Zanroo หรือ แสนรู้ เป็นสตาร์ทอัพไทยสาย MarTech หรือ Marketing Technology ให้บริการ Social Marketing เช่นการทำ Social Monitoring และ Social Engagement พูดให้เข้าใจง่ายคือ ดูแลบริหารจัดการข้อมูล Big Data ที่เกี่ยวกับโซเชียลให้แบรนด์และองค์กรต่างๆ
Zanroo เริ่มต้นมาประมาณ 4 ปี มีสำนักงานสาขาใน 5 ประเทศ และให้บริการใน 15 ประเทศ โดยเฉพาะในไทยที่ ธนาคารใหญ่, ค้าปลีกรายใหญ่, บริษัทขนาดใหญ่ต่างเป็นลูกค้าของ Zanroo แต่ชื่อ Zanroo กลับไม่เป็นที่รู้จักมาก หลายคนอาจเคยได้ยินเป็นครั้งแรก อะไรทำให้ได้รับความสนใจ และสามารถระดมทุนครั้งแรก 7.4 ล้านดอลลาร์ ผ่าน Shift Ventures
แตกต่างด้วยประสิทธิภาพของระบบ AI
ชิตพล มั่งพร้อม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Zanroo บอกว่า การทำงานของ Zanroo คือ การเป็นผู้รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ หรือ WHO KNOW EVERYTHING THAT’S HAPPENING ONLINE เพื่อให้สามารถบอกแบรนด์หรือองค์กรต่างๆ ได้ว่า อะไรกำลังเกิดขึ้น มีการวัดผลที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถจัดการอย่างไร และหากมีปัญหาเกิดขึ้น จะแก้ไขอย่างไร
จุดเด่นที่ทำให้ Zanroo แตกต่างจาก Social Marketing รายอื่นๆ ไม่ใช่แค่ในไทย แต่แตกต่างจากผู้ให้บริการอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้มีลูกค้าใช้บริการอยู่มากกว่า 300 องค์กรใน 15 ประเทศ ประกอบด้วย 6 จุดแข็ง คือ
- Targeted Social Listening มีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และทำการกลั่นกรองเพื่อให้ได้ข้อมูลที่พร้อมใช้งานทันที
- Multi-Language Capabilities รองรับภาษาที่หลากหลาย ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, จีน สามารถรองรับได้ ลงลึกถึงความแตกต่างของภาษาท้องถิ่นในประเทศด้วย
- Real-Time Insights หากมีเรื่องราวใดเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ Zanroo แสดงผลได้ในทันที เพื่อป้องกันหรือแก้ไขสิ่งที่ไม่คาดคิดได้อย่างทันท่วงที
- Intuitive Control การใช้งานที่ง่ายต่อการควบคุมจัดการแสดงผลผ่าน dashboard
- Data Security 100% รับรองความปลอดภัยของข้อมูลทั้งหมด
- All-in-One Product เป็นบริการที่ครบวงจร ทั้ง Monitor, Engagement และ Research
Shift ช่วยระดมทุน 7.4 ล้านดอลลาร์ บุก 40 ประเทศ
Zanroo เป็นสตาร์ทอัพไทยไม่กี่ราย ที่มีรายได้ทันทีในเดือนแรกถึงปีที่ผ่านมา มีรายได้กว่า 100 ล้านบาท และตั้งเป้าในปีนี้ 260 ล้านบาทจากการให้บริการในหลายประเทศ ทางผู้ร่วมก่อตั้งระบุว่าก่อนหน้านี้มี บริษัทขนาดใหญ่ในไทยและต่างประเทศต้องการซื้อ หรือถือหุ้น แต่ Zanroo ปฏิเสธเพราะไม่ต้องการจำกัดการให้บริการ และไม่มีความจำเป็นต้องเร่งระดมทุน
แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Zanroo ต้องการขยายตลาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุน ดังนั้นจึงจับมือกับ Shift Ventures เพื่อระดมทุนเป็นครั้งแรกมูลค่า 7.4 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 260 ล้านบาท) โดยมีผู้ร่วมลงทุน เช่น Asia Plus และนักลงทุนอิสระอีกจำนวนหนึ่ง โดยจะใช้เงินเพื่อวิจัยและพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้น, เตรียมหาทีมงานในต่างประเทศเพิ่ม และมุ่งทำตลาด
ภายในปี 2562 จะขยายตลาดให้ได้ 40 ประเทศทั่วโลก มียอดรายได้แตะที่ 30 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 1,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเป็นแบรนด์
ชิตพล บอกว่า การลุยตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมา Zanroo เข้าทำตลาดในมาเลเซีย และขึ้นเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 และขยายไปประเทศรอบๆ รวมถึงสิงคโปร์ทำให้ได้เจอกับบริษัทข้ามชาติมากขึ้น ได้เริ่มเข้าทำตลาดในญี่ปุ่น และมีแผนปลายปีที่จะเริ่มทำตลาดอย่างจริงจังใน อเมริกาและจีน ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่
ARUN บริการเวอร์ชั่นใหม่ ความพิเศษที่หาไม่ได้จากที่อื่น
อุดมศักดิ์ ดอนขำไพร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและผู้ก่อตั้ง Zanroo บอกว่า ที่ผ่านมา Zanroo เน้นให้บริการภาษาท้องถิ่น แก้ปัญหาเรื่อง Data แต่เวลานี้อยู่ระหว่างการพัฒนาบริการใหม่ภายใต้ชื่อ ARUN (อรุณ) ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายปีนี้ โดยจะเป็นระบบโซลูชั่นเดียวในโลกที่สามารถบริหารจัดการสื่อ 3 ส่วนคือ Paid Media, Owned Media และ Earned Media ได้แบบครบวงจร
“การไปทดลองทำตลาดที่อเมริกา ซึ่งเรื่องของ MarTech และ AdTech ที่นั่นล้ำหน้ากว่าไทยประมาณ 7 ปี แต่ผลที่ได้รับคือ Zanroo เป็นผู้ให้บริการเดียวที่สามารถรวม 3 ส่วนในโซลูชั่นเดียว และแสดงผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำรวดเร็วที่สุด ทำให้ได้รับความสนใจจากบริษัทกว่า 20 แห่ง ปลายปีนี้ถ้า ARUN พัฒนาสมบูรณ์ นั่นคือเวลาของการปิดการขาย”
แต่ก่อนจะขยายไปอเมริกาและยุโรป Zanroo จะเน้นตลาดในเอเชียให้เรียบร้อยก่อน โดยที่ ไทยและมาเลเซีย เป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว แต่ในอนาคต อินโดนีเซีย และ ญี่ปุ่น จะเป็นตลาดที่ใหญ่กว่า รวมถึงจีน ที่ใช้เวลาศึกษามากว่า 2 ปีแล้ว
สรุป
สิ่งที่ทำให้ Zanroo แตกต่าง คือการบริหาร Big Data ด้วย 3 สิ่ง คือ Velocity คือ รวดเร็วที่สุด, Volume คือ มีปริมาณขนาดใหญ่ และ Variety คือ หลากหลายภาษาและแหล่งที่มาของข้อมูล และทำได้ดีกว่าผู้ให้บริการรายอื่น จึงไม่น่าแปลกใจถ้า Zanroo จะสามารถให้บริการได้ใน 15 ประเทศ และระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจไป 40 ประเทศ ซึ่งทาง ผู้ร่วมก่อตั้งบอกว่า อาจไม่จำเป็นต้องระดมทุนรอบต่อไปแล้ว เพราะ Zanroo สามารถเข้าตลาดหุ้นได้แล้ว แต่อยู่ที่ว่าจำเป็นหรือไม่
สิ่งที่ทำให้ Zanroo โดดเด่นอีกประการ ไม่ใช่แค่การให้บริการด้วย AI ที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาบริการไปสู่ระดับ ASP หรือ Application Service Provider คือเป็นบริการที่ทุกคน ทุกองค์กรทั่วโลกสามารถเข้าใช้งานได้ทันที เท่ากับสามารถจับตลาดลูกค้าได้ทั่วโลก และทำให้ Zanroo อาจเป็น Unicorn Startup ตัวแรกของไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา