เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา World Bank ได้เผยแพร่รายงาน Thailand Economic Monitor ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อัปเดตพัฒนาการเศรษฐกิจไทยและคาดการณ์ล่าสุดออกมา โดย Brand Inside สรุปออกมาเป็นข้อสั้นๆ ตามนี้

- คาด ‘เศรษฐกิจไทย’ ในปี 2568 เติบโต 2.9% เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่เติบโต 2.6%
- การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน = เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย
- ท่องเที่ยวจะกลับไปถึงจุดก่อนโควิด คือ นักท่องเที่ยวแตะ 40 ล้านคน
- แจกเงินหมื่น ทำให้ GDP ปี 2567 เติบโต 0.3% แต่ใช้เงิน 0.8% ของ GDP
- คาด ‘ความยากจน’ ลดลงเหลือ 8.2% ในปี 2567 เพราะเศรษฐกิจฟื้นและเงินหมื่น
- คาด ‘อัตราเงินเฟ้อ’ จะอยู่ที่ 0.8% ในปีนี้ ต่ำกว่าเป้าหมายแบงก์ชาติ
- คาด ‘ส่งออก’ จะชะลอตัวเล็กน้อย เพราะตลาดหลักอย่างสหรัฐและจีนชะลอตัว
‘แจกเงินหมื่น’ ดัน GDP โต 0.3% แต่ใช้เงิน 0.8% ของ GDP
จุดที่หลายคนสนใจ คือ ผลจากการ ‘แจกเงินหมื่น’ เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน KKP Research พึ่งเผยรายงานที่ตอบคำถามว่า แจกเงินหมื่นไปแล้ว ทำไมเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นอีก?
โดยคำตอบแบบคร่าวๆ คือ การใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายทดแทนส่วนที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดการบริโภคใหม่ รวมถึงบางส่วนยังถูกออมและนำไปใช้หนี้ นอกจากนั้น เงินหมื่นบางส่วนก็ยังไหลออกไปสู่เศรษฐกิจนอกระบบ ทำให้ยากจะจัดเก็บตัวเลขได้
จึงนำมาสู่การตั้งคำถามของหลายๆ คนว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องพิจารณาการทบทวนการใช้งบประมาณหรือไม่
ฝั่งรายงานของ World Bank มีตอนหนึ่งอธิบายถึงผลของการแจกเงินหมื่นว่า ทำให้ GDP ไทยเติบโตขึ้น 0.3% ในปี 2567 ที่ผ่านมาจริงๆ แต่ขณะเดียวกันก็ใช้งบประมาณมากถึง 1.45 แสนล้านบาท หรือประมาณ 0.8% ของ GDP ไทยเลยทีเดียว
แต่ในขณะเดียวกันการแจกเงินหมื่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ ‘ความยากจน’ ในไทยลดลงเหลือ 8.2% ในปี 2567 ร่วมกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนๆ ฟื้นตัวขึ้น
นอกจากนั้น World Bank ยังได้พูดถึง การแจกเงินหมื่นในเฟส 3 ที่กำลังจะมาถึงในเดือนเมษายนและมิถุนายนนี้เช่นกันว่า จำเป็นจะต้องใช้เงินงบประมาณมากถึง 3.05 แสนล้านบาท (1.9% ของ GDP) แต่ขณะนี้งบประมาณที่รัฐบาลเหลืออยู่สำหรับโครงการ คือราว 170,000 ล้านบาทเท่านั้น
ทำให้แม้โครงการจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ แต่ก็มีความท้าทายหลายด้านที่จะต้องเผชิญต่อ อย่างเช่น ความชอบธรรมของงบประมาณ ความล่าช้าในการดำเนินงาน หรือแม้แต่ตัวคูณทางการคลัง
ด้าน ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์‘ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมายืนยันก่อนหน้านี้ว่า เตรียมวงเงินรองรับการแจกเงินหมื่นในเฟส 3 ไว้แล้วไม่ต่ำกว่า 160,000 ล้านบาท
ไทยต้อง ‘ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง’ ถ้าต้องการเป็นประเทศรายได้สูง
นอกจากนั้น World Bank ยังได้พูดถึง ‘การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง’ ที่จำเป็นมากๆ สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
โดยมองว่า ถ้า “ไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน” เกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยที่เติบโตเฉลี่ย 3.2% ในปี 2554-2564 จะเหลือเติบโตเฉลี่ยเพียง 2.7% ในปี 2565-2573 และทำให้เป้าหมายการขยับขึ้นเป็น ‘ประเทศรายได้สูง’ ของไทยมี ‘อุปสรรค’
อีกประเด็น คือ ถ้าไทยต้องการ ‘ความยืดหยุ่นทางการคลัง’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า รัฐบาลอยากมีรายได้เพียงพอในการบริหารจัดการประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไทยจำเป็นจะต้องเพิ่มความช่วยเหลือทางสังคมแบบเฉพาะเจาะจง เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และ ‘ทุนมนุษย์’ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคเอกชนต่อไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา