สัปดาห์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เรียบร้อย หลังนายโยชิฮิเดะ ซูงะ (Yoshihide Suga) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีวัย 71 ปี ขึ้นมารับตำแหน่งแทนนายชินโซะ อาเบะ วัย 65 ปี ที่ต้องลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ หลังนั่งเก้าอี้นายกฯ มานานถึง 8 ปี สร้างสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด
การก้าวขึ้นมาของซูงะอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะเขาถือเป็น “มือขวา” ของอาเบะมายาวนาน และเป็นแกนหลักสำคัญที่ช่วยให้อาเบะขึ้นมาครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยที่สองในปี 2012 (รวมถึงชนะเลือกตั้งต่ออีก 2 รอบ เป็นนายกรวมทั้งหมด 4 สมัย) ในแง่นโยบายหรือแนวทางการบริหารประเทศของซูงะ จึงไม่น่าจะต่างจากสมัยของอาเบะมากนัก
สิ่งที่น่าสนใจกว่ากลับเป็น “พื้นเพชีวิต” ของซูงะ ที่แตกต่างกับอาเบะราวฟ้ากับเหว
ชินโซะ อาเบะ เกิดในตระกูลนักการเมืองระดับท็อป ตาของเขา โนบุสึเกะ คิชิ (Nobusuke Kishi) เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ที่กลายมาเป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ในปัจจุบัน รวมถึงเคยเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในปี 1957-1960 ในขณะที่ฝั่งปู่และพ่อของเขาเป็น ส.ส. ของจังหวัดยามางูจิ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นมายาวนาน และพ่อยังเคยเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการต่างประเทศด้วย
อาเบะ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำในโตเกียว และมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา จากนั้นเข้าทำงานในบริษัทเอกชนเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนเริ่มเข้าสู่อาชีพการเมือง โดยเป็นผู้ช่วยหรือเลขานุการของนักการเมืองคนสำคัญๆ ผ่านคอนเนคชั่นของตระกูล เขาได้เป็น ส.ส. สมัยแรกในปี 1993 หลังพ่อของเขาเสียชีวิต ตอนนั้นเขาอายุ 39 ปี
หากเปรียบชีวิตการเมืองของอาเบะ เป็นทายาทนักการเมืองตระกูลใหญ่ ที่เส้นทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ เส้นทางของซูงะ กลับแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว
ซูงะ เกิดในตระกูลเกษตรกรที่ทำฟาร์มสตรอว์เบอร์รี ในจังหวัดอาคิตะทางภาคเหนือ เขาเล่าว่าพ่อแม่ทำงานหนักเสมอ เมื่อเขาตื่นนอนยามเช้า พ่อแม่ก็เสร็จงานในฟาร์มแล้ว ชีวิตที่ยากลำบากในเขตภูเขาที่หนาวเย็น ทำให้เขามีความอดทนมาตั้งแต่เด็กๆ
ในฐานะบุตรชายคนโต ซูงะ กลับเลือกไม่สืบทอดกิจการฟาร์ม แต่เข้ามาทำงานในโตเกียวหลังจบมัธยม เขาทำงานในโรงงานผลิตกล่องกระดาษอยู่ 2 ปี เก็บเงินเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยส่งตัวเองเรียนจากการทำงานพาร์ทไทม์ทั้งกลางวันและกลางคืน (ซูงะเคยทำงานในตลาดปลาซึกิจิที่โด่งดังด้วย)
เพื่อนของซูงะในสมัยเรียนเล่าว่า เขาเป็นคนเงียบๆ แต่มีความมุ่งมั่นสูง ตัวอย่างคือเขาฝึกซ้อมเบสบอลอย่างหนักจนมีทักษะโดดเด่น หลังจากจบมหาวิทยาลัย ซูงะกลับไปทำงานที่จังหวัดอาคิตะบ้านเกิด แต่เลือกทำงานกับบริษัทเอกชนแทนกลับไปทำฟาร์ม
ชีวิตช่วงนั้นทำให้ซูงะเริ่มสนใจเข้ามาทำงานการเมือง เขาเล่าว่าเมื่อค้นพบว่าการเมืองเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนโลก ทำให้เขาสนใจมาทำงานการเมืองบ้าง แต่ในเมื่อเขาเป็นเด็กชนบทที่ไม่เคยมีคอนเนคชั่นใดๆ เขาจะเริ่มเข้าสู่การเมืองได้อย่างไร
สิ่งที่ซูงะทำคือ กลับไปยังศูนย์จัดหางานของมหาวิทยาลัย และสอบถามว่ามีนักการเมืองคนไหนบ้างที่จบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ วิธีการนี้ทำให้เขาได้งานเป็นเลขานุการของ ฮิโกะซาบุโระ โอโคโนงิ ส.ส. เขตโยโกฮามา ในปี 1975 ซึ่งตอนนั้นซูงะมีอายุ 26 ปี ซูงะเล่าว่ามองย้อนกลับไปแล้ว เขามีวิธีการหางานได้ดีทีเดียว
ซูงะ ทำงานเป็นเลขานุการอยู่นาน 11 ปี และลงสมัครการเมืองท้องถิ่นของโยโกฮามาในปี 1987 แม้ไม่ได้เป็นคนท้องที่หรือเครือญาติใดๆ แต่จากการทำงานหนัก เดินเคาะประตูบ้านกว่า 30,000 หลัง (หมดรองเท้าไป 6 คู่) เขาก็ชนะเลือกตั้ง
หลังจากอยู่ในการเมืองท้องถิ่นมา 8 ปี เขาก็ก้าวสู่สนามการเมืองระดับชาติ ได้เป็น ส.ส. ครั้งแรกในปี 1996 เดินเข้าสภาไดเอ็ต ตอนอายุ 47 ปี
ซูงะได้ร่วมคณะรัฐมนตรีชุดแรกของชินโซะ อาเบะ ตอนปี 2006 ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน ทำให้ทั้งสองคนใกล้ชิดกันตั้งแต่ช่วงนั้น ทั้งซูงะและอาเบะต้องพ้นจากรัฐบาลในปี 2007 แต่ก็ยังทำงานร่วมกันต่อเนื่อง จนกระทั่งอาเบะสามารถ “คัมแบ็ค” กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 2012 ซูงะจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จหลายอย่างของรัฐบาลอาเบะ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ
แม้มีบทบาทสำคัญในระดับเกือบสูงสุดของประเทศ แต่ชีวิตประจำวันของซูงะนั้นเรียบง่าย และมีระเบียบวินัยเป็นอย่างสูง เขาตื่นเช้ามาซิตอัพ 100 ครั้งทุกเช้า อ่านหนังสือพิมพ์เพื่อเช็คข่าวสำคัญของวันนั้น จากนั้นเปลี่ยนเสื้อเป็นชุดสูททำงาน และออกไปเดินเป็นเวลา 40 นาทีทุกวัน ซึ่งเขาทำเป็นประจำต่อเนื่องแม้เป็นวันที่ฝนตกก็ตาม
ซูงะเล่าถึงเบื้องหลังของการซิตอัพว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งเขามีปัญหาน้ำหนักทะลุเป็น 77 กิโลกรัม หมอบอกว่ามีผลต่อสุขภาพ เขาจึงตั้งเป้าหมายชีวิตที่ต้องพิชิตว่าจะลดน้ำหนักเหลือ 70 กิโล ซึ่งเขาสามารถทำได้ไม่ยาก สุดท้ายแล้วเขาลดน้ำหนักเหลือ 65 กิโลในเวลาเพียงแค่ 4 เดือน
หลังจากกิจวัตรประจำวันช่วงเช้า การทำงานในแต่ละวันของซูงะก็เต็มไปด้วยการประชุมและภารกิจต่างๆ แน่นตลอดวัน เขามีประชุมตอนรับประทานอาหารเช้า เที่ยง และรอบเย็นถึงอีก 2 ครั้งในทุกวัน ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ เขาจะลงพื้นที่ไปรับฟังความเห็นจากประชาชนในเรื่องที่เขาสนใจจะแก้ปัญหาในสัปดาห์ถัดไป
ถึงแม้เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตำแหน่งใหญ่โต แต่ซูงะกลับพักอยู่ในหอพักของ ส.ส. โดยไม่เคยกลับไปนอนค้างที่บ้านในโยโกฮามาเลยสักคืนเดียว (แถมก่อนนอนก็ซิตอัพอีก 100 ครั้ง) เขาให้เหตุผลว่าต้องการโฟกัสที่เรื่องงานให้มากที่สุด การนอนค้างอยู่ที่หอพักทำให้ไปทำงานได้เร็ว และพบเจอกับประชาชนได้มากที่สุด
ซูงะยังเป็นต้นฉบับของการพบปะประชาชนในท้องที่ ด้วยการยืนปราศรัยอยู่หน้าสถานีรถไฟ และยื่นแบบสอบถามว่าประชาชนสนใจให้แก้ปัญหาเรื่องใดบ้าง เมื่อเพื่อนร่วมพรรค LDP ทราบเรื่องนี้ ก็มายืมวิธีการไปใช้ตามบ้าง และประสบความสำเร็จไม่น้อย
ซูงะเป็นคนไม่ดื่มแอลกอฮอล์ แต่กลับชอบกินขนมหวานมาก ขนมที่เขาชอบคือ แพนเค้กและไดฟุกุ เขาและภรรยาเคยถึงขั้นไปต่อคิวร้าน Bills ของออสเตรเลียที่มาเปิดในญี่ปุ่น เพื่อรอกินแพนเค้ก Ricotta Hotcakes อันเลื่องชื่อมาแล้ว
โลกอาจคุ้นเคยกับซูงะมาก่อนได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เพราะเขาเป็นคนชูป้าย “ยุคเรวะ” เพื่อประกาศการเปลี่ยนผ่านของยุคตามราชบัลลังก์จักรพรรดิคนใหม่ ในปี 2019 เมื่อภาพนี้โด่งดังไปทั่วโลก ทำให้เขาได้ชื่อเล่นว่า “คุณลุงเรวะ” (Uncle Reiwa) ตามมา
ญี่ปุ่นในยุคของซูงะ ที่เริ่มต้นในปี 2020 จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ซูงะ ประกาศว่าจะสานต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของอาเบะ (Abenomics) ที่ยังไม่เสร็จสิ้น รวมถึงยังมีงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมจาก COVID-19 และการผลักดัน “โอลิมปิก 2020” ให้เกิดขึ้นให้จงได้
นายกรัฐมนตรี ซูงะ มีตัวตนบนโลกโซเชียล ทาง Faceook, Twitter และ Instagram
Deeply touched by so many warm messages of congratulations to @sugawitter, including from world leaders. Truly grateful. With the world facing numerous challenges such as COVID-19, I am determined to give everything I’ve got to address them, working hand-in-hand with you all.
— 菅 義偉 (@sugawitter) September 18, 2020
ข้อมูลบางส่วนจาก Nikkei Asian Review และ Japan Today
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา