ทำงานลากยาวมาทั้งเดือน อยากจะพักผ่อนหย่อนใจ หรือมีธุระส่วนตัวเร่งด่วนอยากไปจัดการ วันลาคือคำตอบ มีทั้งลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อน ให้เลือกใช้ได้ตามสะดวก แต่ก็ใช่ว่าจะลาได้ดั่งใจ ยื่นใบลาแต่ละที ต้องผ่านด่านคำถามร้อยแปด “ลาไปไหนอะ?” “ธุระหรอ ธุระอะไรอะ?” “ต้องไปเองเลยหรอ คนอื่นไปแทนได้มั้ย?” ยังไม่รวมว่าลาแล้วก็เหมือนไม่ได้ลาจริง ยังมีแจ้งเตือนคอยถามถึงเรื่องงาน ทั้งที่อยู่ในวันลาแล้วแท้ ๆ ทำไมการลาถึงกลายเป็นเรื่องยุ่งยากแบบนี้ได้นะ?
เราลองมาดูวันหยุดหรือวันลาที่เราใช้กันบ่อย ๆ ในชีวิตจริงกันบ้าง อย่าง ลาป่วย ลากิจ และลาพักร้อน (ในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเรียกว่า วันหยุดพักผ่อนประจำปี) แต่ปัญหาที่หลายคนเจอ คือ หัวหน้าไม่ให้ลา ยื่นใบลาไปก็โดนปัดตกทิ้งไปเสียดื้อ ๆ ทั้งที่ใช้สิทธิ์ลาตามปกติของเรา หัวหน้าทำแบบนี้ได้หรือเปล่า?
- หากเป็นวันลาป่วย เราสามารถแจ้งลาป่วยได้ และไม่จำเป็นต้องยื่นใบรับรองแพทย์ หากไม่ได้ลาติดต่อกันเกิน 3 วัน
- หากเป็นลากิจ เราต้องขออนุญาตตามขั้นตอนของแต่ละบริษัท ซึ่งหัวหน้ามีสิทธิ์ที่จะอนุมัติหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าหากเราใช้สิทธิ์ตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย แล้วหัวหน้าไม่อนุมัติ โดยไม่มีเหตุผลมารองรับ อันนี้ไม่ได้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในวันที่ลูกจ้าง หยุดงาน ตาม ม.57/1 ในทางกลับกัน ถ้าหัวหน้ามีเหตุผลมารองรับ แล้วเราดื้อดึงหยุดวันนั้นเอาเอง นายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างในวันนั้น
- หากเป็นลาพักร้อน หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี กรณีคล้ายกันกับลากิจ แม้จะเป็นวันหยุดที่นายจ้างต้องมีให้ลูกจ้าง แต่ก็ต้องอนุญาตตามขั้นตอนของแต่ละบริษัทเช่นกัน นายจ้างก็ต้องมีเหตุผลมารองรับหากไม่อนุมัติ เช่น ลาหลาย ๆ วันติดกัน แล้วเกิดผลเสียต่อการทำงาน เป็นต้น
ทำไมต้องขอก่อน ยื่นลาแล้วไปเลยได้ไหม? หากซูมเข้าไปดู พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน แบบใกล้ ๆ เราจะเห็นคำว่า “กำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน” ซึ่งอาจตีความได้ว่า ไปตกลงแบบเข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายก่อนนะถึงจะหยุดได้ ถ้าเราเลือกที่จะหยุดงานโดยโนสนโนแคร์ความเห็นของหัวหน้า อาจเข้าข่ายการละทิ้งการงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 ซึ่งนายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกล่วงหน้าได้เลย
นี่อาจจะทำให้การลาแต่ละครั้งยากเย็นเหลือเกิน แต่จากมุมนายจ้างเอง ก็ต้องคอยดูแลภาพรวมของงานให้เป็นไปได้ด้วยดีในทุกสถานการณ์เช่นกัน แต่ปัญหาของการลาเหมือนจะไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อลาได้สักทีแต่ทำไมนะ ยังมีอีเมล ข้อความ เรื่องงานส่งมารัว ๆ เหมือนกับว่านี่ไม่ใช่วันหยุด แค่ย้ายที่ทำงานจากออฟฟิศเป็นบ้านหรือริมทะเลเฉย ๆ
เมื่อลาแล้วไม่ได้ลาจริง ยังมีข้อความตามเรื่องงานไม่ขาดสาย แม้แต่วันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือหลังเวลาเลิกงาน แน่นอนว่าเราสามารถเลือกที่จะไม่ตอบได้ โดยไม่มีความผิดใด ๆ ในทางกลับกัน หัวหน้าหรือบุคคลที่ส่งข้อความมาหลังเลิกงานนั้น นอกจากจะสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้แล้ว ยังผิดกฎหมายอีกด้วย
ในยุโรป มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Right to disconnect’ สิทธิที่จะตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลางาน โดยเริ่มต้นบังคับในยุโรป ตั้งแต่ปี 2003 เรียกได้ว่ามีการตื่นตัวต่อสิทธิของลูกจ้างมานานแล้ว แต่ไม่ต้องกังวลไป ในประเทศไทยของเราก็มีสิ่งที่ใกล้เคียงอยู่เหมือนกัน
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ได้เพิ่มเติมเนื้อหาใน มาตรา 23/1 ไว้ดังนี้
“เมื่อสิ้นสุดเวลาาทำงานตามปกติที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย ลูกจ้างมีสิทธิปฎิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใด ๆ กับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือล่วงหน้าไว้ก่อน
ลูกจ้างซึ่งทำงานที่บ้าน หรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง”
ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ว่าด้วยเรื่องสิทธิของลูกจ้างกันไปแล้ว แต่ปัญหายังไม่จบแค่นั้น เพราะนอกจากเรื่องของกฎหมาย มันยังมีเรื่องของความเป็นส่วนตัว ที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องของความรู้สึก ค่อนข้างจะนามธรรม แต่ยิ่งเป็นเรื่องของความรู้สึก มันยิ่งทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าหรือเปล่านะ? อาจเพราะโลกนี้ติดต่อสื่อสารกันง่ายมากขึ้น เราสามารถเชื่อมต่อกันได้ 24 ชั่วโมง แต่นั่นไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำให้เราสามารถเอาเรื่องงานมาพูดคุยกันได้ตลอดเวลา
แม้จะอ้างว่า แปะไว้ก่อนเฉย ๆ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่าน แต่คนที่เห็นแจ้งเตือนนั้นไปแล้ว ก็คงอดไม่ได้ที่จะมีอะไรค้างอยู่ในใจ เหมือนกับว่า การแปะงานทิ้งไว้แบบเร่งรีบของอีกฝ่าย กลับกลายเป็นการถ่ายโอนความกังวลใจให้ผู้รับแทน
หากคุณเป็นหัวหน้า แล้วถามถึงเหตุผลในการลาเพื่อมาพิจารณา workflow เมื่อลูกน้องคนนั้นไม่อยู่ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่การละลาบละล้วงถึงความเป็นส่วนตัว ไปจนถึงคำพูดแย่ ๆ ที่หลายคนอาจเคยเจอ “ลาไปไหน?” “ไปงานศพหรอ? เขาไม่มีคุณเขาก็จัดงานกันได้” “ไปแล้วเขาจะฟื้นขึ้นมาหรอ?” คงไม่ใช่การให้เหตุผลที่ดีนัก
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก ReachMail บริษัท Email Marketing Services ได้เผยว่า ชาวมิลเลนเนียลจะได้รับอีเมลทำงานนอกเวลาทำงานมากกว่าคนรุ่นอื่น ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็เป็นกลุ่มที่ส่งอีเมลนอกเวลางานน้อยที่สุดด้วย และกลุ่มคน Gen X เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มส่งอีเมลหลังเที่ยงคืนมากที่สุด อาจด้วยวิธีการทำงานของคน Gen X ที่เน้นการทำงานหนักเพื่อให้มีชีวิตที่ดี และยังไม่ได้สนใจในไอเดีย Work Life Balance มากนัก
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความแตกต่างของสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสภาพแวดล้อมของคน Gen X หรือ Baby Boomer ที่ต้องตั้งตัวมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีส่วนอย่างมากที่ที่ทำให้คนรุ่นก่อน มองเด็กรุ่นใหม่ไม่สู้งาน รวมถึงการปลูกฝังในสังคมไทย ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิและความเป็นส่วนตัวมาตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงข้ามกับช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาที่เรื่องนี้ถูกหยิบยกมาพูดถึงมาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีส่วนอย่างมากที่ทำให้การลา ที่ควรจะเป็นเรื่องง่าย กลายเป็นเรื่องน่าปวดหัว เพียงเพราะคำถาม “ลาไปไหน” บางคนอาจมองว่า ถามนิดถามหน่อยจะเป็นอะไรไป แค่พิมพ์ตอบมาเฉย ๆ คงไม่เสียเวลาอะไรมากนัก บางคนอาจมองว่า ก็ควรเคารพความเป็นส่วนตัวกันบ้าง
หากใครที่รู้สึกว่าเรื่องนี้กำลังรบกวนการทำงานของเราอยู่ สามารถแจ้งหัวหน้าหรือ HR เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีเรื่องให้ขุ่นข้องหมองใจกัน ถึงเวลาทำงานก็ทำอย่างเต็มที่ ถึงเวลาเลิกงานก็กลับไปพักผ่อนให้เต็มที่โดยไม่มีอะไรกวนใจเช่นเดียวกัน
อ้างอิง
Labour.go.th / mol.go.th / legal.labour.go.th / area8.labour.go.th / eurofound.europa.eu / inc.com
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา