช่วงต้นปี 2563 นี้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากทั้งเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภค ฝุ่น PM 2.5 และที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้นการระบาดของโรค COVID-19 หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือธุรกิจอาหาร ซึ่งบริษัท เซ็น คอร์เปอร์เรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร ได้เปิดเผยสถานการณ์การดำเนินธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรวมถึงการปรับตัว ภายใต้สถาการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์เปอร์เรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์เปอร์เรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่าในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาธุรกิจอาหารเติบโตขึ้นมาก ทำให้เมื่อปลายปีที่แล้วตั้งเป้าการเติบโตของปี 2563 ไว้ที่ระดับ 15-20% และวางแผนการขยายร้านอาหารเพิ่มอีก 80 สาขา

แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตนอกบ้าน รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยลดลง ส่งผลต่อรายได้รวมที่หายไปประมาณ 20% ทำให้จำเป็นต้องปรับเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจเหลือเพียง 5-10% เท่านั้น ซึ่งได้ประเมินสถานการณ์ของโรค COVID-19 ไว้อย่างน้อยที่สุด 6 เดือน และมากที่สุด 1 ปี

ภาพจาก ZEN

แต่จากสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีแต่ผลในเชิงลบเพียงอย่างเดียว เพราะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายอาหารในกลุ่มเดลิเวอรี่เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่ปีที่แล้วมียอดขายประมาณ 120 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 200 ล้านบาท ในบางพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงยอดขายผ่านเดลิเวอรี่อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 80% ขึ้นอยู่กับสถานที่

ทั้งการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ และการสั่งผ่านเบอร์โทรศัพท์ของเซ็นโดยตรง ซึ่งกลุ่มคนที่สั่งอาหารเดลิเวอรี่แต่เดิมเป็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z แต่ปัจจุบันผู้สูงอายุก็เริ่มสั่งอาหารเดลิเวอรี่บ้างแล้วเช่นกัน ส่วนราคาที่เหมาะสมกับการสั่งอาหารผ่านเดลิเวอรี่เซ็นมองว่าควรอยู่ในช่วง 150-200 บาท

ร้านอาหารในเครือเซ็น ภาพจาก zengroup.com

เซ็นจึงมองว่าควรปรับเปลี่ยนพื้นที่ครัวของร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN ให้กลายเป็นครัวกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน โดยปัจจุบันได้เริ่มทดลองใช้ครัว ZEN ทำอาหารให้กับลูกค้าที่สั่งเดลิเวอรี่จากร้านอาหารเขียง เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่อยากสั่งอาหารไปรับประทานในที่ทำงาน รวมถึงลดต้นทุนแรงงาน โดยกระจายไปทำงานในพื้นที่ๆมีลูกค้าจำนวนมากแทน ซึ่งร้านอาหารในเครือเซ็นส่วนใหญ่จะมีต้นทุนในการเช่าร้านประมาณ 10-20% ต้นทุนแรงงาน 20-30% และต้นทุนด้านวัตถุดิบ 35-40%

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์เปอร์เรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ภาพจาก ZEN

ส่วนธุรกิจอาหารค้าปลีกเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกันโดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน เนื่องจากคนไม่กล้าออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งร้านอาหารส่วนใหญ่ของเซ็น อยู่ในห้างสรรพสินค้ากว่า 60% และอีก 40% เป็นร้านอาหารที่อยู่ในตึกแถว หรือห้างสรรพสินค้าขนาดเล็กๆ

แม้ว่าร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า รวมถึงร้านอาหารที่ต้องใช้เวลานั่งทานที่ร้านจะได้รับผลกระทบ แต่ร้านอาหารประเภทจานด่วน หรือร้านอาหารแบบซื้อกลับบ้านกลับมียอดขายเติบโตขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ดังนั้นการปรับตัวที่ดีที่สุดคือต้องเน้นมาตรฐานความสะอาด และสุขลักษณะของอาหาร เน้นอาหารที่ปรุงสุก รวมถึงลูกค้ามีแนวโน้มที่จะชื่นชอบร้านอาหารที่มีครัวเปิด เพราะลูกค้าสามารถดูวิธีการปรุงอาหารได้แบบสดๆ

เซ็นวางแผนขยายร้านอาหารเขียงเพิ่มเติมในปีนี้ ภาพจาก zengroup.co.th

กลยุทธ์การเติบโตในปี 2563 นี้จากเดิมที่วางแผนขยายร้านอาหารด้วยตนเอง ก็จะไปจับมือกับพันธมิตร และการขยายร้านอาหารแบบแฟรนไชส์มากขึ้น ซึ่งในตอนนี้เซ็น ได้จับมือร่วมกับกลุ่มบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำอัดลม โคคา-โคลาในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อขยายร้านอาหารเขียงในพื้นที่ภาคใต้ และได้จัดตั้งบริษัท กินดีอยู่ดี 2020 จำกัด โดยมีหาดทิพย์ถือหุ้น 75% ผ่านบริษัท หาดทิพย์ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจเจส จำกัด และเซ็น ถือหุ้น 25% ผ่านบริษัท เซ็น แอนด์ สไปซี่ จำกัด เนื่องจากจุดแข็งของหาดทิพย์ที่มีข้อมูล และเป็นเจ้าถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ รู้ข้อมูลการบริโภคของคนในภาคใต้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา