สัปดาห์ก่อน ยาคูลท์ ประเทศไทย ได้ประกาศบนเพจเฟซบุ๊กว่า ได้เปิดให้สั่งซื้อนมเปรี้ยวยาคูลท์ผ่านออนไลน์อย่างเป็นทางการ
ถือเป็นอีกหลักหมุดสำคัญของธุรกิจ เพราะ ยาคูลท์ ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลเต็มตัว
คำถามที่น่าสนใจคือ การบุกเข้ามาออนไลน์ของ ยาคูลท์ ประเทศไทย ช้าไปหรือไม่ จริงๆ นี่เป็นคำถามที่คล้ายกับกรณีการวางขายสินค้าในค้าปลีกที่เพิ่งทำเมื่อปี 2558 ที่หลายคนก็มองว่าช้าไป
ยาคูลท์ ประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2513 โดย ประพันธ์ เหตระกูล ที่ตอนนั้นได้ทุนการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2496
เหตุที่เขาสนใจนำ ยาคูลท์ เข้ามาทำตลาดมาจากอาการปวดท้องช่วงเรียนที่ญี่ปุ่น แต่พอได้ดื่มยาคูลท์แล้วดีขึ้น และทราบว่ามีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร และลำไส้ โดยจุลินทรีย์นั้นชื่อว่า แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ ชิโรต้า ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีสินค้าแบบนี้ และน่าจะเป็นโอกาสธุรกิจที่น่าสนใจ
หลังก่อสร้างโรงงานผลิตเสร็จสมบูรณ์ ยาคูลท์ ประเทศไทย คิกออฟการทำตลาดในปี 2514
สำหรับการทำตลาด ยาคูลท์ ประเทศไทย ใช้กลยุทธ์เดียวกับที่ญี่ปุ่นคือ ‘สาวยาคูลท์’ โดยสาวยาคูลท์ มีหน้าที่ขาย และแนะนำผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ที่สนใจ
อยากรู้อะไร ถาม สาวยาคูลท์ ได้เลย
ด้วยความใหม่ของรูปแบบธุรกิจ และอาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงมีผู้สมัครเข้ามาเป็น สาวยาคูลท์ จำนวนมาก ถึงขนาดกระจายการขายไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว กาลเวลาผ่าน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ยาคูลท์ ประเทศไทย ยังเดินหน้าธุรกิจด้วยกลยุทธ์เดิม
จนปี 2558 หรือผ่านมา 44 ปี ยาคูลท์ ประเทศไทย ตัดสินใจวางขายในค้าปลีก เริ่มที่ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น อาศัยเครือข่าย สาวยาคูลท์ เป็นผู้กระจายสินค้า และขายแพงกว่าปกติ 1 บาท
เล่นเอาแบรนด์ในตลาดนมเปรี้ยวเต้นกันหมด พร้อมหาทางมารับมือการบุกตลาดครั้งนี้
สุดท้ายเวลาผ่านไป เหตุการณ์นั้นแทบไม่เขย่าตลาดนมเปรี้ยวนัก เพราะแต่ละแบรนด์มีความแข็งแกร่งในช่องทาง และการทำตลาดที่ชัดเจน
ปัจจุบันน่าจะเห็น ยาคูลท์ วางจำหน่ายในค้าปลีกบ้าง แต่ต้องยอมรับว่าแบรนด์อื่นบนเชลฟ์เด่นกว่า
ย้อนไปปี 2561 ยาคูลท์ ประเทศไทย เขย่าตลาดนมเปรี้ยวอีกรอบด้วยการขาย ยาคูลท์ ไลท์ มันคือ ยาคูลท์ ที่ลดความหวาน ตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพที่มาแรง ซึ่งเอาจริง ๆ แบรนด์คู่แข่งทำตลาดไประยะหนึ่งแล้ว
ถึง 2 กรณีข้างต้นจะเป็นตัวอย่างที่ ยาคูลท์ ประเทศไทย เดินเกมช้ากว่าคู่แข่ง แต่ยาคูลท์ ประเทศไทย ยังมีธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
2561 รายได้รวม 2,409 ล้านบาท กำไรสุทธิ 357 ล้านบาท
2562 รายได้รวม 2,495 ล้านบาท กำไรสุทธิ 295 ล้านบาท
2563 รายได้รวม 2,353 ล้านบาท กำไรสุทธิ 308 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยาคูลท์ ในประเทศไทยยังมีอีกบริษัทคือ ยาคูลท์เซลส์ (กรุงเทพฯ)
2561 รายได้รวม 4,861 ล้านบาท กำไรสุทธิ 956 ล้านบาท
2562 รายได้รวม 5,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 959 ล้านบาท
2563 รายได้รวม 4,680 ล้านบาท กำไรสุทธิ 921 ล้านบาท
ล่าสุด ยาคูลท์ ประเทศไทย ส่งกลยุทธ์ใหม่ นั่นคือการขาย ยาคูลท์ ผ่านออนไลน์
ผู้สนใจไม่ต้องรอ สาวยาคูลท์ แวะมาแถวบ้าน หรือเดินไปซื้อที่ค้าปลีกต่างๆ เพราะสามารถสั่งได้ผ่านเฟสบุ๊กเพจ ยาคูลท์ ประเทศไทย และเว็บไซต์ yakultthailand.com/order
ลูกค้าจะสั่งให้ส่งเป็นประจำ หรือสั่งแบบจำนวนมากเป็นรายครั้งก็กำหนดได้ ไม่ต้องกลัวว่าพอสั่งออนไลน์แล้วรายได้จะไม่ไปถึง สาวยาคูลท์ เพราะข้อมูลการสั่งซื้อจะส่งไปที่ สาวยาคูลท์ ที่ปัจจุบันมีกว่า 3,000 คน
ผู้สั่งซื้ออยู่ในเขตไหน งานจะกระจายไปเขตนั้น และผู้สั่งซื้อจะชำระเงินให้ สาวยาคูลท์ โดยตรง
ในต่างประเทศมีการขายออนไลน์แบบนี้แล้ว และเอาจริง ๆ ยังไม่มีนมเปรี้ยวแบรนด์ไหนประกาศทำตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง
ถือเป็นมิติใหม่ในตลาดนมเปรี้ยว และคือการเปิดตลาดใหม่อีกครั้งของ ยาคูลท์ ประเทศไทย
ถ้าให้สรุปว่า ยาคูลท์ ประเทศไทย ช้าหรือไม่ในการส่งแผนขายออนไลน์ ก็คงบอกว่า ‘ไม่ช้า’ เพราะเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึง ยาคูลท์ ได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสการขายสินค้าได้มากกว่าเดิม
แม้จะไม่ได้เป็นการขายออนไลน์เต็มระบบ แต่ส่วนตัวมองว่าการให้ชำระที่ สาวยาคูลท์ น่าจะเหมาะกับการทำตลาดในประเทศไทย
คงต้องดูว่าการปรับตัวของ ยาคูลท์ ประเทศไทย ครั้งนี้ จะเขย่าตลาดนมเปรี้ยวหลายหมื่นล้านบาทได้แค่ไหน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา