คุณตั้งเป้าอะไรไว้กับปี 2025 บ้าง? สำหรับ ‘Xi Jinping’ แล้ว ปีนี้คงเป็นปีที่เขารอคอย เพราะมันถึงเวลาของ ‘Made in China 2025’ เสียที
‘Made in China 2025’ คือแผน 10 ปีของรัฐบาลที่เริ่มขึ้นตอน 2015 ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมหลักในประเทศ ให้พึ่งพาการนำเข้าสินค้าหรือชิ้นส่วนการผลิตให้น้อยที่สุด
ถ้าถามว่าโครงการนี้จะมีผลต่อจีนและประเทศอื่นๆ ขนาดไหน ก็คงขนาดที่ว่าปัจจุบัน 34% ของผลผลิตทั่วโลกมาจากประเทศจีน ถือเป็นสัดส่วนที่มากกว่าปี 2010 ราวๆ 15%
ยิ่งไปกว่านั้น เปอร์เซ็นต์ของสินค้านำเข้าเมื่อเทียบกับ GDP ก็ลดลงเหลือแค่ 8.5% จากเดิมที่เคยมีอยู่ราวๆ 10% ในช่วง 2016-2021
ตอนนี้เราก็เดินทางมาถึงปี 2025 แล้ว หมายความว่า แผนของรัฐบาลควรจะสำเร็จหรือใกล้สำเร็จแล้วหรือเปล่า มาดูกัน
เกินครึ่งของอุตสาหกรรมตามแผน กำลังไปได้สวย
จากการวิจัยโดย ‘Nikkei Asia’ สถานการณ์ปัจจุบันของแต่ละอุตสาหกรรมในแผน Made in China คือ
- เทคโนโลยีสารสนเทศ: รัฐบาลทุ่มเงินกับภาคส่วนนี้อย่างหนัก โดยเฉพาะด้านการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
- เครื่องจักรและหุ่นยนต์: ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตหุ่นยนต์เองภายในประเทศอยู่ที่ 50%
- การบินและอวกาศ: เช่น เครื่องบินโดยสาร ‘COMAC C919’ กลายเป็นรุ่นที่สายการบินจีนส่วนใหญ่ใช้ทุกวันนี้ ในขณะที่บริษัทสัญชาติจีนอย่าง ‘DJI’ กลายเป็นแหล่งผลิตโดรนที่ใหญ่ที่สุดของโลก
- การต่อเรือและวิศวกรรมทางทะเล: 70% ของเรือทั่วโลกถูกผลิตที่จีน
- นวัตกรรมการขนส่งทางราง: กลายเป็นผู้นำตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก
- รถยนต์ไฟฟ้า: ‘BYD’ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนกลายเป็นผู้ผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา จีนคืออันดับ 1 ด้านการส่งออกยานพาหนะของโลก โดยคาดการณ์ว่า การส่งออกในปี 2024 จะจบที่ราวๆ 6 ล้านคัน
- พลังงาน: ในปี 2023 รัฐบาลจีนทุ่มทุนไป 4.4 ล้านล้านบาทกับอุตสาหกรรมพลังงาน และตอนนี้จีนกลายเป็นผู้นำตลาดโลกในด้านของอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ โดยครองสัดส่วนการผลิตกว่า 80% แถมยังโตต่อเนื่องในแง่ของพลังงานลมและพลังงานสะอาดอื่นๆ ด้วย
- เกษตรกรรม: ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์ทันสมัยจากต่างประเทศบางส่วน
- วัสดุใหม่: เป็นผู้นำตลาด ‘คาร์บอนไฟเบอร์’ และดุลการค้าเกินกว่า 3 เท่า
- ชีวเภสัชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์: ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศอยู่
มันดีต่อจีนจริงๆ หรือ?
กว่าจะพาแต่ละอุตสาหกรรมให้มาไกลขนาดนี้ จีนก็เปย์เงินไปหลายล้านล้านหยวน เพื่อสนับสนุนองค์กรในโครงการ Made in China
แต่จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ โครงการที่ว่าอาจไม่ได้ดีต่อประเทศขนาดนั้น
อันดับแรกเลยคือ การทุ่มทุนกับอุตสาหกรรมต่างๆ มากเกินไปทำให้การบริโภคและการผลิตในประเทศไม่สมดุลกัน
ส่วนอีกประเด็นคือ เงินส่วนใหญ่ที่ลงทุนไปถูกใช้งานไปอย่างสูญเปล่า
จริงๆ แล้วที่ผู้เชี่ยวชาญพูดมาก็อาจจะถูก เพราะตัวอย่างเคสที่ไปไม่รอดคือ ‘Hongxin’ บริษัทผลิตชิปของจีน ซึ่งเคยได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 6.8 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายก็เจ๊งไปดื้อๆ โดยที่ยังไม่เคยขายชิปแม้แต่อันเดียวด้วยซ้ำ
ทางศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา ก็เคยทำวิจัยเกี่ยวกับบริษัท 1,100 แห่งในโครงการ Made in China ก่อนพบว่ามันไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่บ่งชี้ได้ว่า เงินเหล่านั้นมีส่วนช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตจริงๆ
นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่า มันอาจจะดีกว่านี้ ถ้ารัฐบาลเอาเงินไปลงทุนกับการสร้างโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมแทน เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม พูดไปรัฐบาลจีนก็ไม่เชื่อ เพราะแม้กระทั่ง ‘Lou Jiwei’ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ยังถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังพูดว่าโครงการ Made in China เป็นการเอาภาษีของประชาชนไปทุ่มทิ้งเปล่าๆ
2025 ไม่ใช่ที่สิ้นสุด แผนยาวต่อถึง 2030
จริงๆ แล้วนโยบาย Made in China ไม่ได้จะสิ้นสุดลงในปี 2025 แต่ยังมีเป้าหมายยาวต่อไปถึงปี 2030
‘Gerard Dipippo’ นักวิเคราะห์ภูมิเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ‘Bloomberg Economics’ มองว่า Made in China ไม่ใช่แผนๆ เดียวที่ถูกร่างมาตั้งแต่ต้นจบจบ แต่มันคือแผนตั้งต้นที่ค่อยๆ งอกแผนอื่นเข้ามาเพิ่ม จนกลายเป็นนโยบายใหญ่ที่เต็มไปด้วยแผนมากมาย
เพราะระบบแบบนี้ จีนจึงยังต้องใช้ทรัพยากรอีกมากกับมหากาพย์ Made in China แต่อีกแง่หนึ่งคือ Dipippo เชื่อว่า รัฐบาลคงไม่ยอมแพ้ง่ายๆ กับการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมต่างๆ รอบโลก
ปัจจุบัน รัฐบาลจีนยังไม่ได้บอกเป้าหมายชัดๆ ของแผน 2030 แต่ Dipippo คิดว่า รายละเอียดอาจตามมาในช่วงต้นปี 2026 ขึ้นอยู่กับว่าแผนปี 2025 ดำเนินการไปได้ไกลแค่ไหน
หลายประเทศมองว่าไม่แฟร์ หวั่นกระทบความมั่นคงของชาติ
มาดูในมุมของเพื่อนร่วมโลกกันบ้าง หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ มองว่าแผน Made in China คือภัยความมั่นคงของชาติ
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2018 มีรายงานว่า จีนได้เกณฑ์นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันไปช่วยงานหลายคน ทำให้สหรัฐฯ มองว่านี่คือการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ
อีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศอื่นกลัวคือ การที่จีนพยายามครองห่วงโซ่อุปทานในหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งอาจทำให้คนทั้งโลก ไม่ว่าจะญาติดีกับจีนหรือไม่ ต้องหันมาพึ่งพาแค่ประเทศนี้ที่เดียว และจีนเองก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นด้วย
ในแง่ของเศรษฐกิจ พอปริมาณการบริโภคและการผลิตในประเทศไม่สมดุลกัน จีนก็ต้องเอาของราคาถูกมาเทขายในต่างชาติ เหมือนที่เราเห็นกันในประเทศไทย โดยไม่สนใจเลยว่ามันจะกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นอย่างไรบ้าง
สำหรับการลงทุน ประเทศมหาอำนาจหลายๆ แห่ง เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมที่จีนสามารถลงทุนในต่างประเทศได้อย่างอิสระ แต่พวกเขากลับทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะจีนมีมาตรการกีดกันการลงทุนต่างชาติหนักมาก
สหรัฐฯ ไม่เอาด้วยแน่ เพราะ Trump ตัวพ่อแอนตี้จีนกลับมาแล้ว
จะเห็นเลยว่า ประเทศที่ดูเป็นเดือดเป็นร้อนกับนโยบาย Made in China 2025 มากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา
ยิ่ง Trump ใกล้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว คนอาจสงสัยว่า แผนของ Xi คงต้องมีร้อนๆ หนาวๆ บ้างหรือเปล่า?
Trump ประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการกลับมาเลยว่า จะเพิ่มภาษีนำเข้าอย่างหนัก โดยเฉพาะกับประเทศจีน และจะเปิดศึกการค้าที่ใหญ่ที่สุดแบบที่เอเชียไม่เคยเห็นมาก่อนด้วย
แม้ปัจจุบัน จีนจะเป็นผู้นำตลาดมูลค่าสูงในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า หรือปัญญาประดิษฐ์ แต่สภาพเศรษฐกิจในประเทศก็ยังไม่ดีเท่าไหร่นัก
ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า จุดด้อยของรัฐบาลจีนอาจทำให้พวกเขาเสียเปรียบในยุคของรัฐบาล Trump และจะทำให้การผลิตและการบริโภคของจีนไม่บาลานซ์ยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากจีนคงระบายสินค้าไปต่างประเทศได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บางคนยังเชื่อว่า สิ่งที่ Trump พูดไปเป็นแค่การโม้เท่านั้น และที่ขู่ไว้คือเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ Xi ยอมต่อรองการค้ากับตนอย่างงามๆ
สุดท้าย เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าแผน Made in China 2025 จะลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือเปล่า และ Trump จะมีเซอร์ไพรส์อะไรรอให้ Xi Jinping หรือไม่
ที่มา: Nikkei Asia (1) (2) / COUNCIL on FOREIGN RELATIONS / Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา