ไม่แปลกนักที่จะบอกว่า บริษัทอีเวนท์แทบจะถูกแช่แข็งในช่วงวิกฤติ COVID-19 เพราะพวกเขาไม่สามารถจัดงานใดๆ ได้ แต่คงไม่ใช่กับ ZAAP Party เพราะบริษัทอีเวนท์ที่มีแต่คนรุ่นใหม่นั้นไม่หยุดนิ่ง และมีงานในช่วงนี้ได้
17 งานต่อสัปดาห์ที่คิดมาเป็นสต๊อก
ZAAP Party เป็นอีกบริษัทอีเวนท์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรค COVID-19 เพราะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 รายได้บริษัทหายไปถึง 80% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ถึงจะสาหัสแค่ไหน “เทพวรรณ คณินวรพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริการของ ZAAP Party ยืนยันว่า คงไม่ดีถ้าให้บริษัทนิ่งเฉยกับวิกฤตนี้
“ธุรกิจอีเวนท์เป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และเราต้อง Work from Home ตั้งแต่นั้น แต่จะให้ ZAAP Event รอให้วิกฤตนี้ผ่านไปคงไม่ได้ และเหมือนกับการที่ต้องหยุดทำงานชั่วคราวในครั้งก่อนๆ ZAAP Party ได้ระดมความคิดเพื่อประยุกต์ใช้หลังวิกฤติ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย” เทพวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ ZAAP Party ได้ให้ทีมครีเอทีฟคิดงานกว่า 17 งาน/สัปดาห์ เพื่อนำงานเหล่านั้นมาไว้เป็นสต๊อก และสามารถปรับใช้หลังรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายให้จัดงานต่างๆ ได้ นอกจากนี้ในช่วง COVID-19 บริษัทมีการจัดงานปาร์ตี้รูปแบบอื่นๆ เช่นปาร์ตี้ที่บ้าน หรือการให้วงดนตรีที่เล่นในร้านต่างๆ มาเล่นดนตรีแล้วถ่ายทอดสดให้ผู้สนใจรับชม
แบบอย่างต้องมี-เน้นความปลอดภัย
ขณะเดียวกัน ZAAP Party มีการนำตัวอย่างการจัดกิจกรรมต่างๆ ในต่างประเทศในช่วง COVID-19 มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการปาร์ตี้แบบ Drive-In หรือการจัดงานคอนเสิร์ตที่มีนั่งร้านเพื่อเว้นระยะห่าง โดยทั้งหมดนี้ทางทีมงานจะบันทึกไว้ และปรับให้เหมาะสมหากทุกอย่างสามารถดำเนินการได้
“ถ้าเราไม่มีแบบอย่าง เวลาไปพรีเซนต์ผู้ใหญ่มันยากแน่นอน เพราะสื่อสารให้พวกเขาเห็นภาพได้ลำบาก แต่แค่นั้นก็ไม่พอ การจัดอีเวนท์ในเวลานี้ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของสุขภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเว้นระยะห่าง หรือการตรวจสุขภาพ และเมื่อวิกฤต COVID-19 ในไทยเริ่มคลี่คลาย ZAAP Party ก็เริ่มเดินหน้าธุรกิจเต็มกำลัง”
งานแรกที่ ZAAP Party จัดหลัง COVID-19 คือ TUK TUK Festival ผ่านแนวคิด Drive-In ที่ช่วยเว้นระยะห่างทางสังคมได้ แต่เพื่อสื่อสารความเป็นไทยจึงใช้รถตุ๊กตุ๊กแทน และตัวงานได้คะแนน SHA หรือมาตรฐานท่องเที่ยวมั่นใจปลอดภัยด้วยสาธารณสุข ที่สำคัญยังเป็นอีกตัวอย่างการจัดงานในระดับโลก
ต้องกระตุ้นความอยากของลูกค้า
“ช่วงแรกของการจัดงาน TUK TUK Festival เราคิดไว้แล้วว่ามันน่าจะดังในต่างประเทศ แต่สรุปแล้วคนไทยเองก็อยากมาร่วม เพราะอยากนั่งรถตุ๊กตุ๊กดูคอนเสิร์ตสักครั้งในชีวิต ยิ่งตัวงานไม่ได้ขายบัตร ทำให้มีผู้สนใจจำนวนมาก และการกระตุ้นความอยากของลูกค้านี้เองทำให้ ZAAP Party มีงานเข้ามาในช่วง COVID-19”
สำหรับงานที่สองของ ZAAP Party คืองาน Social This Camping ที่จัดคอนเสิร์ตโดยอิงจากการจัดระเบียบการใช้งานสวนสาธารณะในนิวยอร์กที่เจ้าหน้าที่จะตีเส้นวงกลมเพื่อเว้นระยะห่างผ่านการให้ผู้ใช้บริการนั่งอยู่ในวงกลมที่กำหนดเท่านั้น ส่วนการพัก ทางผู้เข้าร่วมงานจะนอนในเต็นท์ ถือเป็นการเว้นระยะห่างโดยอัตโนมัติ
และงานที่จะจัดเร็วๆ นี้คือ Hotel Fest งานคอนเสิร์ตที่อิงจากช่วงการกักตัวในอิตาลีที่มีนักดนตรีเล่นเพลงรับส่งกันตามห้องต่างๆ โดย ZAAP Party นำมาประยุกต์เป็นให้ศิลปินแสดงคอนเสิร์ตอยู่บริเวณชั้นหนึ่งของโรงแรม ส่วนผู้ชมสามารถรับชมได้จากในห้อง ถือเป็นการเว้นระยะห่างโดยอัตโนมัติเช่นกัน
เพิ่มภาพลักษณ์-แบ่งทีมใหม่ในองค์กร
“งานที่เราจัดทั้งหมดนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ, ภาพลักษณ์ และการกระจายรายได้ เช่นงาน TUK TUK Fest เราช่วยคนขับตุ๊กตุ๊ก, ทีมงานข้างนอกที่มาช่วย, และพ่อค้าแม่ค้าระแวกงานมีรายได้ ดังนั้นการวางแผนงานในรูปแบบนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้เช่นเดียวกัน”
ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้า ZAAP Party ไม่แบ่งองค์กรเป็นสองทีม คือทีมดูแลงาน New Normal หรืองานที่จัดในช่วง COVID-19 กับอีกทีมที่ดูแลงานที่วางแผนมานานแล้ว เช่นอีเวนท์ใหญ่ที่ปกติแล้วต้องจัดทุกปี เพื่อสร้างความสมดุลให้กับธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งงานอีเวนท์ใหญ่ที่จัดเป็นประจำนั้นเป็นรายได้หลักของบริษัท
“จะให้ผมรอวัคซีนคงไม่ได้ ถ้าจะเปรียบให้เข้าใจง่ายๆ ธุรกิจอีเวนท์เจอวิกฤตที่เราคาดไม่ถึงตลอดเวลา เช่นฝนตก, ไฟดับ หรืออื่นๆ ดังนั้นเราต้องนำทักษะในการปรับตัวจากเหตุการณ์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับ COVID-19 ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และคิดว่าบริษัทอีเวนท์รายอื่นน่าจะพยายามนำทักษะนี้มาปรับใช้เช่นกัน”
จากฝัน IPO สู่เป้าหมายวันต่อวัน
ทั้งนี้ “เทพวรรณ” เคยมีเป้าหมายนำ ZAAP Party เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ด้วยการระบาดของ COVID-19 ทำให้ความฝันนี้ต้องพักเอาไว้ก่อน พร้อมกับการกลับมามองภายในบริษัท เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพปกติที่สุด และเดินหน้าได้เต็มรูปแบบในวิกฤตนี้
“ตอนนี้เรามองไกลขนาดนั้นไม่ได้ ต้องกลับมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้ปกติ, รับพนักงานเก่งๆ เข้ามาในองค์กรให้ได้ และที่สำคัญคือไม่มีหนี้ ที่สำคัญเราเตรียมสร้างงานใหม่ๆ เช่น Food Festival เพื่อหาโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้เช่นเดียวกัน”
ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลงของ ZAAP Party บริษัทอีเวนท์ออกาไนเซอร์อายุไม่ถึง 10 ปี แต่จัดงานเล็กใหญ่มาเป็นจำนวนมาก และน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับบริษัทอีเวนท์ออกาไนเซอร์รายอื่นได้เช่นเดียวกัน เพราะกลยุทธ์การปรับตัวของ ZAAP Party แสดงให้เห็นว่ามันใช้ได้จริง และสร้างให้บริษัทยังเดินหน้าต่อไปได้
สรุป
ZAAP Party เป็นบริษัทอีเวนท์ที่น่าจับตา เพราะจากโปรโมเตอร์ สู่อีเวนท์ออกาไนเซอร์ ทำให้ ZAAP Party มีประสบการณ์ในการจัดงานที่หลากหลาย และปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงได้อย่างดี ที่สำคัญบริษัทยังใช้กลยุทธ์แบ่งทีม New Normal กับทีมปกติ ทำให้การเดินหน้าธุรกิจทำได้ทั้งงานในวิกฤต และงานระยะยาวพร้อมกัน
ข้อมูลเพิ่มเติม // ZAAP Party ก่อตั้งเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน จากการจัดงานคอนเสิร์ตการกุศลในช่วงมหาวิทยาลัยปีที่ 3 ของ “เทพวรรณ” แต่ด้วยการจัดการที่ผิดพลาดทำให้เขาต้องขอยืมเงินพ่อของเขามา 9 แสนบาท เพื่อจัดงานนี้ให้ได้ และการเป็นหนี้ครั้งนี้ทำให้เขาคิดใหม่ โดยปรับมาจัดงานปาร์ตี้สำหรับคนรุ่นใหม่ ก่อนต่อยอดธุรกิจสู่โปรโมเตอร์ และอีเวนท์ออกาไนเซอร์ที่รับผิดชอบงานมาแล้วกว่า 600 งาน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา