ธนาคารโลกได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย ขณะเดียวกันได้ปรับตัวเลข GDP ใหม่อีกครั้ง และยังกังวลว่าปริมาณคนจนของไทยในปี 2022 จะมากกว่าปี 2015
ธนาคารโลก หรือ World Bank ได้ออกรายงานเศรษฐกิจเอเชียฉบับล่าสุด โดยได้ปรับประมาณการ GDP ของประเทศต่างๆ ในเอเชียลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชน รวมไปถึงทางด้านเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยนั้นธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า GDP ไทยในปีนี้จะติดลบที่ 3% และกรณีที่เลวร้ายสุดคาดว่า GDP จะติดลบได้มากถึง 5%
- ครม. ออกมาตรการเยียวยา COVID-19 เน้นลูกจ้าง-อาชีพอิสระ แจกเงิน 5 พัน มีสินเชื่อพิเศษ
- CIMB: วิกฤตโควิด-19 อาจทำเศรษฐกิจไทยติดลบ 6.4% ปล่อยไว้อาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะวิกฤตได้
- Goldman Sachs ปรับลด GDP ไทยปีนี้อยู่ที่ -2.2% กลายเป็นแย่สุดใน ASEAN ทันที
สำหรับมุมมองในระยะกลางที่ธนาคารโลกมองเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมาถือว่าแย่กว่าที่คาดไว้โดยคาดการณ์ในตอนแรกนั้นปีนี้ GDP จะเติบโตได้มากถึง 2.9% และได้ปรับประมาณการณ์ใหม่กลายเป็นอยู่ในช่วงติดลบ 0.5-1.5% ด้วยซ้ำ ก่อนที่จะมาปรับลด GDP ไทยอีกครั้งในบทวิเคราะห์ฉบับนี้
เหตุผลหลักๆ ที่ธนาคารโลกมองเศรษฐกิจไทยคือ ผลกระทบของนักท่องเที่ยวที่ลดลงในปีนี้ การบริโภคในประเทศที่อ่อนแอลง เนื่องจากประชาชนกักตัวอยู่ในบ้านเพื่อป้องกันตัวเอง เรื่องของห่วงโซ่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับส่งออก เช่น รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ได้ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยเข้าไปอีกรอบ ขณะเดียวกันโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปก็ส่งผลกับการใช้จ่ายภาครัฐด้วย
ไม่ใช่แค่ผลกระทบจาก COVID-19 เท่านั้น แต่ผลกระทบจากภัยแล้งที่กำลังคลืบคลานเข้ามา ส่งผลต่อรายได้ อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมส่งผลต่อความยากจนของประชากรที่เพิ่มขึ้น ธนาคารโลกยังมองว่าปริมาณของคนจนในประเทศไทยในปี 2022 จะสูงกว่าในปี 2015 ด้วยซ้ำ
ธนาคารโลกยังได้ยกตัวอย่างถึงกรณีจังหวัดภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลงในช่วงปี 2018 ส่งผลทำให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวในปีนั้นที่มีปริมาณคนจนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมากกว่าช่วงปี 2000 ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ธนาคารโลกยังมองว่านโยบายรัฐบาลที่จะช่วยเหลือคนจนสำคัญมาก เช่น นโยบายพักชำระหนี้ ฯลฯ รวมไปถึงนโยบายด้านสังคมอื่นๆ
ช่วงเวลาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ประเทศต่างๆ กำลังใช้หลากหลายวิธีในการรับมือนั้น ธนาคารโลกยังแนะนำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ลงทุนในระบบสาธารณสุข ผสานกับการใช้นโยบายทางการเงินและการคลัง โดยธนาคารโลกได้ยกตัวอย่าง 2 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ที่เน้นลงทุนในระบบสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาด ที่ท้ายสุดแล้วผู้ติดเชื้อมีปริมาณที่ควบคุมได้
นอกจากนี้ธนาคารโลกยังได้เน้นย้ำเรื่องการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือสถาบันการเงิน เพื่อจะช่วยให้ประชาชนสามารถผ่านพ้นเวลานี้ไปได้ ขณะที่นโยบายการค้าควรที่จะเปิดกว้าง รวมไปถึงการร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อที่จะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน
Note: ปรับแก้ไขคำ และเพิ่มวรรคกรณีที่จังหวัดภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลงในช่วงปี 2018
ที่มา – World Bank
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา