Yggdrazil Group คือบริษัทที่ทำธุรกิจผลิตงานด้าน Virtual Effect หรือ VFX รวมถึงเกม และแอนิเมชันต่าง ๆ ของประเทศไทย และถือเป็นผู้บุกเบิกตลาดนี้อย่างจริงจังผ่านการทำธุรกิจมานานกว่า 20 ปี ซึ่งเวลานี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Soft Power งานศิลปะจากเทคโนโลยีย่อมช่วยเรื่องนี้ได้ไม่น้อย
อย่างไรก็ตามชื่อของ Yggdrazil Group อาจไม่รู้จักเป็นการทั่วไป แต่ถ้าบอกว่าบริษัทนี้คือเจ้าของเกม Home Sweet Home ที่กำลังจะถูกพัฒนาเป็นภาพยนตร์เร็ว ๆ นี้ ก็คงเริ่มนึกออก นอกจากนี้บริษัทดังกล่าวยังรับงานออกแบบโฆษณา และแอนิเมชันในเกมมากมาย เช่น งาน Cinematic ในเกม Final Fantasy อีกด้วย
Brand Inside จึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ Yggdrazil Group มากขึ้นผ่านการพูดคุยกับ ธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อิ๊กดราซิล กรุ๊ป หรือ YGG เพื่อทราบถึงจุดเริ่มต้นของการพาบริษัทไทยลุยต่างประเทศ และเป้าหมายในอนาคต รวมถึงการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย Soft Power ดังนี้
โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างเมื่อ 20 ปีก่อน
ธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อิ๊กดราซิล กรุ๊ป หรือ YGG เล่าให้ฟังว่า บริษัทนี้ตั้งขึ้นมาเมื่อ 20 ปีก่อน ผ่านการเน้นรับงานด้าน Vitual Effect ที่ใช้ในงานโฆษณา และภาพยนตร์ รวมถึงงานแอนิเมชัน เนื่องจากเห็นโอกาสทางธุรกิจผ่านสื่อบันเทิงที่เริ่มให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น
“เราเริ่มจากรับงานในประเทศก่อนทั้งโฆษณา, ภาพยนตร์ รวมถึงมิวสิควีดีโอ และเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการนี้เรื่อย ๆ จนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับ SME และเทคโนโลยีให้ออกไปโร้ดโชว์ในต่างประเทศ ซึ่งจุดนั้นเองทำให้เราได้เปิดโลกมากขึ้น และสร้างโอกาสทางธุรกิจเรามากกว่าเดิม”
สำหรับการออกงานในต่างประเทศประกอบด้วยงานเอ็กซ์โประดับโลกในประเทศต่าง ๆ เช่น จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น รวมถึงสหรัฐอเมริกา และเป็นการเดินทางไปออกบูทอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกประเภทของงานที่บริษัทรับผลิต จุดนั้นเองทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักอีกทางหนึ่ง
รับงานแรกเป็นงาน Cinemetic ในเกม
สำหรับงานแรกที่ Yggdrazil Group รับงานจากต่างประเทศคืองานเกี่ยวกับ Cinemetic ภายในเกม หรือภาพเคลื่อนไหวสวย ๆ ในเกม เช่น งานภาพเคลื่อนไหวในเกม Final Fantasy ถือเป็นงานแรก ๆ ที่เข้ามาเช่นกัน และจากนั้นมีการรับงานภาพเคลื่อนไหวที่ฉายในพื้นที่คล้ายท้องฟ้าจำลองของต่างประเทศที่ฉายด้วยกล้อง 360 องศา
“การรับงานต่างประเทศทำให้เราได้รับความรู้ และทักษะใหม่ ๆ เช่น ตัวกล้อง 360 องศา ที่เป็นเทคโนโลยีเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ก็ทำให้เราเข้าใจว่าเทคโนโลยีนั้นเป็นอย่างไร โดยตอนนั้นเป็นการทำสัตว์ดึกดําบรรพ์ไปฉายในพิพิธภัณฑ์ของเขา”
และหากเจาะไปที่งาน Final Fantasy ถือเป็นงานที่มีความท้าทาย แต่ด้วยทีมงานในเวลานั้นตื่นเต้น และต้องการทำงานนี้ สุดท้ายแล้วผลงานจึงออกมาดี และทางต่างประเทศให้ความพึงพอใจสูง ซึ่งผลตอบรับนั้นแลกมาด้วยฝั่งผู้ผลิตเกมเปิดเผยเนื้อหาที่ไม่เคยให้ใครดูมาก่อนเป็นการตอบแทน ถือเป็นสิ่งที่บริษัทภูมิใจเช่นกัน
หันมาทำเกมเพราะโอกาสโตมากกว่า
หลังจากทำ Virtual Effect และ Animation ไประยะหนึ่ง Yggdrazil Group เริ่มหันมามองธุรกิจเกี่ยวกับเกม เนื่องจากเป็นการประยุกต์สิ่งที่บริษัททำอยู่มาเขียนโค้ด พร้อมใส่การเล่าเรื่อง และวิธีการเล่น ที่สำคัญคือ ตลาดเกมนั้นใหญ่กว่าทั้งสองธุรกิจที่บริษัททำอยู่
“เกมมัน High-risk, high-return ดังนั้นการจะไปตลาดนี้เราต้องกำหนด Loss ให้ได้ เพราะถ้ากำหนดได้แล้ว โอกาสการเติบโตมันไม่จำกัด ตัวอย่างที่ดีคือ Home Sweet Home ที่เราเอาผีไทยมาประยุกต์เป็นเกม ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีคนทำ โดยเรากำหนด Loss ที่รับได้ ซึ่งผลที่ออกมาคือตัวเกมได้รับความนิยมไปทั่วโลก”
สำหรับตัวอย่างการกำหนด Loss เช่น การขอแค่มีผู้ใช้ดาวน์โหลด 1 ล้านรายจากทั่วโลก เป็นต้น ยิ่งต้นทุนการพัฒนาเกมของบริษัท กับบริษัทต่างประเทศนั้นห่างกันค่อนข้างมาก แต่บริษัททำตลาดไปทั่วโลก ดังนั้นโอกาสมันเปิดกว้างกว่า พร้อมย้ำว่าเราเป็นคนตัวเล็ก ไม่อยากไปแข่งกับค่ายเกมยักษ์ใหญ่อยู่แล้ว
- Yggdrazil เจ้าของเกม Home Sweet Home เปิดตัว Nine Eyes เกมใหม่ หวังเกาะกระแสเกมสะสมมอนสเตอร์เติบโต
- ผีไทยตีตลาดโลก! ส่องโอกาสการประยุกต์ผีไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ดึงเงินเข้าประเทศด้วยดิจิทัลคอนเทนต์
ร่วมมือพาร์ตเนอร์พัฒนาโปรดักต์
ปัจจุบัน Yggdrazil Group ยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบรับจ้างผลิตงานให้กับลูกค้าในไทย และต่างประเทศเป็นหลัก ผ่านการมีพนักงานราว 200 คน ควบคู่ไปกับการพัฒนา IP หรือทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เช่น เกม Home Sweet Home และจากนี้จะมีการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อพัฒนาโปรดักต์ร่วมกันมากขึ้น
หนึ่งในนั้นคือการร่วมมือกับ Cartoon Network บริษัทในเครือ Warner Bros. Discovery พัฒนาแอนิเมชันผ่านการร่วมกันลงทุน และบางส่วนของแอนิเมชันบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะดำเนินไปในทุกธุรกิจที่บริษัทรับผลิต หรือ Virtual Effect, เกม และแอนิเมชัน กับภาพยนตร์
“ถ้าเป็นการ์ตูนเราได้เห็นแล้ว แต่หลังจากนี้อาจไปจับตลาดเกาหลี, จีน และญี่ปุ่น ส่วนในฝั่งเกม เราเริ่มทำแฟรนไชส์ผ่านการใช้ชื่อ Home Sweet Home ในการต่อยอด เช่นการทำภาพยนตร์ ซึ่งกลยุทธ์นี้เราเริ่มา 2 ปีแล้ว และหลังจากนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้น”
ยกระดับทีมด้วยพนักงานหัวกะทิ
การเดินหน้าไปถึงเป้าหมายดังกล่าว Yggdrazil Group มีการดึงทีมงานที่อดีตเคยทำงานอยู่ในต่างประเทศเข้ามาอยู่กับบริษัท เพราะปัจจุบันคนไทยทำงานด้านนี้ในต่างประเทศจำนวนมาก และถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าคนไทนทำงานด้านนี้ได้ดี แล้วทำไมจะไม่ดึงคนเก่ง ๆ มาช่วยให้บริษัทเติบโต
“ระดับหัวหน้าของเราในตอนนี้เคยทำกับสตูดิโอต่างประเทศทั้งหมด หลัก ๆ คือพวกเขาไปเรียนรู้ที่ต่างประเทศจนอิ่มตัว และตัดสินใจกลับมาที่ไทย ซึ่งเป็นอีกเหตุผลที่ผมเปิดบริษัทนี้ขึ้นมาด้วย โดยการดึงพวกเขามา ผมมีการติดต่อกับคนเก่ง ๆ ในต่างประเทศอยู่ตลอด เช่น มีโปรเจกต์อะไรก็ทักไปถามว่าสะดวกหรือไม่ เป็นต้น”
ในอดีต Yggdrazil Group เคยมีพนักงานไทยที่มาจากต่างประเทศราว 10 คน ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 4-5 คน โดยพวกเขาเข้ามายกระดับการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น ส่วนจุดเด่นของคนไทยในต่างประเทศคือเรื่องความอดทน และทักษะที่หลากหลาย ไม่ได้เก่งแค่ด้านใดด้านหนึ่ง
รัฐช่วยสนับสนุนดันบริษัทไทยเข้าถึงแหล่งทุน
ในอดีตบริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายกับ Yggdrazil Group ค่อนข้างมีปัญหาในการเข้าถึงเครือข่าย และแหล่งทุนจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันหน่วยงานรัฐต่าง ๆ มีการให้การสนับสนุนมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนในการไปออกงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ทำอยู่
อย่างไรก็ตาม Yggdrazil Group ต้องการให้เกิดการสนับสนุนในรูปแบบตัวแทนของชาติ หรือเอเจนซี่กลาง เพื่อไปช่วยเจรจาระหว่างรัฐบาลไทย กับองค์กรต่าง ๆ ในต่างประเทศ คล้ายกับที่ทางการเกาหลีใต้เจรจากับ Netflix เพื่อวางแผนการถ่ายทำซีรีส์ต่าง ๆ เพื่อช่วยโปรโมตประเทศ เช่น ซีรีส์เรื่องนี้ต้องถ่ายทำในจังหวัดใด เป็นต้น
“มุมการสนับสนุนผ่านนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ Yggdrazil Group มองว่าต้องศึกษากันอีกระยะหนึ่ง โดยส่วนตัวผมได้เป็นอนุกรรมการฝั่งเกมของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ และแต่ละส่วนก็มีการตั้งทีมงานชัดเจน ซึ่งการเดินหน้าหลังจากนี้น่าจะทำได้ดีเช่นกัน”
จาก Disney มุ่งสู่การเป็น Nintendo
ธนัช ทิ้งท้ายว่า หลังจากดำเนินธุรกิจมากกว่า 20 ปี ในช่วงแรกของการทำธุรกิจอยากให้บริษัทเป็น Disney ของประเทศไทย เพราะเวลานั้นให้บริการเกี่ยวกับ Vitrual Effect และ Animation แต่ปัจจุบันต้องการให้บริษัทเป็น Nintendo ของประเทศไทย
“Nintendo เริ่มต้นจากเกม และขยายไปสร้าง IP เพื่อทำรายได้ ดังนั้นถ้าเราศึกษาบริษัทเขาดี ๆ มันก็มีหลายช่องทางที่สามารถเดินหน้าไปได้แบบนั้น แม้ Yggdrazil Group จะเป็นบริษัทเล็กในระดับโลก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน ทำให้บริษัทเล็ก ๆ สามารถเคลื่อนที่ได้ไวกว่าบริษัทใหญ่
สิ้นไตรมาส 3 ปี 2023 Yggdrazil Group มีรายได้รวมตลอด 9 เดือนของปี 2023 ที่ 93.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.1% แบ่งเป็นจากธุรกิจ Virtual Effect 32.29 ล้านบาท รองลงมาเป็น Movie และ Animation 33.03 ล้านบาท และ Game 28.01 ล้านบาท
อ้างอิง // Yggdrazil Group
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา