กางกลยุทธ์ ยันฮี จากโรงพยาบาลเพื่อความงาม สู่ศูนย์รวมบริการ และสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพครบวงจร

โรงพยาบาลยันฮี เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1984 หรือมีอายุ 39 ปี และจากเริ่มต้นที่สถานพยาบาลเกี่ยวกับความสวยความงามขนาดเล็ก แต่ปัจจุบัน ยันฮี ไม่ได้เด่นแค่เรื่องความงาม แต่กลายเป็นสถานที่ให้บริการ และจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพครบวงจร

การจะก้าวมาถึงจุดนี้ไม่ง่าย เพราะ ยันฮี ต้องผ่านวิกฤติต่าง ๆ ในประเทศไทยมากมาย ไล่ตั้งแต่ต้มยำกุ้ง จนถึงล่าสุดอย่างการระบาดของโรคโควิด-19 ที่หลายคนคิดว่าธุรกิจโรงพยาบาลจะได้ประโยชน์ แต่จริง ๆ แล้วลูกค้าชาวต่างชาติของโรงพยาบาลแทบจะเหลือศูนย์

เรื่องราว และจุดเริ่มต้นในการเริ่มต้นธุรกิจ โรงพยาบาลยันฮี คืออะไร และปัจจุบันกลุ่มยันฮีประกอบธุรกิจอะไรบ้าง Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลยันฮี เพื่อร่วมกันหาคำตอบข้างต้นดังนี้

สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลยันฮี

จากจุดเริ่มต้นโรงพยาบาลความงาม

โรงพยาบาลยันฮี เริ่มจากการเป็นคลินิกเสริมความงามในชื่อ ยันฮีโพลีคลินิก รับบริการศัลยกรรมตกแต่งรูปแบบต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น เพราะการศัลยกรรมยังไม่เป็นที่นิยม แต่จะให้ทำแค่บริการเกี่ยวกับความงามก็คงประคองให้ ยันฮี เติบโตขนาดนี้ไม่ได้

“เราเริ่มจากคลินิกเสริมความงาม และค่อนข้างแข็งแกร่งเรื่องนี้เมื่อเทียบกับผู้เล่นในตลาดไทย แต่ด้วยเราเห็นโอกาสว่าธุรกิจโรงพยาบาลน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ จึงตัดสินใจรุกตลาดบริการสุขภาพครบวงจร ผ่านการรักษามากถึง 37 ศูนย์” สุพจน์ กล่าว

สำหรับรูปแบบการรักษา 37 ศูนย์ ที่ โรงพยาบาลยันฮี จะอยู่ใน 4 ศูนย์หลักประกอบด้วย ศัลยกรรมตกแต่ง, ศูนย์รักษาโรคทั่วไป, ศูนย์ทันตกรรม และศูนย์แพทย์ทางเลือก ทั้งเคลมว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งเดียวที่มีแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่งความงามมากที่สุดที่ 16 คน

แข็งแกร่งจนมีคู่แข่งมาเสนอขายกิจการ

สุพจน์ ยืนยันว่า จากการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลครบวงจร และความแข็งแกร่งเรื่องศัลยกรรมความงาม ทำให้มีคู่แข่งเกี่ยวกับสถาบันความงามเข้ามาขายกิจการ เช่น วุฒิศักดิ์ คลินิก และ นิติพล คลินิก ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นธุรกิจดาวรุ่งในยุคนั้น แต่ที่ ยันฮี ไม่ซื้อเพราะต้องการนำเงินทุนมายกระดับงานบริการของโรงพยาบาลให้ดีขึ้นมากกว่า

การตัดสินใจดังกล่าวทำให้เกิดการสร้างตึก และเพิ่มจำนวนศูนย์รักษา รวมถึงการเพิ่มช่องทางรายได้ผ่านการเพิ่มธุรกิจใหม่ที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพ หรือช่วยเหลือให้ธุรกิจหลักมีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มต้นจากการติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตพลังไฟฟ้าใช้งานในโรงพยาบาล และขายต่อให้กับหน่วยงานรัฐ

ต่อด้วย บริษัท ยาอินไทย จำกัด ที่ผลิตเวชภัณฑ์ และยาสมุนไพรประเภทต่าง ๆ รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์สินค้าเกี่ยวกับความงาม เช่น ครีมบำรุง และดูแลผิวพรรณ ภายใต้แบรนด์ตัวเอง เพื่อจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ และค้าปลีกทั่วไป ถือเป็นการต่อยอดจากความเชี่ยวชาญเรื่องความงามของ ยันฮี ที่ตรงจุด

ยันฮี

น้ำวิตามิน กับการเป็นอดีตอันดับ 1 ของตลาด

ขณะเดียวกันปี 2014 โรงพยาบาลยันฮี ยังเปิดตัว น้ำผสมวิตามินครั้งแรกในไทย โดยเป็นการใส่วิตามินบีเข้าไปในน้ำ ถือเป็นผู้บุกเบิกตลาดนี้ และแม้ช่วงแรกจะยังไม่ติดตตลาดนัก แต่ช่วงปี 2020 ที่โรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ทางโรงพยาบาลออกผลิตภัณฑ์ น้ำผสมวิตามินซี ออกมาตอบรับตลาดที่ต้องการสินค้าที่มีวิตามินซีในขณะนั้น

“เราเคยเป็นเบอร์ 1 ในตลาดนี้ในยุคที่มูลค่าตลาดนี้เกิน 2,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเราอยู่ใน 3 อันดับแรก ผ่านมูลค่าตลาดปัจจุบันราว 1,900 ล้านบาท และตลาดนี้ค่อนข้างทรงตัว เพราะคนเริ่มไม่กลัวโรคโควิด-19 แล้ว ทำให้เราต้องออกสินค้าน้ำผสมวิตามินที่ตอบโจทย์สุขภาพในอื่น ๆ ด้วย”

ล่าสุด โรงพยาบาลยันฮี เปิดตัวน้ำผสมแคลเซียมในชื่อ ยันฮี แคลเซียม วอเตอร์ โดยเป็นการทำตลาดผ่าน บริษัท โอสถสภา ยันฮี เบฟเวอร์เรจ จำกัด วางงบประมาณการตลาดไว้ที่ 60 ล้านบาท และในสิ้นปีนี้จะเปิดตัวน้ำผสมวิตามินอีก 1 ผลิตภัณฑ์ โดยบริษัทมีโรงงานกำลังการผลิต 300 ล้านขวด ซึ่งปัจจุบันยังใช้ไม่เต็มกำลัง

วางงบลงทุน 100 ล้านบาท พัฒนาโรงพยาบาลอีก

สำหรับปี 2023 โรงพยาบาลยันฮี เตรียมเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุง และพัฒนาภาพรวมโรงพยาบาลให้ดีขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีการรักษาใหม่เข้ามาใช้ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจไปสู่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่เปิดมา 3-4 ปี ให้ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดทำเพื่อรองรับการฟื้นตัวของผู้บริโภคที่จะเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลมากขึ้นในช่วงนี้

“หลังโควิด-19 ลูกค้าต่างชาติเริ่มกลับมา คิดเป็นสัดส่วน 15% จากช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาดอยู่ที่ 30% โดยคนที่เข้ามามีทั้งอินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งพวกเขาเข้ามาใช้บริการเกี่ยวกับความงามเกือบทั้งหมด ช่วยให้ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเราดีขึ้นด้วย”

สิ้นปี 2023 โรงพยาบาลยันฮี คาดว่า รายได้ในกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลจะเติบโตราว 10% จากปี 2022 ที่มีรายได้ราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตดังกล่าวจะทำให้โรงพยาบาลมีรายได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด โดยรายได้ดังกล่าวจะมาจากบริการเกี่ยวกับความงาม 70% และบริการรักษาทั่วไป 30%

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา