ออสเตรียเพิ่งได้นายกรัฐมนตรีหนุ่มคนใหม่อายุเพียง 31 ปี คำถามคือ กระแสผู้นำประเทศอายุน้อยนี้สะท้อนมุมมองอะไรให้เราเห็นบ้าง? ชวนอ่านข้อคิดเห็นจากปรากฏการณ์การขึ้นมาของผู้นำในโลกตะวันตกหลายแห่ง จากนั้นย้อนดูไทยและพลิกไปมองในมุมธุรกิจ
The World’s Trend of Young Leaders.
ช่วงหลังมานี้ เรามักจะได้ยินกระแส “ผู้นำประเทศอายุน้อย” กันมากขึ้น อย่างล่าสุด เซบาสเตียน คูร์ซ (Sebastian Kurz) หัวหน้าพรรคของประชาชน (People’s Party) จะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศออสเตรีย โดยมีอายุเพียง 31 ปี ทำให้กลายเป็นว่าที่ผู้นำประเทศที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก นอกจากนั้นตอนเขาอายุได้ 27 ปี เคยเป็นรัฐมตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่อายุน้อยที่สุดในโลกมาแล้ว
ย้อนไปก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤษภาคม ที่ประเทศฝรั่งเศสได้มีการจัดการเลือกตั้งรอบที่สองเพื่อต่อสู้กับมารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) ส่งผลให้ แอมานุแอล ฌ็อง-มีแชล เฟรเดริก มาครง (Emmanuel Jean-Michel Frédéric Macron) ที่มีอายุเพียง 39 ปี ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส และได้กลายเป็นประมุขแห่งรัฐฝรั่งเศสที่มีอายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่สมัยนโปเลียนเป็นต้นมา
ในขณะที่ประเทศแคนาดา จัสติน พีเอร์ เจมส์ ทรูโด (Justin Pierre James Trudeau) ชนะการเลือกตั้งในปี 2015 ทำให้เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนี้มีอายุ 45 ปี นับเป็นอีกคนหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมีอายุน้อย
ภาพผู้นำประเทศอายุน้อยสะท้อนอะไร? มองต่างประเทศ แล้วย้อนดูไทย
อันที่จริง ลำพังการขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศอายุน้อยได้ ความเก่งเฉพาะตัวอย่างเดียวไม่พอแน่ เพราะต่อให้เก่งแค่ไหน แต่ถ้าพื้นที่ทางการเมืองไม่เปิดก็หมดสิทธิ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าความเก่งเฉพาะตัวคือ การเปิดกว้างของระบบและกลไกในประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นต่อให้เก่งแค่ไหน อายุน้อยแค่ไหน ถ้าระบบไม่เอื้อก็ไม่โต ระบบที่ว่านี้หมายความรวมทั้งระบบกฎหมายและระบบที่ไม่เป็นทางการ เช่น การอุปถัมภ์กันเฉพาะในกลุ่มที่เชื่อมโยงทางสายเลือด เศรษฐกิจ หรือสถานะทางสังคม ฯลฯ
ภาพของผู้นำประเทศอายุน้อยจึงเป็นตัวสะท้อนการเปิดกว้างของระบบกลไกในประเทศ และไม่ใช่แค่เรื่องอายุเท่านั้น เรื่องเพศก็เป็นประเด็นสมัยใหม่ที่หลายประเทศและหลายองค์กรให้ความสำคัญ ย้อนไปในปี 2015 ตอนที่ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีหนุ่มของแคนาดาได้ตั้งทีมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ชาย 15 คน ผู้หญิง 15 คน โดยเขาให้เหตุผลในการตั้งคณะทำงานแบบ 50 : 50 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แคนาดาที่มีผู้ชายกับผู้หญิงจำนวนเท่ากันว่า “การจัดตั้งคณะทำงานแบบนี้สะท้อนความเป็นแคนาดาที่สุด”
ทีนี้ ย้อนกลับมาดูประเทศไทย ในยุคปัจจุบัน 2017 คณะรัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตอนนี้มีอายุ 63 ปี ส่วนคณะทำงานด้านกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีสมาชิก 250 คน มีการรวบรวมสถิติไว้ว่า มีค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 64 ปี ในจำนวนนี้มีคนที่อายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็น 75% ของทั้งสภา นอกจากนั้นถ้าแบ่งตามเพศจะได้เป็น เพศชาย 238 คน เพศหญิง 12 คน หรือคิดเป็นเพศชายถึง 95% และเพศหญิงมีเพียง 5% เท่านั้น
จาก “การเมือง” ถึง “ภาคธุรกิจ” ภาพลักษณ์-แบรนด์องค์กรในโลกยุคใหม่
เอาเข้าจริงแล้ว กลไกการจัดการองค์กรของภาครัฐ/ภาคการเมือง ก็คล้ายกันกับองค์กรธุรกิจเอกชน คือมีการจัดการองค์กรที่เป็นระบบ มีหัว มีหาง มีฝ่ายปฏิบัติการ มีผู้นำ เฉกเช่นเดียวกัน
พูดในเชิงธุรกิจ ภายใต้โลกยุคปัจจุบันที่หลายธุรกิจถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี หนึ่งในกลยุทธ์ในการแข่งขันคือการทำให้บริษัทเป็นที่ทำงานของคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อประโยชน์อย่างน้อยสองทางคือ หนึ่ง-เพื่อปรับตัวให้อยู่รอด และ สอง-เพื่อดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน
ผลสำรวจของ Moore Stephens เร็วๆ นี้ พบว่า บริษัทในอังกฤษกว่า 311,550 แห่งมีค่าเฉลี่ยอายุพนักงานต่ำกว่า 30 ปี เพิ่มขึ้นจาก 295,890 แห่งในสองปีที่ผ่านมา และต้องนับว่าเป็นสัญญาณที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะธุรกิจสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นต้องมาควบคู่กับเทคโนโลยีหรือที่เรียกว่าสตาร์ทอัพ ในขณะที่องค์กรเดิมๆ ก็ต้องปรับตัวไปในแนวทางดิจิทัลด้วยความจำเป็น การได้คนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาเป็นคนรุ่น Native Digital จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยสรุปก็คือ ผู้นำอายุน้อย เป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือของประเทศนั้นแน่ๆ แต่ที่น่าสนใจคือไม่ว่าจะในทางการเมืองหรือธุรกิจ ปัจจัยที่สำคัญคือระบบกลไกที่เปิดกว้างสำหรับคนหน้าใหม่ๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าโลกไม่ได้เป็นของคนแก่ แต่เป็นของคนหนุ่มคนสาวในแต่ละยุค สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
ฉะนั้น ถ้าไม่ปรับตัวในเชิงโครงสร้าง เพื่ออ้าแขนต้อนรับคนใหม่ๆ เข้ามาสู่วงจรของการพัฒนา และไม่ว่าจะในระดับของประเทศหรือองค์กร ก็นับว่าเสี่ยงมากต่อความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคที่ทุกอย่างเกิดการ disrupt อย่างไม่เลือกหน้าใครทั้งนั้น
อ้างอิง – DW.com, BBCTHAI, Prachatai, Independent, The Guardian, iLaw
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา