ในช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกพบกับความไม่แน่นอนในหลายๆ เรื่อง เช่น สงครามการค้า หรือ ค่าเงินในประเทศกำลังพัฒนาที่ผันผวน ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ รวมถึงนักลงทุนชาวไทยด้วย ฉะนั้นการได้มุมมองที่ดีจากนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอาจช่วยให้เห็นภาพในการลงทุนชัดเจนมากขึ้น
Brand Inside เองได้รับโอกาสได้ฟังสัมมนาจาก Samy Chaar เป็น Chief Economist ของทาง Lombard Odier มาวิเคราะห์เจาะลึกในเรื่องของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงกลยุทธ์การลงทุน ให้กับลูกค้าของ KBank Private Banking แบบเจาะลึก ซึ่งมีประเด็นสำคัญๆ ที่นักลงทุนจับตามองอยู่ อย่างเช่น สงครามทางการค้า ฯลฯ และรวมไปถึงเทคนิคมุมมองให้สังเกตุเวลาถ้าหากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจด้วย
เศรษฐกิจโลกยังดีอยู่
Samy Chaar กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้พื้นฐานถือว่าดีมากๆ ซึ่งเราจะเห็นได้จาก GDP ของสหรัฐและยุโรปยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดย GDP เติบโตราวๆ 2% หากย้ายมาดูฝั่งเอเชียเราก็จะพบว่าเศรษฐกิจก็เติบโตแข็งแกร่งเช่นเดียวกัน ขณะที่ดัชนี PMI โลกซึ่งแสดงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจของโลกในขณะนี้ถือว่าดูดีมากๆ
เราจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐเริ่มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุเป็นผล และถ้าเปรียบเทียบเศรษฐกิจของสหรัฐตอนนี้ก็จะเริ่มอยู่ในช่วงของ Late Cycle อีกด้วย
อีกเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือเรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัดที่หลายๆ ประเทศก่อนหน้าติดลบ ไม่ว่าจะเป็น สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี แต่ปัจจุบันนั้นจะเห็นว่าประเทศเหล่านี้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก ฉะนั้นเศรษฐกิจโลกโดยรวมถือว่า “โอเค”
เรื่องของสงครามการค้า
ตัวเขายังได้พูดถึงเรื่องของสงครามการค้าว่าจะต้องแยกคำสองคำนี้ให้ออกก่อนระหว่าง สงครามการค้า (Trade War) และ ข้อพิพาททางการค้า (Trade Dispute) ซึ่งแต่ละข้อมีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะว่าสงครามการค้าคือการที่แต่ละประเทศปิดกั้นการค้าจากประเทศอื่นๆ และตั้งกำแพงภาษีในอัตราที่สูง ซึ่งในกรณีนี้ถ้าหากเกิดขึ้นจะถือว่าร้ายแรงมากๆ เพราะจะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยทันที และทำให้กำไรบริษัทเอกชนลดลงด้วย
สถานการณ์ในปัจจุบันคือเรื่องของ “ข้อพิพาททางการค้า” มากกว่าที่จะเป็นสงครามการค้า โดยเขามองว่าถ้าเราดูหนัาฉากในเรื่องนี้เหมือนจะดูรุนแรง แต่ที่จริงแล้วขนาดเม็ดเงินของข้อพิพาทยังถือว่าเล็กน้อย และมั่นใจว่าสุดท้ายแล้วสหรัฐและจีนจะจบลงด้วยการเจรจา อาจทำให้การค้าโลกกลับมาคึกคักอีกรอบได้ แต่ช่วงนี้เราอาจได้เห็นแรงกดดันจากสหรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเหตุผลทางการเมืองของสหรัฐเองที่จะมีเลือกตั้งกลางเทอม
ตัวเขาเองยังได้เปรียบเทียบว่าให้ลองมองจีนปัจจุบันที่เหมือนกับญี่ปุ่นในช่วงยุค 1980 ที่สหรัฐก็มีกรณีพิพาททางการค้าเช่นเดียวกัน ซึ่งเขาคิดว่ากรณีนี้ก็ไม่ได้ต่างกัน
3 ประเด็นสำคัญในเรื่องความเสี่ยงเศรษฐกิจ
เขาแนะนำในเรื่องของข้อสังเกตุที่จะดูว่าช่วงนี้จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ 3 ข้อ ได้แก่
- เศรษฐกิจทั่วโลกยังขยายตัวได้ดีหรือไม่
- บริษัทเอกชนยังสามารถรายงานกำไรที่เติบโตได้หรือไม่
- ต้นทุนทางการเงินนั้นแพงเกินไปหรือไม่ จากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง
เขามองว่าถ้าหากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งต่อไป เขาคาดว่าอาจเกิดอยู่ใน 3 ข้อที่ว่ามา ซึ่งมีโอกาสเกิดพร้อมกัน หรือไม่ก็อาจเกิดจากข้อเดียวก็ได้
สำหรับระยะเวลาที่จะเกิดวิกฤติขึ้นเขาได้ทายไว้ว่าภายใน 2 ปีนี้ โดยถ้าหากว่าปัจจัยที่เป็นโอกาสมากที่สุดคือเรื่องของต้นทุนทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสหรัฐคือ 0% ซึ่งโอกาสเกิดวิกฤติในช่วงนี้ถือว่าน้อยมากๆ
เศรษฐกิจไทยยังดี
สำหรับเรื่องของเศรษฐกิจไทย เขามองว่าไทยมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ดุลบัญชีเงินสะพัดยังสูงมาก และยังรวมไปถึงนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่รีบร้อนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐ
ยังจะมีแรงสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวจีนหรือแม้แต่ชาติอื่นๆ ถ้าหากมีจำนวนเพิ่มขึ้น จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนความเสี่ยงของไทยหลักๆ คือ เรื่องของข้อพิพาททางการค้า
สำหรับเม็ดเงินที่ไหลออกจากประเทศไทย รวมไปถึงในเอเชียช่วงนี้เขาเองได้กล่าวว่าต้องรอให้นักลงทุนหายตื่นตระหนกในเรื่องข้อพิพาททาการค้าและถ้าหากมีความชัดเจน เม็ดเงินก็จะไหลเข้ามาอีกรอบ อย่างไรก็ดีเขามองว่าเม็ดเงินที่ไหลออกนั้นยังน้อยกว่าไหลเข้ามาในเอเชีย
แนะนำจัดพอร์ตลงทุน
เขายังได้ทิ้งท้ายเรื่องของการจัดพอร์ตการลงทุน ซึ่งตัวเขาเองก่อนหน้าที่จะมาเป็น Chief Economist นั้นเขาเองได้รับหน้าที่เป็น Investment Strategist ของทาง Lombard Odier ฉะนั้นมุมมองทางด้านเศรษฐกิจของเขาเองจะค่อนข้างมองหาโอกาสใหม่ๆ มากกว่านักเศรษฐศาสตร์ทั่วๆ ไป
โดยเขาได้แนะนำการลงทุนในช่วงนี้คือเน้นลงทุนหุ้นโดยเฉพาะยุโรปและกลุ่มประเทศ Emerging Markets แต่ก็แนะนำให้ระวังในเรื่องของตราสารหนี้ในยุโรป และแนะนำให้สร้างสมดุลของพอร์ตการลงทุนโดยเน้นไปยังหุ้นกู้แปลงสภาพหรือว่าลงทุนในกองทุนที่เน้นป้องกันความเสี่ยง เพื่อปกป้องพอร์ตการลงทุน และยังได้กล่าวว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะแก่การทยอยลงทุนด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา