ในช่วงเวลาที่สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบกับทุกธุรกิจทุกภาคส่วน และคนทุกคน ทุกพื้นที่ กำลังผ่อนคลายลง สถานการณ์หลายๆ อย่างมีท่าทีที่ดีขึ้น แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ถูกผลกระทบทั้งในเรื่องของสภาพจิตใจ รวมไปถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ ที่ได้เปลี่ยนไปก่อนหน้านี้ ในช่วงที่มีการระบาดรวมถึงในตอนนี้ที่ก้าวเข้าสู่ช่วง POST COVID-19 ต้องใช้ชีวิตให้สอดรับกับชีวิตวิถีใหม่
วันเดอร์แมน ธอมสัน ทำการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยในช่วงภายหลังการระบาดของโรค COVID-19* พบว่า การระบาดของโรค COVID-19 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อคนทุกคนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุไหนหรืออยู่ในพื้นที่ใด ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด
การเงินและเศรษฐกิจ (Finance & Economy)
- ผู้บริโภคมีความกังวลด้านเศรษฐกิจและการเงินมากที่สุดโดยกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากถึง 71%
- ผู้บริโภคมีความกังวลในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวได้ช้า 60%
- ผู้บริโภคกังวัลเรื่องหน้าที่การงานและธุรกิจของตนเองจะหยุดชะงัก 60%
นอกจากนั้น เมื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนของผู้บริโภค พบว่า ผู้บริโภคกว่าครึ่งหนึ่งเลือกที่จะไม่ลงทุนกับเรื่องใดๆ เลย แต่เลือกที่จะถือเงินสดไว้กับตัว หรือเลือกที่จะฝากเงินไว้ที่ธนาคารมากกว่า โดยผู้บริโภคเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ชอบความเสี่ยง (Risk-Averse) คือจะไม่ลงทุนใด ๆ นอกจากการออมเงิน เนื่องมาจากระดับรายได้และกังวลว่าลงทุนแล้วจะไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมา
แต่หากจะดูในสิ่งที่ผู้บริโภคเลือกลงทุนมากที่สุดในช่วงนี้ จะพบว่า
- ผู้บริโภคเลือกที่จะลงทุนไปกับการออมเงินประจำเดือน 33%
- รองมาเป็นการลงทุนเกี่ยวกับการเปิดธุรกิจของตนเอง 20%
- และลงทุนกับการซื้อประกันภัย 12%
นอกจากนี้จากการศึกษาและสัมภาษณ์เพิ่มเติม พบว่า ผู้ที่มีครอบครัว เศรษฐกิจส่งผลกระทบในหลายแง่มุม นอกจากเศรษฐกิจจะส่งผลด้านสภานภาพทางการเงินแล้ว ยังต้องดูแลคนในครอบครัวทั้งเด็ก และผู้สูงอายุในครอบครัว กลัวว่าตนเองจะไม่สามารถให้ความเป็นอยู่ที่ดีกับทุกคนได้อย่างเต็มที่ในอนาคต อาจทำให้เกิดเกิดภาวะเครียดและซึมเศร้า ดังนั้นทุกครอบครัวจะต้องป้องกันภาวะความเครียดให้กับสมาชิกในบ้าน โดยเลือกใช้วิธีสื่อสารกับครอบครัวให้ดีที่สุด
การงานและอาชีพ (Work & Career)
การงานคือแหล่งรายได้ละความมั่นคง ในช่วงเวลานี้ผู้บริโภคไม่ได้มองเรื่องความก้าวหน้าทางการงานเป็นเป้าหมายหลักอีกต่อไป กลับมองว่าการมีงานทำ คือเรื่องสำคัญที่สุด
จากการศึกษาในเรื่องอาชีพและการทำธุรกิจพบว่า
- ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานของตนเองถึง 62%
- ผู้บริโภคกว่า 48% ยังกังวลในเรื่องการถูกลดเงินเดือน
- ผู้บริโภคกังวลในเรื่องของการถูกเลิกจ้างหรือการไม่มีงานทำอีกกว่า 47%
เมื่อศึกษาในเรื่องการต้องการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ทำในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า
- ผู้บริโภคมีความคิดที่จะลงทุน ลงแรงในการหางานทำและการรักษาหน้าที่การงานมากขึ้น ด้วยการเพิ่มความสามารถ (Up-Skill) และกลับไปเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม (Re-Skill) รวมไปถึงการเข้าอบรมที่ทางบริษัทส่งไป โดยผู้บริโภคใช้จ่ายเงินในเรื่องนี้ถึง 31.5%
- ผู้บริโภคเลือกที่จะใช้ไปกับการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 19.4%
- ผู้บริโภคยังมีพฤติกรรมใหม่เกิดขึ้นคือเลือกที่จะลดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านถึง 51.6%
- ผู้บริโภคลดการออกไปเที่ยวสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนลง 50.1%
- ผู้บริโภคลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง 50%
- ส่วนกิจกรรมอื่นๆ เช่น การไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ การไปยิมเพื่อออกกำลังกาย และการไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าก็มีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน
คนต่างเจน แต่มีความกังวลร่วม
จากการสัมภาษณ์เพิ่มเติมทำให้พบว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคที่อยู่ในเจนเนอเรชั่นใดหรืออยู่ในพื้นที่ไหน ต่างก็มีความกังวลในเรื่องของความมั่นคงทางด้านการงานและการเงินเหมือนกัน จากแต่ก่อนที่มีความกังวลหรือให้ความสำคัญแตกต่างกันไปแต่ละเจนเนอเรชั่น แต่ก็จะมีการปรับตัวดังนี้
เจน Z: ชีวิตที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วย Passion อย่างเดียว โดยเจนซีเป็นกลุ่มคนที่กำลังจะจบการศึกษา และเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงที่อัตราการว่างงานสูง และมีตำแหน่งเปิดรับอย่างจำกัด ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้ Gen Z มีเวลาที่จะทบทวนตนเองมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่ผ่านมา ทบทวนความชอบของตัวเองอีกครั้ง และเริ่มกลับมาเรียนรู้ทักษะเพื่อให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายของอาชีพที่มั่นคงในอนาคตก่อน แล้วเก็บความชอบของตนเองไว้เป็นเรื่องรองลงมา
เจน Millennials: เปลี่ยนสิ่งที่ชอบให้เป็นรายได้ โดยมิลเลนเนียล เป็นกลุ่มที่เริ่มทำงานมาสักพัก ตอนนี้จะเริ่มทบทวนตัวเองในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการใช้จ่าย กิจกรรมท่องเที่ยว และการพักผ่อนที่ไม่สามารถทำได้เช่นเดิม งานที่ทำเริ่มขาดความมั่นคง ทำให้ต้องเริ่มพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่องานของตนเอง หรือเอื้อต่อความก้าวหน้าในอนาคต และเพื่อความมั่นคงจึงต้องหาแหล่งรายได้อื่น กลุ่ม Millennials จะเริ่มที่นำสิ่งที่ชอบมาหารายได้เพื่อให้คงสถานะทางการเงินและเป็นแหล่งรายได้เสริม เป็นหลักประกันเพิ่มความมั่นคงอีกช่องทาง
กลุ่มคนต่างจังหวัด : ปรับตัวอยู่แล้วไม่ต้องรอ COVID-19 คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว เนื่องจากมีเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ภัยธรรมชาติ ค่าแรง ราคาผลผลิต จึงการปรับเปลี่ยนการทำงานตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว มุมมองของคนต่างจังหวัดที่มีต่อ COVID-19 เป็นแค่การปรับตัวอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น
แบรนด์ควรรับมืออย่างไร
วันเดอร์แมน ธอมสัน ได้คาดคะเนพฤติกรรมของผู้บริโภคช่วงหลัง COVID-19 เพื่อให้แบรนด์ได้เตรียมพร้อมรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
พฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในระยะสั้น-กลาง (0-1 ปี) ผู้บริโภคจะมีพฤติกรรมไม่ชอบความเสี่ยง และเลือกที่จะถือเงินสดหรือฝากธนาคาร รวมถึงมีการหารายได้เสริมช่องทางอื่น ๆ เพื่อความมั่นคงทางการเงิน นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มทักษะใหม่ ทบทวนทักษะเดิม ต่อยอดทักษะที่มีเพื่อความมั่นคงในหน้าที่การงาน หรือรอโอกาสที่จะเข้ามาในอนาคต นอกจากนี้ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพกายและจิตใจให้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของพฤติกรรมการซื้อสินค้า ผู้บริโภคจะเดินเข้าร้านค้าลดลง หลีกเลี่ยงพื้นที่คนพลุกพล่าน แต่จำนวนการซื้อสินค้านั้นไม่ได้ลดลง
- นำเสนอคุณค่าให้กับผู้บริโภคก่อน
- แบรนด์จะต้องกลับมานึกถึงคุณค่าที่แบรนด์ต้องการจะเสนอแก่ผู้บริโภคให้มากขึ้น โดนเน้นเรื่องของมูลค่าที่ได้รับ หรือความคุ้มค่าที่ได้ซื้อ
- สร้างความรู้สึกถึงการได้รับประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือจากการลดราคา เช่น การสะสมแต้ม เงินคืน แลกของรางวัล หรือ Loyalty Program ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อและช่องทางที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น รู้สึกแบรนด์ได้ให้อะไรกลับไปสู่ผู้บริโภค
- ทบทวนบทบาทของสินค้าแบรนด์ตนเองที่มีต่อผู้บริโภค ว่าสามารถสร้างประสิทธิภาพ ผลตอบแทน รายได้ หรือเพิ่มทักษะเกี่ยวกับงานของผู้บริโภคได้อย่างไร
- การซื้อเพื่อความผ่อนคลายเปลี่ยนเป็นการซื้อเพื่อความสุขของคนในบ้าน
1.พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการซื้อเพื่อการผ่อนคลาย หรือ Window Shopping เปลี่ยนเป็นการซื้อเพื่อสร้างความสุขให้แก่คนในบ้าน หรือสร้างความสุขให้กับการใช้ชีวิตในบ้านแทน
2.พฤติกรรมการใช้ช่องทางออนไลน์อาจเพิ่มขึ้น แต่อาจเกิดการซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ แบรนด์ควรเตรียมความพร้อมในทุกช่องทาง
- สำหรับร้านค้า จำเป็นต้องออกแบบรูปแบบการซื้อสินค้าให้มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ช่วงหลัง COVID-19 ร้านค้าจำเป็นต้องเน้นเรื่องความสะดวก ความคล่องตัวในการซื้อของมากขึ้น เพื่อลดเวลาในการซื้อ ลดการสัมผัสระหว่างลูกค้าและพนักงาน เพื่อให้การซื้อมีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด
- แบรนด์ควรนำเอาข้อมูลลูกค้าจากทั้งออนไลน์และออฟไลน์มาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และนำมาทำนายการซื้อเพื่อการปรับปรุงบริการในอนาคตให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น
พฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในระยะยาว (1-3 ปี) ผู้บริโภคพยายามที่จะรักษาความมั่นคงของตัวเอง ควบคู่ไปกับการรักษาการงานของตัวเองไว้ รวมถึงในเรื่องของสุขภาพ สุขภาพจิตได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ คนจะมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น ใช้เวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น พ่อแม่เริ่มบรรจุเรื่องสุขภาพอนามัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทักษะที่ต้องมีติดตัวในการใช้ชีวิต และมีการจัดการช่องทางการซื้อขายของตนและครอบครัวอย่างเป็นระบบมากขึ้น
ความสำเร็จต้องมาพร้อมกับสุขภาพจิตใจที่ดี
- สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ นอกจากจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแล้ว คือ ต้องมีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย ต้องมีการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต และได้ทำตามความต้องการในสิ่งที่ตนเองชอบไปพร้อม ๆ กันได้ แบรนด์ควรสนับสนุนผู้บริโภคให้ทำทุกอย่างได้อย่างราบรื่น
- บทบาทของแบรนด์และสินค้าคือ การนำเสนอคุณค่าทางอารมณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภค อาจเปลี่ยนจากการสร้างความรู้สึกของการเป็นที่รักและเป็นที่ยอมรับเป็นความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยแทน
ย้อนวัยให้นึกถึงความทรงจำเก่า ๆ ที่เราคิดถึง
- แบรนด์สามารถใช้โอกาสนี้ในการนำเอาสิ่งเก่าๆ มาทำให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้กับคนในครอบครัว เช่น ย้อนวัยสิ่งที่เคยทำร่วมกันตอนเด็ก นำเรื่องเก่ากลับมาเล่าเป็นเรื่องใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น การฉลองในครอบครัว กิจกรรมที่เคยทำร่วมกันระหว่างครอบครัว เพื่อสร้างช่วงเวลาดี ๆ ให้การใช้ชีวิตที่บ้านมีสีสันมากขึ้น
- บทบาทที่จะสร้างความคิดเชิงบวก สอดแทรกความตลกบ้าง สามารถทำให้ผู้บริโภคหลีกหนีจากเรื่องราวรอบตัวชั่วคราวได้
ตัวจริงเรื่องความสะอาด
- เพื่อตอกย้ำเรื่องความสะอาดที่จะเป็นพฤติกรรมของชีวิตวิถีใหม่โดยอาจมาในรูปแบบของนวัตกรรม การสื่อสาร หรือการสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการมีสุขภาพอนามัยที่ดี นำเสนอประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
สลับบทบาทการซื้อสินค้าแบบเดิม ๆ ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
- ช่องทางออฟไลน์ควรลดการสัมผัสระหว่างบุคคลให้มากที่สุด เพิ่มความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- ช่องทางออนไลน์ควรเป็นช่องทางที่ให้ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่กับช่องทางนี้ได้เหมือนกับการที่ผู้บริโภค Mirror Shopping ให้ผู้บริโภคได้มีพื้นที่ในการเลือกชมสินค้า และเพิ่มอรรถรสในการซื้อของออนไลน์ที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น
*ผลสำรวจระหว่างเดือนกรกฎาคม จำนวน 812 คน ช่วงอายุ 15 – 60 ปี เป็นชาย 32% หญิง 68% ครอบคลุมกรุงเทพและต่างจังหวัด การศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมถึงปริญญาเอก อาชีพรายได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10,000 บาท – 50,000 บาทขึ้นไป โดยมีการศึกษาใน 4 หมวดหลัก ได้แก่ เรื่องการเงินและเศรษฐกิจ (Finance & Economy), การงานและอาชีพ (Work & Career), การเข้าสังคมและการรักษาระยะห่างทางสังคม (Socialising & Social Distancing) และสุขภาพและความเป็นอยู่ (Health & Wellbeing ) โดยผู้บริโภคแต่ละกลุ่มจะมีพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ ที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน แบรนด์และนักการตลาดทั้งหลาย ควรสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมเหล่านี้ให้ถ่องแท้ เพื่อให้แบรนด์และนักการตลาดนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการปรับใช้กลยุทธ์ทางการตลาดและการสื่อสารในยุคชีวิตวิถีใหม่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา