ทรู คอร์ปอเรชั่น ผนึก 5 พันธมิตรเปิดแคมป์ผู้นำเยาวชน Young Safe Internet Leader Hybrid Camp ปีที่ 5 เชิญเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร่วมสร้างภูมิคุ้มกัน และหยุดยั้งความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ พร้อมออกแบบบริการสาธารณะเพื่อ #ให้สื่อลามกเด็กจบที่รุ่นเรา
ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดค่าย YSLC ปีที่ 5
ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมด้วย 5 หน่วยงานประกอบด้วย ยูนิเซฟ (UNICEF) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) เชิญชวนเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร่วมสร้างภูมิคุ้มกัน-หยุดยั้งความเสี่ยงบนโลกออนไลน์-ออกแบบบริการสาธารณะเพื่อ #ให้สื่อลามกเด็กจบที่รุ่นเรา
สำหรับแคมป์ YSLC ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยนับเป็นครั้งแรกที่จัดในลักษณะ Hybrid กล่าวคือ เป็นการจัดระดมความคิดในรูปแบบ Hackathon ซึ่งเป็นกิจกรรมการแข่งขันเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ภายใต้โจทย์ที่ได้รับ ภายในระยะเวลาจำกัดตามที่ผู้จัดงานกำหนด ซึ่งสำหรับ YSLC ในปีนี้ โจทย์ที่เป็นธีมหลักในปีนีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กบนโลกออนไลน์ (Online Child Sexual Exploitation)
กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมแฮกกาธอนเพื่อพัฒนาบริการสาธารณะ (Public Service Design Hackathon) ครั้งแรกของไทย เป็นการประยุกต์ใช้แนวคิด Service Design ร่วมกับ Hackathon เพื่อให้บริการสาธารณะตอบสนองความต้องการของเหยื่อที่เป็นเยาวชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการกระบวนการรับแจ้งเหตุและการสืบสวนสอบสวน ป้องกันการผลิตซ้ำ (Reproduction) ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการยุติธรรม
ผนึกจุดแข็งของทรู และดีแทค
ค่ายผู้นำเยาวชน Young Safe Internet Leader Hybrid Camp นั้น ยังเป็นกิจกรรมที่เกิดจากการผนึกจุดแข็งของดีแทคและทรู ผ่านการสานต่อเจตนารมย์ในการขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลที่เท่าเทียม (Digital Inclusion) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและดิจิทัล โดยตั้งเป้าหมายในการเข้าถึงประชากรกว่า 37 ล้านคนในไทย ภายในปี 2573 ผ่านโครงการที่มุ่งขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลที่เท่าเทียม อาทิ โครงการ Safe Internet และทรูปลูกปัญญา
เยาวชนที่เข้ากิจกรรมดังกล่าวจะได้เรียนรู้สถานการณ์การแสวงหาประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศเด็กบนโลกออนไลน์ ความท้าทาย และวิธีการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากผู้ปฎิบัติงานจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานภาคประชาสังคม
พร้อมทั้งเรียนรู้ขั้นตอนและทดลองออกแบบบริการสาธารณะ (Public Service Design) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมและต่อยอดพัฒนากระบวนการการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในฐานะผู้ได้รับผลกระทบหลักโดยตรง เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงในลำดับต่อไป
แบ่งออกได้เป็น 3 เฟส Hackathon
Hack#1 อัพสกิล-รู้เท่าทันความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ ทำความเข้าใจคำศัพท์และขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กบนช่องทางออนไลน์ ตลอดจนเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการออกแบบบริการสาธารณะ จากโจทย์ “เมื่อคลิปหลุดทำไง ช่วยน้องอย่างไรดี”
Hack#2 เจาะลึกสื่อลามกอนาจารเด็กทางออนไลน์ ภัยร้ายที่คาดไม่ถึง เปิดโอกาสให้ผู้สมัครทำความเข้าใจปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเด็กออนไลนผ่านพื้นที่ “ค่ายออนไลน์” พร้อมให้น้องๆ ร่วมพัฒนาบริการสาธารณะในการจัดการกับปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเด็กบนโลกออนไลน์ ตลอดจนโอกาสในการพบปะเพื่อนใหม่ๆ พร้อมรับประกาศนียบัตรเมื่อผ่านกิจกรรม
Hack#3 รอบชิงชนะเลิศ ประสบการณ์ครั้งสำคัญที่เด็ก ม.ปลาย ต้องลอง! ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จะได้มาร่วมกิจกรรมแฮกกาธอนแบบออนไซต์ ทั้งยังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ ได้รับการฝึกทักษาะการแก้ไขปัญหา การออกแบบ การนำเสนอ ที่นำไปใช้ได้จริงในชีวิต
สำหรับทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 มูลค่า 20,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 มูลค่า 10,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจ สามารถสมัครได้แล้ววันนี้ถึงวันที่ 15 เมษายนนี้ โดยจะต้องเป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และรับสมัครเป็นทีม ทีมละ 3-5 คน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://safeinternetlab.com/challenge/20
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา