ใครจะมีแฟนก็มีไป แต่คนรุ่นใหม่มองว่าการเป็นโสดนั้นมีความสุขที่สุดแล้ว
จากงานวิจัยในวารสาร ‘Personality and Social Psychology Bulletin’ พบว่า ปัจจุบัน หนุ่มสาววัย 14-20 ปีรู้สึกพึงพอใจกับการเป็นโสดมากกว่าคนรุ่นก่อนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
นักวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เกิดในปี 2001-2003 มีอัตราส่วนการครองโสดสูงกว่าผู้ที่เกิดก่อนหน้าตนเองหนึ่งทศวรรษ (1991-1993) ถึง 5%
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มตัวอย่างที่เกิดในปี 2001-2003 ยังมีโอกาสที่จะเป็นโสดสูงกว่ากลุ่ม 1991-1993 ราวๆ 3% เพียงเพราะพวกเขาพอใจจะเป็นโสดมากกว่า
ในทางกลับกัน เมื่อเทียบความพึงพอใจในการเป็นโสดของคนอายุ 24-30 ปี กับ 34-40 ปี จะพบว่าผลลัพธ์แทบไม่ต่างกันเลย แสดงให้เห็นว่าคนในช่วงวัยนี้ได้รับผลกระทบเชิงสังคมวิทยาน้อยกว่าคนรุ่นใหม่
‘Tita Gonzalez Avilés’ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัย กล่าวว่า “เด็กรุ่นใหม่อาจเจอความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากในโรงเรียนก็มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเช่นกัน แถมพวกเขายังจมอยู่กับโซเชียลมีเดียนานกว่าคนรุ่นอื่น ดังนั้น การเป็นโสดจึงดูเป็นเรื่องปกติไปเลยสำหรับพวกเขา”
อัตราการสมรสน้อยลง ในขณะที่การหย่าร้างเพิ่มขึ้น จนเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัย
Tita และเพื่อนร่วมทีมอีก 3 คนเริ่มทำวิจัยเรื่องนี้ขึ้นมา เนื่องจากสังคมเรากำลังเผชิญกับอัตราการสมรสที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราการหย่าร้างและจำนวนครัวเรือนของคนโสดนั้นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จนเกิดข้อสงสัยว่า “หรือจริงๆ แล้วคนสมัยนี้พอใจที่จะอยู่คนเดียวมากกว่าคนยุคก่อนๆ”
Tita ยังเผยว่า “แม้ความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ รวมถึงการเป็นโสด จะกลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคม แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าการเป็นโสดมันทำให้ชีวิตมีความสุขมากกว่าจริงหรือเปล่า”
เมื่อเกิดคำถามขึ้นมา บรรดานักวิจัยจึงเริ่มสำรวจรูปแบบความสัมพันธ์และครอบครัวตามคาบระยะเวลา (Longitudinal Study) โดยเก็บข้อมูลในช่วง 2008-2011 กับ 2018-2021
กลุ่มตัวอย่างก็มาจากคนที่เกิดในปี 1971-1973, 1981-1983, 1991-1993 และ 2001-2003 เน้นความสนใจไปที่กลุ่มอายุ 14 ถึง 40 ปี ผู้มีสถานะโสดตลอดงานวิจัย
ในกระบวนการสำรวจ ผู้เข้าร่วมวิจัยจะถูกถามเกี่ยวกับ สถานะความสัมพันธ์ ความพึงพอใจในการครองโสด และชีวิตโดยรวม
นอกจากนี้ นักวิจัยยังนำปัจจัยอื่นๆ มาร่วมเวิเคราะห์ เช่น อายุ เพศ นิสัย โดยเฉพาะ ทักษะการเข้าสังคม และ ระดับความขี้กังวลของแต่ละคน เพื่อที่จะได้เข้าใจมากขึ้นว่าความโสดสามารถสร้างผลกระทบอะไรแก่พวกเขาบ้าง
ลักษณะนิสัยส่วนตัวก็มีผลกับความสุขในการเป็นโสด
จากงานวิจัย พบว่า แม้ความสุขในการเป็นโสดจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วคะแนนความพอใจของแต่ละวัยมันไม่ต่างกันชัดเจนขนาดนั้น และนิสัยส่วนตัวก็อาจเป็นปัจจัยด้วยเช่นกัน
โดยผู้ที่มีความวิตกกังวลสูงจะมีความพึงพอใจในการเป็นโสดและการใช้ชีวิตต่ำ ในขณะที่ความเฟรนด์ลีอาจไม่สามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดความสุขในความโสดได้ แต่เอามาเป็นตัวแปรความพึงพอใจในชีวิตได้แน่นอน
ในอนาคต ทีมนักวิจัยอาจลองวัดผลกระทบระยะยาวของความพึงพอใจในความโสดแล้วเอาไปเทียบกับวัฒนธรรมที่หลากหลาย และอาจลองเพิ่มประเด็นอื่นๆ เช่น การเป็นโสดด้วยความสมัครใจและไม่สมัครใจ หรือ มุมมองที่ผู้คนมีต่อการแต่งงานสร้างครอบครัว ด้วย
แหล่งอ้างอิง: PsyPost
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา