Uniqlo เตรียมปิดสาขาใหญ่สุดในเกาหลีใต้ ผลพวงจากกระแส “บอยคอตต์ญี่ปุ่น”

uniqlo
Uniqlo ภาพจาก Shutterstock

Uniqlo สาขาใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ เตรียมปิดตัว

แบรนด์เสื้อผ้าเจ้าดังสัญชาติญี่ปุ่น “Uniqlo” ประกาศในเว็บไซต์ว่า ร้าน Uniqlo สาขาเรือธงในย่าน “เมียงดง” จะให้บริการไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม ปีหน้า 

โดย Uniqlo สาขาเมียงดงเป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสาขานิวยอร์ก ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณทางเข้าย่านการค้าเมียงดง ย่านใหญ่ใจกลางกรุงโซลที่คนพลุกพล่านมากที่สุดแห่งหนึ่ง

เบื้องหน้าโควิด เบื้องลึกสายสัมพันธ์ที่คุกรุ่น

Uniqlo ให้เหตุผลของการปิดสาขาในครั้งนี้ว่า เป็นเพราะวิกฤติโควิด-19 ย่านการค้าอย่างเมียงดงซึ่งเป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาลก่อนหน้านี้จึงซบเซาลงอย่างมาก ส่งผลต่อยอดขาย ทำให้ทาง Uniqlo ต้องทำการปิดบริการในสาขาดังกล่าว

Seoul South Korea โซล เกาหลีใต้
ภาพจาก Shutterstock

แต่ว่าเมื่อเราลองดูตัวเลขรายได้ของ Uniqlo ในเกาหลีใต้ พบว่า รายได้ของ Uniqlo ในเกาหลีใต้ลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ลดลงกว่าครึ่งเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน โดยขาดทุนมากกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

น่าสนใจว่า รายได้ที่ลดลงเกิดขึ้นก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิดเสียอีก แล้วสาเหตุของการปิดที่แท้จริงคืออะไร

ที่จริงแล้ว ในเบื้องหลังเบื้องลึก การปิดสาขาในครั้งนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นที่เขม่นกันกันมาตลอด และมักจะจุดติดเสมอเมื่อมีประเด็นเชื้อไฟเข้ามา 

South Korea Boycott Japan
ภาพจาก Shutterstock

โดยในครั้งนี้ เกิดจากการที่ญี่ปุ่นระงับการส่งออกวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสำคัญให้กับเกาหลีใต้ (เช่นวัสดุสำหรับการผลิตชิป) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแส “บอยคอตต์ญี่ปุ่น” 

ชาวเกาหลีใต้เลือกแบนสินค้าบางประเภท เน้นไปที่สินค้าที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่น เช่น เบียร์ญี่ปุ่น และรถยนต์ญี่ปุ่น จนมาถึงในครั้งนี้คือ “เสื้อผ้าญี่ปุ่น” ซึ่งกระทบอย่างร้ายแรงต่อยอดขายของ Uniqlo ที่ตกลงตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2019 และถึงจุดต่ำสุดในเดือนสิงหาคม 2020

นี่คือการแบนเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้แบนทุกอย่าง Playstation 5 รอด

Nikkei Asia ได้วิเคราะห์ว่าการแบนสินค้าของคนเกาหลีในครั้งนี้ เป็นการแบนเชิงสัญลักษณ์ หรือ การเลือกแบน (Selective Boycotting) ซึ่งหมายถึง การแบนเพื่อแสดงให้เห็นกันอย่างชัดเจนว่าไม่พึงพอใจตัวแบรนด์หรือประเทศเจ้าของแบรนด์ ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ยอดขายจริงๆ

อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยให้เห็นว่า แม้ยอดขายออฟไลน์จะหายไป แต่ตัวเลขการขายสินค้าดังกล่าวจะไปเติบโตในช่องทางออนไลน์แทนอย่างได้สัดส่วน อย่างที่ในกรณีล่าสุด การที่ร้านสะดวกซื้อจำนวนมากในเกาหลีนำเบียร์ญี่ปุ่นออกจากหน้าร้าน ทำให้ยอดขายเบียร์ออนไลน์เติบโตขึ้น

แต่ว่าสินค้าบางกลับข้ามผ่านความสัมพันธ์อันตึงเครียดนี้ได้ เช่น “จอร์ดี้ทามาก็อตจิ” ที่ผลิตโดยแบรนด์ของเล่นญี่ปุ่นเจ้าดังอย่าง Bandai ก็มียอดจองในเกาหลีใต้สูงสุดเป็นประวัติการณ์เพราะเป็นสินค้าที่ทำให้เราย้อนนึกถึงความทรงจำวัยเด็กที่น่าคิดถึงได้ดี

แล้วก็ยังมีเครื่องเล่นเกม “Playstation 5” สุดฮิตที่เหล่าเกมเมอร์ตั้งหน้าตั้งตารอคอย โดย PS5 ขายหมดทันทีที่วางขายในเกาหลี และตอนนี้ก็ยังหาซื้อได้ยากแม้แต่ในช่องทางออนไลน์

ที่มา – Nikkei Asia (1) (2), YNA

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน