Y&R Thailand เผยผลวิจัย BAV 2018 : วัดชีพจรแบรนด์ สแกนจริตคนไทย เผยทัศนคติคนไทยที่มีต่อแบรนด์ รวมทั้งสะท้อนพฤติกรรม และค่านิยมของผู้บริโภคคนไทย
งานวิจัยครั้งนี้ทาง Y&R Thailand ได้ใช้เครื่องมือ BAV ในการทำวิจัยเชิงปริมาณ สำรวจออนไลน์กับกลุ่มตัวอย่างระหว่าง 18-65 ปี ทั่วประเทศไทย จำนวน 13,380 ตัวอย่าง สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์จำนวน 1,220 แบรนด์ ครอบคลุม 120 หมวดสินค้า และบริการ
ซึ่งงานวิจัยครั้งนี้ยังได้เห็นถึงทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ สรุปออกมาได้ 5 หัวข้อ เป็นสิง่ที่นักการตลาดควรรู้ และนำไปปรับใช้ในการสร้างแบรนด์ในปัจจุบัน และอนาคต
-
คนไทยเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายขึ้น แต่ศรัทธาน้อยลง
ผลวิจัยพบว่าผู้บริโภคไทยรู้สึกเข้าถึงแบรนด์ต่างๆ ง่ายขึ้น แต่เขามีความรู้สึกว่าเชื่อมั่นต่อแบรนด์โดยรวมลดลงจาก 85% เหลือ 77% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ส่งผลให้เกิดช่องทาง และรูปแบบการสื่อสารบนโลกดิจิทัล หลายๆ แบรนด์จึงเร่งรีบไล่ตามกระแสสังคม เข้าหาผู้บริโภคเพื่อสร้างการรับรู้จนลืมคิดถึงจุดยืนของตัวเอง เกิดเป็นสภาวะ “จุดยืนแบรนด์บกพร่อง” ก็คือ ผู้บริโภคไม่สามารถรู้ถึงจุดยืนของแบรนด์ที่แท้จริงว่ามีบทบาทต่อชีวิตเขาอย่างไร จนทำให้แบรนด์ไม่เป็นที่จดจำในใจผู้บริโภค และขาดการศรัทธาในแบรนด์
เพราะฉะนั้นแบรนด์จึงต้องหาจุดสมดุลระหว่างจุดยืนของตัวเอง กับการเล่นตามกระแสเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค ต้องรู้จักสร้างแบรนด์เลิฟควบคู่กันไป
-
คนไทยภูมิใจ และยอมรับในแบรนด์สัญชาติไทย แต่ต้องสร้างสรรค์
จากข้อมูลวิจัยชี้ให้เห็นว่าคนไทยยอมรับ และภูมิใจในแบรนด์ไทยเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่เปิดใจรับแต่แบรนด์ต่างชาติ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเทียบเรื่องความคิดสร้างสรรค์ หรือความแตกต่างแล้ว ระหว่างแบรนด์ไทยกับแบรนด์ต่างชาติ พบว่าแบรนด์อินเตอร์มีความแตกต่างมากกว่า จึงเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ไทยในการพัฒนาขึ้นให้ทัดเทียมแบรนด์อินเตอร์ด้วยการสร้างความแตกต่างให้แบรนด์
-
คนไทย 3 วัยชื่นชอบแบรนด์เดียวกัน แต่มองเห็นคุณค่าในมุมแตกต่างกัน
ผลวิจัยพบว่าแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่ง ติดเป็นแบรนด์ในใจของคนกลุ่ม Baby Boomer, Gen X และ Gen Y เป็นแบรนด์เดียวกันเยอะ อย่างเช่น Adidas, Google และ Apple เป็นทั้งกลุ่มไลฟ์สไตล์ และเทคโนโลยี แม้จะชื่นชอบแบรนด์เดียวกัน แต่ว่าคนแต่ละวัยมีความรู้สึกต่อแบรนด์ในมุมที่แตกต่างกัน คือ กลุ่ม Baby Boomer รู้สึกว่าชอบแบรนด์เพราะให้ความรู้สึกมุ่นคง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในขณะที่กลุ่ม Gen X ชอบแบรนด์ที่สะท้อนตัวตน และมีความทันสมัย ส่วนคนกลุ่ม Gen Y ชอบแบรนด์เพราะช่วยเสริมความมั่นใจให้ตัวเอง ให้ความอิสระ และทำให้รู้สึกเป็นกลุ่มก้อน เข้ากับคนอื่นได้
-
เมืองไทยไม่ใช่มีแค่กรุงเทพฯ ไม่ควรทำการตลาดแบบเหมารวม
จำนวนประชากรในกรุงเทพฯ คิดเป็นเพียง 16% ของจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ ในขณะที่สัดส่วนของประชากรในต่างจังหวัดคิดเป็น 84% และมูลค่าการจับจ่ายของคนต่างจังหวัดมีมากถึง 307,000 ล้านบาท จากข้อมูลวิจัยพบว่าทัศนคติของคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดที่มีต่อแบรนด์ก็แตกต่างกัน สะท้อนมาจากการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง 10 แบรนด์ในดวงใจ
โดยคนกรุงเทพฯ มองว่าแบรนด์ที่ชอบว่ามีเอกลักษณ์ เป็นผู้นำที่เก่ง ในขณะที่คนต่างจังหวัดมองว่าแบรนด์ที่ชอบต้องมีลักษณะเป็นมิตร ไม่ถือตัว เข้าถึงง่าย และคอยช่วยเหลือ แต่ประเด็นที่คนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดมองเหมือนกัน คือ แบรนด์ที่โดดเด่นต้องมีลักษณะเป็นแบรนด์ที่ห่วงใยลูกค้า นำเสนอคุณค่าที่ดีให้กับผู้บริโภค
หากเจาะลงไปถึงมุมมองของกลุ่มคนโสด และคนแต่งงานแล้ว พบว่าทัศนคติที่มีต่อแบรนด์ก็แตกต่างกัน กลุม่คนต่างจังหวัดที่โสดมองว่าแบรนด์ที่ชอบจะต้องให้คุณค่าความสนุกสนาน แต่คนที่แต่งงานแล้วจะมองว่าแบรนด์ต้องสร้างความมั่นใจ ในขณะที่คนกรุงเทพฯที่โสด และแต่งงานแล้วจะมีมุมมองคล้ายๆ กัน คือ แบรนด์ต้องมีความเป็นผู้นำที่มีสเน่ห์
-
แบรนด์ต้องสตรองเชิงคุณค่า และมีบทบาทบนโลกโซเชียลด้วย
แบรนด์ที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมจะเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมครองใจมหาชน และมีอิทธิพลต่อคนในสังคม หรือสร้างกระแสนิยมใหม่ๆ ในสังคมได้ แต่แบรนด์ต้องมีบทบาทบนโลกโซเชียลด้วย ต้องมีแฟน และเอ็นเกจเมนต์บนโลกโซเชียลสม่ำเสมอ มีการพูดถึงในทางบวก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา