ปฏิวัติวงการของเล่น! เมื่อ YouTube มีอิทธิพลต่อความอยากซื้อ แถมมีผู้ผลิตน้อยรายที่เข้าใจ

ในอดีตความอยากซื้อของเล่นของเด็กทั่วโลกมักมาจากโฆษณาโทรทัศน์ หรือสื่อดั้งเดิมอื่นๆ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว เพราะวีดีโอบน YouTube ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปิดกล่อง หรือ Unboxing เริ่มเข้ามามีอิทธิพลมากกว่า

รีวิวของเล่น
รีวิวของเล่น // ภาพจาก YouTube ของ BriBri Fun House

เด็กๆ ใช้เวลากับหน้าจอมือถือกว่า 2 ชม./วัน

แม้จะมีการสื่อสารออกมาไม่ให้ผู้ปกครองปล่อยให้บุตรหลานใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะกับ Smartphone และ Tablet แต่มันก็ยากที่จะห้ามในยุคนี้ จึงไม่แปลกที่จะมีผลสำรวจออกมาว่า โดยเฉลี่ยๆ เด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ปีจะใช้เวลาอยู่บนอุปกรณ์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เป็นเวลา 2 ชม. 19 นาที/วัน

และไม่แปลกที่จะบอกว่าการใช้เวลาบนโลกออนไลน์นั้นส่วนใหญ่คือการรับชมวีดีโอบน YouTube แม้ว่า Google จะไม่ได้ออกมาบอกตรงๆ ว่าผู้รับชมกลุ่มเยาวชนนั้นใช้เวลาไปเท่าไรกับบริการดังกล่าว แต่ก็มีการสำรวจพบว่า 81% ของครอบครัวชาวอเมริกาปล่อยให้บุตรหลานที่อายุต่ำกว่า 11 ปี ดู YouTube

YouTube
เด็กดู YouTube // ภาพ pexels.com

แต่จริงๆ แล้วตัวแพลตฟอร์ม YouTube นั้นระบุว่าเหมาะสมกับผู้ชมที่อายุ 13 ปีขึ้นไป ถึง Google จะปล่อย YouTube Kids ออกมาที่มีแต่เนื้อหาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ แต่มันก็ยังมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหลุดออกมาบ้างตามข่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเนื้อหาเกี่ยวกับการ “รีวิวของเล่น”

ถึงเป็นภัย แต่มันคือโอกาสใหม่ของผู้ผลิตของเล่น

สำหรับฝ่ายที่มองว่าวีดีโอรีวิวของเล่นบน YouTube เป็นภัยเนื่องจากมันเป็นการโฆษณากับเด็กโดยตรง ซึ่งมันคงไม่เหมาะสมนักที่จะทำแบบนี้ แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการ “รีวิวของเล่น” บน YouTube คือช่องทางใหม่ในการสื่อสารข้อมูลของเล่นโดยผู้ผลิตไปยังเด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้านี้

เหตุที่มันเป็นช่องทางที่ดีก็เพราะ YouTube เป็นแพลตฟอร์มภาพเคลื่อนไหว และผู้อัพโหลดวีดีโอก็สามารถตกแต่ง หรือใส่เอฟเฟคต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้ชมได้ ยิ่งเป็นการรีวิวของเล่นด้วยแล้ว การพัฒนารูปแบบวีดีโอออกมาดีแค่ไหน มันก็ยิ่งดึงดูดให้เด็กๆ ติดตาม และก่อความอยากมีอยากได้ภายในใจของพวกเขา

ในทางกลับกันการรีวิวของเล่นนั้นก็สร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้กับ YouTuber มากมาย ตัวอย่างที่ดีคือ Ryan เด็กชายอายุ 8 ขวบที่ทำการรีวิวของเล่นต่างๆ บน YouTube จนมีรายได้กว่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 700 ล้านบาท) ในปี 2561 และยังมีนักเล่นสไลม์, คนทำวีดีโอเต้น และอื่นๆ ที่ทำเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กก็ได้ดีไม่น้อยไปกว่ากัน

แบรนด์ต่างๆ เริ่มปรับบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับการรีวิว

เมื่อการรีวิวของเล่นบน YouTube กลายเป็นช่องทางสำคัญในการดึงดูดให้เด็กๆ อยากได้ ทางแบรนด์ผู้ผลิตจึงเริ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือวิธีการทำตลาดใหม่ ซึ่งแบรนด์ที่เห็นได้ชัดก็คือ MGA ผู้ผลิต L.O.L. Surprise! Dolls หรือตุ๊กตาที่ถูกซ่อนอยู่ในบรรจุภัณฑ์ทึบรูปไข่ ทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถรู้ได้ว่าสิ่งที่ตัวเองซื้อมามันจะเป็นอะไร

“หลังจากเราเปิดตัวเมื่อปี 2559 ตัวยอดขายของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมีกระแสการรีวิวของเล่นบน YouTube มันก็ยิ่งส่งเสริมเราเข้าไปใหญ่ จึงไม่แปลกที่ L.O.L. Surprise! Dolls จะมียอดขายมากกว่าที่ Barbies เคยทำได้กว่าเท่าตัว” Isaac Larian ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ MGA กล่าว

อย่างไรก็ตามถึงกระแสการรีวิวของเล่นบน YouTube มาแรง แต่ก็ยังมีแบรนด์ของเล่นอีกมากที่ยังไม่ยอมปรับตัว และพยายามจะจำหน่ายในรูปแบบเดิม ทำให้แบรนด์เหล่านั้นเริ่มเสื่อมความนิยม และเกิดแบรนด์ของเล่นใหม่ๆ ขึ้นมามากมายในช่วงหลังจากนี้ จึงเชื่อว่าการปรับปรุงเรื่องบรรจุภัณฑ์ของของเล่นนั้นจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

สรุป

ในอดีตผู้บริโภคอาจมีช่องทางในการทำความรู้จักกับสินค้าก่อนซื้อค่อนข้างน้อย แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว เพียงแค่ค้นหาบน Google หรือเสิร์ชวีดีโอรีวิวบน YouTube ก็จะรับรู้ทันทีว่าสินค้าตัวนั้นเป็นอย่างไร ยิ่งตัวของเล่นแล้วมันก็ยิ่งจำเป็น เพราะเด็กๆ อยู่บน YouTube ค่อนข้างมาก แต่มันก็ต้องทำอย่างเหมาะสม ไม่ใช่จงใจโฆษณาจนเกินไป

อ้างอิง // VOX

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา