ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคโตชะลอตัวทั้งปี 62-63

เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและปัจจัยไม่แน่นอนมากขึ้นทั้งจาก Tradewar ปัญหาการเมืองหลายประเทศ แต่จะส่งผลกระทบต่อไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างไร?

ภาพจาก Unsplash

เปิดรายงานธนาคารโลกชี้เอเชียและแปซิฟิคยังแข็งแกร่ง แต่เติบโตชะลอตัว

ข้อมูลจากรายงาน East Asia and Pacific Update เดือนเม.ย. พ.ศ.2562 บอกว่า แม้นโยบายการค้าหลายประเทศในโลกจะชัดเจนมากขึ้น แต่มองว่าการค้าโลกปี 2562 ยังเติบโตอย่างชะลอตัว และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค แต่ก็สามารถพึ่งการบริโภคในประเทศที่ยังเติบโตมาทดแทนได้

แอนดรู เมสัน รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก บอกว่า ตั้งแต่ปี 2561 เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั่วโลก แต่ปี 2562 ประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ยังเติบโตในด้านบวก

ทั้งนี้ต้องจับตาเศรษฐกิจหลายประเทศที่ชะลอการเติบโตลง และโอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงปัญหาความตึงเครียดทางการค้าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

อย่างไรก็ตามปี 2562 หลายประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคเติบโตชะลอตัวลง ได้แก่

  • จีน คาดว่าเศรษฐกิจปี 2562-2563 จะเติบโต 6.2% ลดลงจากปี 2561 ที่เติบโต 6.6% โดยมองว่าปีนี้จะใช้นโยบายเพื่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
  • ไทย คาดว่าเศรษฐกิจปี 2562-2563 จะเติบโต 3.8-3.9% ลดลงจากปี 2561 ที่เติบโต 4.1%
  • เวียดนาม คาดว่าเศรษฐกิจปี 2562-2563 จะเติบโต 6.5-6.6% ลดลงจากปี 2561 ที่เติบโต 7.1%

ทั้งนี้ประเทศที่การเติบโตเศรษฐกิจทรงตัวจากปี 2561 ได้แก่ เศรษฐกิจของมาเลเซีย ปี 2562-2563 คาดว่าจะเติบโต 4.6-4.7% และอินโดนีเซียคาดว่าจะเติบโต 5.2-5.3% ขณะที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กในภูมิภาคนี้ยังจะเติบโตดีขึ้น ได้แก่

  • สปป.ลาว เศรษฐกิจเติบโตเพราะได้รับผลดีจากการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
  • กัมพูชาคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตช้ากว่าปีที่แล้วเล็กน้อย เนื่องจากความต้องการบริโภคจากภายนอกประเทศอ่อนตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • เมียนมา คาดการณ์ว่านโยบายการคลังแบบขยายตัวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมียนมาในระยะสั้น และคาดว่าการปฏิรูปโครงสร้างจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะปานกลาง

อย่างไรก็ตามในระยะสั้นทุกประเทศต้องเพิ่มความสามารถทางการคลัง เช่น การเพิ่มเงินสำรองต่างประเทศ และต้องปรับนโยบายการเงินให้เป็นกลางเพื่อดูแลกรณีเงินทุนไหลออกนอกประเทศลดลงอย่างมาก ในระยะกลาง ประเทศต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเพิ่มผลิตภาพ สร้างความสามารถในการแข่งขันสำหรับภาคเอกชน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชากรในประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องความมั่นคงด้านหนี้สาธารณะเพื่อการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพจาก Unsplash

เศรษฐกิจเอเชียฯ กับความจน

วิกตอเรีย กวาวา รองประธาน ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก บอกว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคประชากรประมาณ 500 ล้านคนยังขาดความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกลับไปยากจนอีกครั้ง เรื่องนี้กลายเป็นความท้าทายต่อผู้กำหนดนโยบายของประเทศ

ทั้งนี้มองว่าภายในปี พ.ศ. 2564 คาดว่าอัตราความยากจนขั้นรุนแรงในภูมิภาคนี้จะลดลงต่ำกว่า 3% เพราะประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถรับมือกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยืดหยุ่นจะช่วยให้ความยากจนลดลง ปัจจุบันหลายประเทศมีการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างทางสังคมและดูแลกลุ่มคนที่เปราะบาง โดยประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกให้ความคุ้มครองทางสังคมครอบคลุมกลุ่มคนยากจนที่สุดเพียง 20% ถือว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ

สรุป

เมื่อทั่วโลกเติบโตชะลอตัวลง ซึ่งกระทบกับเศรษฐกิจไทยและเอเชียตะวันออก แต่ธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ยังเติบโตได้อย่างเข้มแข็งทำให้ต่อไปอัตราความยากจนน่าจะต่ำลง คงต้องจับตามองกันต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา