ไม่ว่าจะเป็นรถแข่งที่โลดแล่นอยู่บนสนามหรือรถทั่วไปที่วิ่งบนถนน ถ้าซูมอินเข้าไป จะเจอส่วนประกอบชิ้นเล็กแต่สำคัญมากอย่าง “โช้ค” หลายคันประกอบขึ้นจากโช้คของแบรนด์ YSS ที่เป็นแบรนด์ไทยแต่ไปดังไกลถึงต่างประเทศ
ในสนามแข่งรถกว่าจะถึงเส้นชัยต้องมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เส้นทางของธุรกิจของ YSS ก็เช่นเดียวกัน Brand Inside มีโอกาสได้คุยกับ ภิญโญ พานิชเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วาย.เอส.เอส. (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะโช้คแบรนด์ไทยที่เริ่มโกอินเตอร์ในยุโรปจากตลาดเยอรมนีในยุคที่ชาวต่างชาติเจอกับคำว่า “Made in Thailand” แล้วยังงง
เริ่มด้วยการพลิกวิกฤติ (ต้มยำกุ้ง) ให้เป็นโอกาส
ภิญโญ เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของ YSS ว่า บริษัทเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2526 โดยใช้ชื่อว่า T.S.K. Factory ในตอนนั้นยังผลิตแค่โช้คอัพสำหรับมอเตอร์ไซค์ขายในตลาดประเทศไทย จนตัวภิญโญได้เข้ามาร่วมทำงานในปี 2538 ที่มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีครั้งใหญ่สำหรับโรงงานที่ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ และเริ่มโฟกัสการส่งออกมากขึ้น
“เราเริ่มมาส่งออกมากขึ้นในปี 2539 แล้วมาเจอวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 มีสารพัดเรื่องที่ต้องแก้ปัญหา แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส เพราะเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีกับธุรกิจส่งออก ธุรกิจก็ดีขึ้นเรื่อยๆ”
ปี 2541 เริ่มส่งออกทั้งไปอาเซียน ยุโรปบางประเทศ เช่น อังกฤษ กรีก แต่พอมาถึงจุดหนึ่งก็ต้องชะงักอีกรอบเพราะเทคโนโลยีที่มีอยู่ยังก้าวหน้าไปไม่ถึง ผลิตโช้คของมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก ไม่เกิน 250cc ที่ตอบโจทย์แค่ในประเทศไทย
อุปสรรคที่ 2 นำมาสู่ความพยายามดิ้นรน จนภิญโญและ YSS ได้เจอพันธมิตร คือ มิสเตอร์แฮร์รี่ ชาวฮออลแลนด์ผู้เป็นเหมือนหมากตัวสำคัญที่ถ่ายทอด Know-How ให้ธุรกิมาตั้งแต่ปี 2548
“เรามีโรงงาน มีธุรกิจ เขามี Know-How เลยได้ทำงานร่วมกัน ถ่ายทอดเรื่องเทคโนโลยีและร่วมทุน พอเขาถ่ายทอดให้เรา เราเริ่มพัฒนาโช้คสำหรับรถบิ๊กไบค์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ YSS ต้องการเจาะตลาดยุโรปที่เป็นตลาดใหญ่ของบิ๊กไบค์”
เจาะไข่แดงที่เยอรมนี ตลาดที่หินที่สุดในยุโรป
“ทุกคนไม่รู้จัก Made in Thailand ไม่รู้จักประเทศไทย”
ต้องใช้เวลาทำความรู้จักกัน ทดลองสินค้า ทดลองตลาด และตัดสินใจบุกตลาดเยอรมนีแบบเต็มตัว เพราะเป็นเจ้าพ่อยานยนต์ของยุโรปทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์
“2 ประเทศในโลกนี้ที่แข็งเลย คือ ญี่ปุ่นกับเยอรมนี เขาผลิตมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ แล้วเราเป็นประเทศในเอเชีย เอเชียสมัยก่อนเขายอมรับแค่ญี่ปุ่น ประเทศไทยยังโนเนมมาก ถ้าเราเจาะเยอรมนีที่เป็นจุดที่แข็งที่สุดได้ ที่อื่นก็ง่าย กลับกันถ้าเราไปเริ่มในประเทศเล็ก ๆ ก่อน การขยายตลาดจะยากทุกประเทศ นี่เป็นวิธีคิดอย่างหนึ่งว่าเราจะยอมเหนื่อยในครั้งแรก แล้วครั้งต่อไปสบาย หรือว่าจะเหนื่อยขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี”
เจ้าพ่อยานยนต์อย่างเยอรมนีมีมาตรฐานคุณภาพสินค้าในระดับสูง เรียกว่ามาตรฐาน ABE จะทำการค้าด้วยต้องผ่านมาตรฐานนี้เท่านั้น YSS ใช้เวลา 2 ปีในการพัฒนาสินค้า พัฒนากระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพตามที่เยอรมนีต้องการ พอได้ส่งสินค้าไปทดสอบ ผลก็คือผ่าน เลยได้เริ่มขายโช้คในเยอรมนี จากนั้นขยายไปประเทศอื่นต่อเพราะมีใบเบิกทางแล้ว ขณะที่ในโลกนี้มีไม่กี่แบรนด์ที่ผ่านมาตรฐาน ABE
อุปสรรคยังไม่จบ เพราะเจ้าบ้านส่งของได้เร็วกว่า
ภิญโญเล่าให้ฟังต่อว่า เส้นทางของ YSS ไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะกว่าจะประสบความสำเร็จในยุโรป ก็เจออุปสรรคมาตลอด อีกหนึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นคือ ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าที่แพ้คู่แข่งในช่วงแรกเพราะทุกแบรนด์อยู่ในยุโรปกันหมดทำให้ส่งของได้เร็วกว่า
ตามปกติการส่งทางเรือรวมเวลาผลิตสินค้าด้วยแล้วใช้เวลาขั้นต่ำ 60-90 วัน ขณะที่แบรนด์คู่แข่งใช้เวลา 30–45 วันถึง YSS สู้กลับด้วยการเปิดออฟฟิศที่เยอรมนีเพื่อสต็อกสินค้าที่นั่น ด้วยการศึกษาตลาด 100 รุ่นไหนที่ขายดีเป็นอันดับแรกก็นำของมาสต็อกไว้ แต่ปรากฎว่าผ่านไป 3 เดือนแทบขายไม่ได้
ภิญโญให้เหตุผลว่า “รุ่นที่เรามีลูกค้าไม่ถาม ลูกค้าจะถามหารุ่นที่เราไม่มี เพราะเราเป็นแบรนด์ที่ 5 เมื่อลูกค้าต้องการโช้ค เขาไปหาแบรนด์ที่ 1 ก่อน ถ้าแบรนด์ที่ 1 มีสินค้า ก็จบ ถ้าไม่มีก็ไปหาแบรนด์ 2 3 4 ต่อไปเรื่อย ๆ ต้องผ่าน 4 ด่านถึงจะมาถึงเรา พอมาถึง YSS เป็นแบรนด์ที่ 5 โช้ครุ่นที่อยากได้จะเป็นรุ่นเก่า รุ่นหายาก”
เมื่อมองเห็นปัญหาแล้ว YSS ตัดสินใจยอมขาดทุน เลิกการเปิดออฟฟิศทันที แล้วเปลี่ยนกลับมาผลิตที่ประเทศไทย และส่งสินค้าทางเครื่องบินไปให้ลูกค้าแทน จากนั้นพัฒนาระบบการผลิต การสต็อกสินค้า ทำให้สามารถผลิตตามออเดอร์ได้ภายใน 7 วัน รวมขนส่งทางอากาศอีก 7 วัน รวมเป็น 14 วัน ถ้าติดขั้นตอนมากที่สุดรวมแล้วไม่เกิน 20 วัน สินค้าถึงมือลูกค้าแน่นอนซึ่งเร็วกว่าแบรนด์คู่แข่ง
จุดแข็งอยู่ที่ทีม R&D ที่มาจากทีมนักแข่ง
อีกความท้าทายคือ คุณภาพของสินค้าก็เป็นปัจจัยสำคัญ YSS มีทีม R&D ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ใน 8 ประเทศทั่วโลก คือ ไทย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สเปน เยอรมนี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่ทำงานด้วยกัน กระจายทั่วทุกภูมิภาค ขาดแค่ที่เดียวคือสหรัฐอเมริกา ที่จะตามมาเร็ว ๆ นี้
นอกจากเรื่องเวลาแล้ว คู่แข่งของ YSS ยังมีความแข็งแกร่งมากในเรื่องช่องทางการจัดจำหน่าย การมี Service Center ทำให้ต้องกลับมาพัฒนาสินค้าร่วมกับทีม R&D ที่มาจากทีมนักแข่งรถ เกิดเป็นแนวคิดของโช้คอัพแบบ Plug & Play ที่นำออกมาจากกล่อง ติดตั้งบนรถ และใช้ได้เลย ต่างจากเดิมที่ต้องเข้า Service Center เพื่อไปเซ็ตอัพก่อน
“ทีม R&D เรามาจากทีมนักแข่ง เขาต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ 100% ซึ่งแตกต่างจากโช้คอัพสำหรับรถที่ใช้งานทั่วไป เราจึงปรับให้เข้ากับความต้องการและรถแต่ละรุ่น ทำให้สามารถขายผ่านร้านอะไหล่รถได้เลย ไม่ต้องผ่านการเซ็ตอัพ”
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งจุดเด่นของ YSS ก็คือ Service Center ให้บริการมาตรฐานเดียวกัน 150 แห่งทั่วโลก เพราะว่าโช้คอัพอันหนึ่งมีราคาพอสมควร ลูกค้าหลายคนบอกว่าเวลาใช้แล้วเสีย หมดประกันแล้ว ก็อาจจะไม่ได้ซื้อใหม่แต่ซ่อมแทน ใน Service Center ก็จะมีเครื่องมือพิเศษสำหรับการซ่อมให้บริการและมีพนักงานที่ผ่านการเทรนแล้วให้บริการได้อย่างถูกต้อง
ถูกตั้งคำถาม คุณภาพมีแล้ว ผลิตภัณฑ์ Hi-end มีหรือยัง
ภิญโญ เล่าต่อว่า ถึงแม้ YSS จะได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพแล้ว แต่ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีโช้คอัพสำหรับรถทั่วไปแล้ว จะตีตลาดพรีเมียม ก็ต้องเข้าสู่ตลาดสนามแข่งรถ
“สินค้า Hi-end มีได้อย่างเดียวเลย คือ ต้องลงสนามแข่งเพื่อพิสูจน์คุณภาพ เริ่มต้นในญี่ปุ่นก่อน ที่ Moteki Endurance พอปีที่สอง เราผลิตโช้คอัพให้รถที่ได้แชมป์ 125cc เลยเป็นที่ยอมรับระดับหนึ่งว่าทำโช้คมีคุณภาพ”
จากนั้นจึงขยับไปรถที่ขนาดใหญ่ขึ้น จนปัจจุบัน YSS ผลิตโช้คให้กับแชมป์โลก Supersport 300 World Championship มา 4 ปีซ้อน ได้แชมป์การแข่งขันในอิตาลี นิวซีแลนด์ และเยอมนี รวมถึงได้แชมป์การแข่งขัน All-Japan ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ขนาด 250cc ที่ญี่ปุ่น
“ทั้งหมดนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า เราไปสู่ระดับ Hi-end ได้แล้ว จากนั้นมีคำถามต่อว่า แล้วเราดูแลหลังการขายยังไง เราเลยมี Racing Service Center ในสนามแข่งขันที่ดูแลทีมแข่งด้วยการเซ็ตอัพในสนาม คนเหล่านี้เองที่ปัจจุบัน 80% กลายมาเป็นทีมที่อยู่ใน R&D Center ให้เรา”
จากแบรนด์ไทยสู่การทำงานร่วมกับนักแข่งระดับโลก
ภิญโญ เล่าถึงการทำงานร่วมกับทีมนักแข่งระดับโลกว่า เคล็ดลับอยู่ที่ทีม R&D Center ที่มีประสบการณ์ในการเช็ตรถในสนามแข่งและมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับทีมนักแข่ง
YSS ได้ร่วมทำ Compare Test ในช่วง Pre-season โดยให้นักแข่งลองนำรถมอเตอร์ไซค์ลงไปทดลองลงสนามดูก่อน รอบแรก ยังไม่ใช้โช้คของ YSS เปรียบเทียบกับรอบที่ 2 ที่ติดตั้งโช้คของ YSS เข้าไปด้วย มีการติดตั้งเครื่องมือที่เรียกว่า Data Lock เพื่อเก็บข้อมูลการเข้าโค้งว่าอยู่ในรูปแบบไหน โช้คยุบเท่าไร อัตราเร่งเท่าไร และเชื่อมต่อข้อมูลลงบนระบบคอมพิวเตอร์
“ข้อมูลจะบอกชัดเจนจากการทดสอบว่า โช้คของ YSS ให้ผลที่ดีกว่า ถ้าวัดความเร็วทางตรงอยู่ที่ความแรงของเครื่องยนต์ แต่สำหรับการเข้าโค้ง ช่วงล่างคือตัวชี้วัด ใครเข้าโค้งดีกว่า ลึกกว่า ควบคุมรถได้ดีกว่า โอกาสชนะก็เพิ่มขึ้น”
ปัจจุบัน YSS ก็มีส่วนร่วมในดินแดนแห่งการแข่งขัน Motorsport คือ อิตาลีและสเปน ทำให้ตัวเลขยอดขายเติบโตทุกปีเป็นเลข 2 หลัก
YSS วันนี้ไปถึงอนาคต
ตอนนี้ YSS มีสินค้าให้บริการประมาณ 8,000 รายการ ถ้านับพวกชิ้นส่วนมีกว่า 10,000 รายการ กระบวนการการผลิตใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ERP เชื่อมต่อด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่การรับออเดอร์ลูกค้า ไปจนถึงการส่งของถึงมือลูกค้า
ส่วนในคลังสินค้า ปัจจุบันใช้ระบบ Automatic Warehouse ที่เรียกว่า ASRS ทำให้ไม่ต้องใช้คนทำงาน แต่ใช้ระบบทำงานแทน ปลอดภัยกับพนักงานมากกว่า
สำหรับแผนการในอนาคต YSS ที่มองว่าตัวเองมีจุดแข็งเรื่องการทำโช้คสำหรับมอเตอร์ไซค์ ก็ได้เริ่มก้าวเท้าเข้าสู่ตลาดรถยนต์มาประมาณ 5 ปี ตลาดที่ YSS มองไว้จะเน้นรถกระบะและ PPV ก่อน พัฒนาโช้คอัพให้รองรับการใช้งานที่แตกต่างกัน ช่วยให้รถมีความสมดุล เกาะถนน ควบคุมได้ง่ายขึ้น
ส่วนเรื่องความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับ YSS ไม่ได้รับผลกระทบเพราะไม่ว่ารถจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานอะไร ช่วงล่างก็ยังต้องมีและต้องรองรับการใช้งานที่ดีที่สุดด้วย ขณะที่เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ของระบบโช้ค YSS ก็มีการศึกษาและพัฒนาอยู่ตลอดเช่นกัน
ไม่ต้องรู้จัก Made in Thailand ก็ได้ แค่มาสัมผัสว่าคนไทยมี Service Mind ก็พอ
“Made in Thailand จุดเริ่มต้นอาจเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เมื่อทุกคนต้องการสินค้าคุณภาพ ไม่ว่าจะ Made in ที่ไหน ถ้าผลิตสินค้ามีคุณภาพมีมาตรฐาน ลูกค้าก็ซื้อ”
ภิญโญ แสดงความเห็นในฐานะธุรกิจโช้คแบรนด์ไทยที่เจาะตลาดต่างประเทศจนเป็นหนึ่งในผู้นำตลาด และย้ำด้วยว่าจุดเด่นของไทยคือ Service Mind ซึ่งคู่แข่งต่างชาติไม่มี
“เราบริการลูกค้าด้วย Service Mind เขาเห็นว่าเราใส่ใจเหมือนครอบครัวเดียวกัน จากจุดนี้ ทำให้ลูกค้าไว้ใจเรา ซึ่งถ้าเป็นสังคมที่อื่นเขาไม่ทำ แต่เราทำ จากจุดอ่อนที่บอกว่าเป็น Made in Thailand มาจับจุดแข็งที่ Service Mind ไปแก้”
ภิญโญ ได้ทิ้งท้ายสำหรับผู้ประกอบการไทยไว้ว่า การประสบความสำเร็จในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยาก ถ้ารู้จักปรับตัว และสำคัญคือ ล้มแล้วต้องลุก ถ้ายังไม่สำเร็จ ก็ต้องนำมาพัฒนา มาปรับปรุงต่อ
ทั้งหมดนี้ คือ วิถีทางการดำเนินธุรกิจแบบ YSS บริษัทโช้คที่กำเนิดจากไทย และเติบโตในต่างประเทศ ธุรกิจที่เลือกเจาะตลาดสุดหินอย่างเยอรมนี และพลิกอุปสรรคเรื่องความเป็นไทยให้กลายมาเป็นจุดแข็งด้วย Service Mind เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าไปทั่วโลก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา