ส่องการศึกษาโลกแล้วย้อนมองไทย ระบบการศึกษาไทย ไม่เอื้อให้คนได้เรียนรู้ แถมเข้าถึงการศึกษาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ได้ยินกันมาตั้งแต่ยังเด็กว่าการศึกษาเป็นประตูที่เปิดไปสู่โอกาสอีกหลายอย่างโดยเฉพาะการสร้างทักษะในการทำงาน การศึกษายังเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่เชื่อมต่อกับมิติทางด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นอัตราการรู้หนังสือ ความเจริญ อัตราการเกิด และอื่น ๆ อีกมากมาย

แล้วคนทั่วโลกเข้าถึงการศึกษากันได้มากแค่ไหน? 

ถ้าวัดจากการเรียนในระดับอุดมศึกษา ค่าเฉลี่ยของโลกในปี 2023 อยู่ที่ 28% จากจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่อัตราการรู้หนังสือในปี 2022 อยู่ที่ 87% 

10 ประเทศที่ประชากรได้รับการศึกษา (ระดับอุดมศึกษา) มากที่สุด

มาสำรวจกันว่า ประเทศที่มีประชากรได้รับการศึกษามากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก มีประเทศใดบ้าง? ประเทศเหล่านั้น มีมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศติดอันดับที่เท่าไรของโลก?

  1. เกาหลีใต้ – 69% – Seoul National University อันดับ 29 ของโลก
  2. แคนาดา – 66% –  McGill University อันดับ 31 ของโลก
  3. ญี่ปุ่น – 65% – University of Tokyo อันดับ 23 ของโลก
  4. ลักเซมเบิร์ก – 63% – University of Luxembourg อันดับ 381 ของโลก 
  5. ไอร์แลนด์ – 63% – Trinity College Dublin, The University of Dublin อันดับ 98 ของโลก
  6. รัสเซีย – 62% – Lomonosov Moscow State University อันดับ 75 ของโลก
  7. ลิทัวเนีย – 57% – Vilnius University อันดับ 400 ของโลก
  8. สหราชอาณาจักร – 57% – University of Cambridge อันดับ 2 ของโลก
  9. เนเธอร์แลนด์ – 56% – University of Amsterdam อันดับ 58 ของโลก
  10. นอร์เวย์ – 55% – University of Oslo อันดับ 101 ของโลก

ส่วนไทยมีประชากรที่ได้รับการศึกษาในมหาวิทยาลัย 16% จัดว่าเป็นอันดับที่ 66 ของโลก (ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก ก็ถือว่าไทยมีสัดส่วนได้รับการศึกษาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก)

กรณีศึกษา สาเหตุที่เกาหลีใต้เป็นประเทศที่คนมีการศึกษาสูงที่สุด

การศึกษาเป็นเรื่องที่ถูกให้คุณค่ามากหลายประเทศในเอเชีย เกาหลีใต้ก็เป็นหนึ่งในนั้นและเป็นประเทศที่คนมีการศึกษาสูงที่สุดในโลก ขณะที่ประธานาธิบดี Yoon Suk-Yeol ยังริเริ่มแผนที่จะจัดโครงสร้างระบบการศึกษาระดับสูงใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเรียกว่า RISE หรือย่อมาจาก Regional Innovative System and Education เป็นแผนเชิงกลยุทธ์ที่ออกแบบมาเพื่อนำระบบการศึกษาระดับสูงออกสู่ศูนย์กลางและขยายไปยังท้องถิ่นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นผลักดันในเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในมหาวิทยาลัย

การมุ่งมั่นกับเรื่องการศึกษาของเกาหลีใต้ได้รับอิทธิพลมาจากจักรวรรดิจีนในยุคปี 1800 ที่มีระบบการสอบข้าราชการและการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ก่อนที่จะแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปยังประเทศข้างเคียง การสอบที่เข้มงวดเป็นวิธีที่ใช้คัดเลือกคนที่มีความสามารถมากที่สุดเพื่อนำมาฝึกฝน

Seoul National University

ความจริงจังของการสอบคัดเลือกในอดีตฝังรากลึกและกลายเป็นมาตรฐานของเกาหลีมาจนถึงเมื่อถูกญี่ปุ่นบุกรุกในปี 1910 ที่ทำให้เกิดแนวคิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิรูปสมัยใหม่แบบอื่น ๆ สภาพเศรษฐกิจของเกาหลีเปลี่ยนไปพร้อมกับอำนาจที่ถูกเปลี่ยนมือไปยังญี่ปุ่น การศึกษาจึงไม่ได้มีไว้เพื่อสอบคัดเลือกหาผู้นำที่จะเข้ารับราชการอีกต่อไป

พอในช่วงทศวรรษที่ 1960 หลังจากเป็นอิสระจากญี่ปุ่นแล้วรัฐบาลกลางของเกาหลีใต้ได้จัดตั้งระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่สร้างความกดดันอย่างมากให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเพราะคนที่จบมหาวิทยาลัยชั้นนำในโซลเท่านั้นที่จะได้งานที่ดีที่สุดไป ทำให้พ่อแม่ก็พยายามที่จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนมัธยมที่ดีที่สุดเพื่อให้สามารถเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ซึ่งรวมไปถึงการส่งไปเรียนพิเศษ

การเข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้จึงเป็นพื้นที่แข่งขันกันระหว่างครอบครัวชนชั้นสูงที่ต้องการรักษาสถานะไว้และชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่ต้องการเลื่อนสถานะทางสังคมจนถึงกับมีคำเรียกมหาวิทยาลัย 3 แห่งที่ได้รับการยอมรับที่สุดว่า “SKY Universities” 

ในปัจจุบัน เกาหลีใต้มีระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า College Scholastic Ability Test (CSAT) ที่จะมีขึ้นปีละครั้ง และคะแนนจะเป็นตัวบ่งบอกมหาวิทยาลัยที่จะสมัครเข้าได้ ค่านิยมการเรียนยิ่งสูงเท่าไรยิ่งดีของเกาหลีใต้ยังทำให้มีการส่งลูกไปเรียนในประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาแม้แต่ในครอบครัวที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจต่ำ

ทำไมคนไทยเข้าถึงการศึกษาได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ประเทศไทยมีประชากรที่ได้รับการศึกษาในระดับสูงหรือในระดับมหาวิทยาลัยอยู่ที่ 16% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 28% เกือบครึ่งหนึ่ง 

ประเด็นนี้ ธนาคารโลก (World Bank) เคยมองปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กไทยไว้ว่า มาจากที่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและการขาดแคลนอุปกรณ์ในการเรียน นอกจากนี้ ยังขาดแคลนครูที่มีคุณภาพโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทของไทย ทำให้เด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับต้น ไปไม่ถึงระดับอุดมศึกษา

นอกจากนี้ องค์การ  Unicef ยังระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง มีปัญหาความยากจนที่ซับซ้อนในหลายมิติที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาของไทย ทำให้นอกจากจะมีความเหลื่อมล้ำของการศึกษาระหว่างเด็กที่อยู่ในเมืองและชนบทแล้ว ยังเกิดความเหลื่อมล้ำที่มาจากรายได้ของครอบครัวที่ไม่เท่ากันด้วย ทั้งนี้ เมื่อสำรวจดูระบบการศึกษาแล้ว พบว่า นอกจากไทยจะเข้าถึงการศึกษาได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ระบบการศึกษาไทยยังไม่ติดอันดับการศึกษาที่ดีที่สุดในระดับต้นๆ ของโลกด้วย

10 ประเทศที่ดีที่สุดในด้านการศึกษา

เว็บไซต์ U.S. News ได้จัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในด้านการศึกษาจากการสำรวจคนกว่า 17,000 รายจากหลายประเทศเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ว่า เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีหรือไม่ ผู้คนจะพิจารณาเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศนั้น ๆ หรือไม่หรือในประเทศนั้น ๆ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำอยู่ไหม

10 อันดับประเทศที่ดีที่สุดในด้านการศึกษามีดังนี้

  1. สหรัฐอเมริกา 
  2. สหราชอาณาจักร
  3. เยอรมนี 
  4. แคนาดา 
  5. ฝรั่งเศส 
  6. ญี่ปุ่น
  7. สวิตเซอร์แลนด์ 
  8. ออสเตรเลีย
  9. สวีเดน 
  10. เดนมาร์ก

ที่มา – Wisevoter, Economic Times, US News, QS, Brand Inside, By Arcadia, East Asia Forum

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา