เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา World Bank ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 อาจทำให้คนทั่วโลกราว 150 ล้านคนเข้าสู่ภาวะยากจนมากขึ้นภายในสิ้นปี 2021
ปี 2020 ผู้คนจำนวน 88 ล้าน ถึง 115 ล้านคน จะตกอยู่ในภาวะความยากจนมาก ใช้ชีวิตอยู่ด้วยเงินราว 1.90 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 59.32 บาทต่อวัน จากนั้น จำนวนคนยากจนมากจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านคนภายในสิ้นปี 2021
ปีนี้ ประชากรโลกอาจจะอยู่ในสถานะที่ยากจนมากถึง 9.1-9.4% เหมือนกับช่วงปี 2017 ที่มีคนยากจนราว 9.2% ถือว่ามีอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ทั้งนี้ ความยากจนในปี 2019 ประเมินว่าจะอยู่ที่ 8.4% จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 7.5% ในปี 2021 ก่อนที่จะมีโควิดระบาด อย่างไรก็ตาม มีการตั้งเป้าว่าจะลดจำนวนคนยากจนราว 3% ภายในปี 2020
ทั้งนี้ โรคระบาดและภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจทำให้ประชากรโลกตกอยู่ในภาวะยากจนมากขึ้นกว่า 1.4% ในรายงานยังพบว่าส่วนใหญ่ควมยากจนมากที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ยังพบในประเทศที่มีอัตราความยากจนสูงอยู่ก่อนหน้าแล้ว แต่ราว 82% คือผู้คนที่อยู่ในชนชั้นกลาง ซึ่งมีเส้นความยากจนที่มีระดับรายได้อยู่ที่ 3.2 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 99.65 บาท และมีรายได้สำหรับชนชั้นกลางระดับบนอยู่ที่ 5.5 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 171.71 บาท
ก่อนหน้านี้ สถานะความยากจนมากมักพบในพื้นที่ชนบท แต่ปัจจุบันมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากในเมืองด้วย ซึ่งจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้สัมพันธ์กับการปิดเมืองเพื่อกำจัดโควิดระบาดด้วย ตัวอย่างเช่น การขาดรายได้ หรือหารายได้ไม่ได้ในช่วงที่มีการปิดเมือง เป็นต้น
ทั้งนี้ บริเวณแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub Saharan African) มีผู้คนยากจนมากที่สุด อาศัยอยู่ได้ด้วยเงินเพียง 1.9 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 59.32 บาทต่อวันและมีแนวโน้มยากจนเพิ่มขึ้น 50 ล้านคนภายในปี 2021 ซึ่งช่วงก่อนโควิดนั้นประเมินว่ามีราว 37.8%
โควิด-19 ทำให้รายได้ของกลุ่มคนที่ยากจนมากที่สุดราว 40% ลดลง World Bank ระบุไว้ตั้งแต่ปี 2012-2017 รายได้คนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3% แต่วิกฤติโควิดอาจทำให้รายได้กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดลดลงไปด้วย กล่าวคือ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มขึ้นและลดโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility)
World Bank ระบุว่า หากต้องการลดความยากจน ประเทศต่างๆ ต้องพยายามควบคุมและจัดการไวรัสให้ได้ รวมถึงให้ความช่วยเหลือครัวเรือนต่างๆ เพื่อให้มีความสามารถในการรับมือทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นขึ้นได้ ประเทศต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับเศรษฐกิจหลังโควิด ทั้งในเรื่องของทุน แรงงาน ทักษะ และนวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้
ที่มา – World Economic Forum
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา