อยากอ่านเรื่องง่ายๆ แบบสรุปมาให้ต้อง เพจ “สรุป” เนื้อหาครบ (แทบจะ)จบในที่เดียว

zaroop

หนึ่งใน Facebook Page ที่ได้รับการกล่าวถึงในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ “สรุป” ด้วยจุดเด่นคือ หยิบจับเรื่องที่เป็นประเด็น และได้รับความสนใจ เนื้อหามีความซับซ้อน มาบอกเล่าแบบสรุป เนื้อหาครบ จนแทบจะจบในครั้งเดียว (บางครั้งเรื่องยังไม่จบ) หลายคนถึงขั้นเสพย์ติด เพราะถ้าเรื่องอะไรเป็นที่สนใจ เดี๋ยว “สรุป” เอามาสรุปให้

Brand Inside เห็นถึงความน่าสนใจของเพจนี้ เลยทำการถามตอบเรื่องราวของเพจ “สรุป” และคณะผู้จัดทำ “สรุป” มาให้ได้อ่านกัน ลองไปดูกันว่า ที่มาที่ไปพวกเขาเป็นอย่างไร และทำไมถึงได้รู้เรื่องราวต่างๆ ได้ดีขนาดนี้

12208365_1651101655164984_4975978734096712122_n

ทำไมถึงมาทำเพจ สรุป ที่จุดเริ่มต้น แนวคิด และที่มาที่ไปอย่างไร

เพจสรุปเกิดจากวงสนทนาในกลุ่มไลน์ของเพื่อนที่เรียนวิศวะมาด้วยกัน เรามักจะคุยกันเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา เทคโนโลยี ไปจนถึงเรื่องที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น เรื่องดารานักร้อง หรือแม้แต่ดราม่าต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต

พอเราคุยกันแล้วก็เกิดการวิเคราะห์กันต่อ เกิดการแชร์ข้อมูล ซึ่งหลายเรื่องมันน่าสนใจ เพราะบางเรื่องมันก็มีประเด็นที่ถกเถียงกันต่อได้ ผมเลยอยากขยายวงสนทนาให้กว้างขึ้น เลยลองทำเพจขึ้นมา ตั้งชื่อว่า “สรุป” เพราะตั้งใจว่าจะคอยสรุปสาระสำคัญของเรื่องต่างๆ แล้วแชร์ให้คนอื่นได้อ่าน จะได้พูดคุยกันต่อได้

ช่วงแรกก็ทำอยู่คนเดียว แล้วบอกเพื่อนให้มาช่วยกดไลค์ มีคนกดติดตามกันอยู่หลักสิบ แต่แนวทางเพจมันดูน่าสนใจดี เลยไปชวนเพื่อนอีกสองคนมาช่วยกันทำเพจ จะได้เพิ่มความหลากหลายให้กับเนื้อหา แต่พอทำไปทำมา มีอยู่ช่วงหนึ่งเราปรับเปลี่ยนแนวทางการเขียน จากที่ตอนแรกจะนำเสนอแค่ประเด็นสั้นๆ แล้วจบ แต่พอมีหัวข้อที่ต้องเจาะลึกลงไปอีก จะเขียนให้สั้น ตัดเป็นตอนมาสรุป มันก็จะห้วนไป คนอ่านจะไม่รู้เรื่อง เลยลองเขียนให้ยาวขึ้น นำเสนอข้อมูลให้ครบ แต่ก็ต้องกระชับพอให้คนอ่านไม่เบื่อกัน ปรากฏว่าแนวทางนี้มีคนชอบกันมาก และแชร์กันเยอะ เพจเลยขยายตัวขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น

13131375_1715210065420809_4104241943372022946_o

การเลือกเรื่องที่จะทำ มีหลักเกณฑ์อย่างไร

เรามีหลักเกณฑ์อยู่ 3 ข้อในการเลือกหัวข้อที่จะเขียน

  1. ต้องเป็นเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้ว เพื่อใช้เป็นแรงกระตุ้นให้เราอยากเขียน
  2. ต้องเป็นเรื่องที่สังคมก็น่าจะสนใจด้วย เพราะถ้าเขียนไปแล้วคนไม่สนใจก็ไม่รู้จะเขียนไปทำไม
  3. ต้องเป็นเรื่องที่คนอ่านได้ประโยชน์ ถ้าเราดูแล้วว่าคนอ่านไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่อยากนำเสนอ กลัวเขาจะเสียเวลาอ่านกัน

conclusion2

ด้วยเรื่องราวที่หลากหลาย ทีมงานมีกี่คน แล้วแบ่งงานกันอย่างไร

ตอนนี้เรามีทีมงานอยู่ 3 คน ซึ่งเป็นเพื่อนในวงสนทนาดังกล่าว ซึ่งพวกเราจะมีแนวทางที่ต่างคนถนัดและสนใจที่ต่างกันอยู่ คนนึงอาจจะถนัดเรื่องกฎหมาย เรื่องกีฬา อีกคนก็สนใจเรื่องธุรกิจ เรื่องเทคโนโลยี อะไรแบบนี้ ทำให้เรามีความหลากหลายในการนำเสนอเรื่องต่างๆ

รู้แล้วว่าทำด้วยใจรัก และสนใจจริงๆ แต่มีแนวทางจะทำให้เกิดรายได้ด้วยหรือไม่

ตอนนี้เพจเรายังไม่มีรายได้ครับ ที่ผ่านมามีโฆษณาติดต่อมาบ้าง แต่แนวทางยังไม่ตรงกับที่เราต้องการนำเสนอ อีกอย่างแนวทางเพจเราค่อนข้างยากต่อการลงโฆษณาด้วย เลยยังไม่เคยลงโฆษณาหรือหารายได้จริงจังซะที

10295800_1670415956566887_3349694580620094025_n

เมื่อเรื่องราวหลากหลายและซับซ้อน ในแต่ละเรื่อง มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร

เวลาเราเลือกหัวเรื่องที่จะเขียน เราก็จะคุยๆ กันในกลุ่มแอดมินว่าเรื่องนี้น่าสนใจมั้ย มีใครอยากจะเขียน ถ้าใครเป็นคนเขียน อีกสองคนที่เหลือก็จะช่วยเป็น บก. คอยเช็คข้อมูลและเนื้อหาให้อีกที แต่จุดสำคัญคือ ทุกเรื่องที่เรานำเสนอต้องอ้างอิงจากข้อมูลที่เชื่อถือได้ ตรงนี้ก็ต้องช่วยกันเช็ค ช่วยกันตั้งคำถามกันเอง โดยเราจะพยายามใช้แหล่งข้อมูลที่เป็นต้นทางให้มากที่สุด

หลักๆ ก็จะอาศัยข้อมูลจากสื่อต่างๆ ถ้ามีแหล่งอ้างอิงระบุ ก็จะถามไปเช็คจากต้นทางอีกทีเพื่อความชัวร์ เช่นบางข้อมูลเป็นเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจ ก็ไปข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือถ้าเป็นเรื่องกฎหมายก็เข้าไปดูจากของหน่วยงานรัฐโดยตรง แล้วเอามาเรียบเรียงเป็นดราฟท์ บางครั้งเราอาจจะเขียนกัน 4-5 ดราฟท์ จนกว่าจะพอใจว่าเนื้อหาครบถ้วนแล้ว สามารถอธิบายได้กระชับไม่เยิ่นเย้อเกินไป เราถึงจะเอาลงเพจกัน

12309796_1659952734279876_2284186423674631244_o

มองอนาคตและตั้งเป้ากับการทำ “สรุป” อย่างไรบ้าง

ตอนนี้เรายังไม่ได้มองเรื่องรายได้เป็นตัวหลักนะครับ แต่โฟกัสไปที่การหาหัวข้อที่ตอบโจทย์ตอบคำถามสังคมมานำเสนอ เราอยากสร้างพื้นที่ในโลกโซเชียลที่คนสามารถมาสนทนาในหัวข้อต่างๆ ได้โดยถกเถียงจากข้อเท็จจริง และหลักฐานที่พิสูจน์ได้ ต่อให้เป็นเรื่องที่มันดูซับซ้อนเข้าใจยาก แต่เราอยากจะเป็นคนช่วยอธิบายก่อนชั้นนึง ให้คนอ่านได้เห็นภาพรวมและประเด็นสำคัญ จากนั้นถ้าคนอ่านอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติม เขาก็จะไปต่อยอดเองได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเริ่มทำความเข้าใจจากศูนย์

12362794_1662013644073785_4240982019466844846_o

ในฐานะที่ทำสรุปเรื่องราวต่างๆ มาหลายเรื่อง “สรุป” มองสังคมไทยอย่างไร

ถ้าเอาเฉพาะการเสพข่าว ผมมองว่าที่ผ่านมาสังคมไทยเรายังขาดการตั้งคำถามต่อสื่อ หรือต่อสิ่งต่างๆ ที่ดูน่าเชื่อถือ อาจจะเป็นเพราะเราถูกสอนมาให้เชื่อฟัง และเชื่อถือสิ่งที่คนที่อยู่เหนือกว่าบอกเรา เราจึงมักเชื่อสิ่งที่สื่อบอกโดยไม่มีข้อสงสัย หรือตั้งคำถาม นั่นก็ทำให้หลายครั้งที่สังคมเองก็ตกเป็นเหยื่อของการถูกป้อนข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หรือป้อนเฉพาะข้อมูลด้านเดียว

แต่ระยะหลังผมมองว่าเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้น อาจจะเป็นเพราะเราเข้าสู่ยุคโซเชียล และทุกคนสามารถเสพสื่อได้หลากหลายขึ้น ทำให้ไม่ถูกจำกัดในการรับข้อมูลจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตรงนี้ทำให้การตั้งคำถามของผู้เสพสื่อต่อตัวสื่อเกิดง่ายขึ้นด้วย สื่อเองก็ต้องพยายามปรับตัวให้น่าเชื่อถือจริงๆ เพราะเสียงของคนอ่านตอนนี้ดังกว่าเสียงสื่อแล้ว

สุดท้าย “สรุป” มีข้อเสนอแนะอะไรต่อผู้อ่านบ้าง

อยากจะฝากให้ทุกคนตั้งคำถามกันเยอะๆ นะครับ เรื่องบางเรื่องที่สื่อนำเสนอ อาจจะดูเป็นสีสันน่าสนใจ แต่ก็ใช่ว่าจะถูกต้องตามนั้นเสมอ ก่อนเราจะเชื่อหรือจะแชร์ ก็ลองยั้งใจแล้วตั้งคำถามดูก่อนว่าข้อมูลนั้นมากพอให้เชื่อได้รึยัง ถ้าเราไม่แน่ใจก็รออีกซักนิด เดี๋ยวคนที่เขามีข้อมูลมากกว่าจะโผล่มาเอง สมัยนี้มันใช้เวลาไม่นานละครับ

conclusion

สรุปของ “สรุป”

“สรุป” คือเพจของกลุ่มเพื่อนที่มี “Passion” (ขอใช้คำอังกฤษ) ในการทำให้เรื่องราวยากๆ ยาวๆ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เข้าใจได้ง่ายๆ และทำติดต่อกันมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา( ดูจากเวลาเริ่มต้นเพจ พ.ย. 2015) สามารถสรุปเรื่องราวต่างๆ ได้ดี อาจจะมีผิดพลาดบ้าง แต่ก็พร้อมจะปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเกรียนอยู่บ้างเพื่อเป็นเสน่ห์ในการเล่าเรื่องราว มีฐานแฟนเพจมากกว่า 2 แสน (ไม่ใส่ตัวเลขเพราะเชื่อว่ายังเพิ่มอยู่เรื่อยๆ) ซึ่ง ติดตามอ่านพร้อมกับแชร์ ทั้งหมดเป็นสิ่งพิสูจน์ถึงความเป็น “ตัวจริง” ของเพจนี้

ถ้าอยากติดตาม พิมพ์คำว่า สรุป หรือ in.one.zaroop ในช่องค้นหาของ Facebook หรือคลิกที่นี่ สรุป

Credit Image: เพจของสรุป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา