ZARA เตรียม Go Online ตาม Uniqlo หรือตลาด Fast Fashion ในไทยจะต้องเพิ่มช่องทางมากกว่าสโตร์

ในวันที่ 28 มี.ค. Fast Fashion อีกแบรนด์อย่าง ZARA ก็จะเปิดให้บริการซื้อสินค้าออนไลน์ หลังจาก Uniqlo แบรนด์คู่แข่งจากญี่ปุ่น ให้บริการ Ecommerce ในเดือนก.ค. 2559 แล้วอย่างนี้ตลาด Fast Fashion ในไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

Go Online คืออีกทางออกในการเพิ่มช่องทาง

ตามที่ได้รายงานข่าวกันไปเกี่ยวกับวิกฤตของกลุ่ม Fast Fashion ว่าตอนนี้มีทั้งปัญหาเรื่องค่าเงิน, ดีไซน์ รวมถึงคู่แข่งรายย่อยที่จำหน่ายสินค้าผ่านโลกออนไลน์ จนรายได้มีโอกาสลดลงในปีนี้หากไม่ปรับตัว แต่สำหรับประเทศไทย หากสังเกตตามร้าน Fast Fashion ก็จะมีผู้บริโภคเข้าไปเลือกซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง และแสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยยังมีกับสินค้าชนิดนี้อยู่

อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ปรับอะไรโอกาสที่จะเกิดวิกฤตเหมือนกับตลาดโลกก็มีสูง โดยการสร้างช่องทางออนไลน์ หรือ Ecommerce ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี เพราะการมีช่องทางออนไลน์ ก็เหมือนเปิดสาขาใหม่ที่ให้บริการได้ตลอด 24 ชม. รวมถึงใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้นอีกด้วย ซึ่ง ZARA ก็คงคิดเช่นนี้ จึงเตรียมเปิดช่องทาง Ecommerce ในประเทศไทย โดยผู้บริโภคสามารถซื้อได้ผ่านเว็บไซต์ zara.com/th รวมถึง Application บนโทรศัพท์มือถือ ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.

ติดสปีดทั่วอาเซียน หลังแบรนด์ยังได้รับความนิยม

สำหรับการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของ ZARA จะส่งให้ฟรีทั่วประเทศก็ต่อเมื่อสั่งซื้อมากกว่า 1,990 บาท หากต่ำกว่านั้นคิดค่าส่ง 90 บาท แต่ผู้ซื้อสามารถเลือกรับสินค้าที่หน้าร้าน ZARA ทุกสาขา (ยกเว้นสาขาสยามพารากอน) ได้เช่นกัน โดยสินค้าที่จำหน่ายอยู่บนออนไลน์จะเหมือนกับที่จำหน่ายในสาขาต่างๆ พร้อมกับเพิ่มสินค้าใหม่ 2 ครั้ง/สัปดาห์ ซึ่งนโยบายการส่งสินค้านั้นแตกต่างจาก Uniqlo ที่ส่งฟรี แต่จะคิดค่าบรรจุภัณฑ์ 100 บาท (สั่งเกิน 1,500 บาทไม่คิด)

ทั้งนี้ไทยไม่ใช่ประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ ZARA เข้ามาทำตลาดออนไลน์ เพราะก่อนหน้านี้ได้ให้บริการที่สิงคโปร์ และมาเลเซียแล้ว ที่สำคัญถัดจากประเทศไทยก็จะไปให้บริการในประเทศเวียดนามด้วย แสดงให้เห็นถึงโอกาส และความต้องการของสินค้า Fast Fashion ในภูมิภาคนี้ แตกต่างกับในสหรัฐอเมริกา และยุโรปที่แบรนด์ Fast Fashion เริ่มไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอดีต

ร้านรับหิ้วบน Facebook

ร้านหิ้วไม่กระทบ แม้บริษัทแม่ลุยเอง

ในทางกลับกันตอนนี้มีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เปิดร้านรับบริการซื้อสินค้าจากแบรนด์ Fast Fashion ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น H&M, ZARA และ Uniqlo โดยบวกค่าบริการเข้าไปตั้งแต่ 150-200 บาท ซึ่งส่วนตัวมองว่าร้านเหล่านี้ก็คงไม่กระทบนัก เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนิยมซื้อสินค้าด้วยวิธี Social Commerce หรือคุยกับพ่อค้าแม่ค้า และใช้วิธีโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้า มากกว่าการซื้อด้วยระบบ Ecommerce ที่มีความปลอดภัยมากกว่า

ดังนั้นคงต้องรอให้ตลาดปรับตัวอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้ซื้อได้เรียนรู้ถึงการซื้อสินค้าที่ปลอดภัยกว่าการซื้อแบบโอนเงินให้พ่อค้าแม่ค้า และเมื่อถึงจุดนั้น คงเริ่มมีแบรนด์แฟชั่นต่างๆ หันมาเปิดเว็บไซต์เพื่อจำหน่ายออนไลน์กันมากขึ้น และประเทศไทยคงเข้าสู่ยุค 4.0 กันได้เหมือนที่รัฐบาลยุคนี้หวังเอาไว้

สรุป

เมื่อ Uniqlo และ ZARA ต่างเปิดช่องทางออนไลน์แล้ว เชื่อว่าอีกไม่นานคงเห็น H&M ให้บริการด้านนี้บ้าง เพราะในต่างประเทศก็มีเปิดให้ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์อยู่แล้ว ทำให้การแข่งขันของกลุ่ม Fast Fashion ในประเทศไทยจะไม่ได้แข่งกันแค่หน้าร้าน แต่ออนไลน์ก็คงเห็นโปรโมชั่นที่ดุเดือดมากขึ้นแน่นอน

อ้างอิง // Zara Thailand launches online

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา