ต่างชาติยอมรับ Creative ไทย Workpoint ติดสปีดตลาดต่างประเทศสร้างช่องทางรายได้ใหม่

Creative ของไทยเป็นที่ยอมรับจากต่างชาติมาระยะหนึ่งแล้ว ตัวอย่างที่ดีที่สุดคืองานโฆษณา แต่ตอนนี้เนื้อหารายการโทรทัศน์ก็ถูกยอมรับเช่นกัน และเรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มี Workpoint เป็นผู้ช่วยบุกเบิก

Roadshow ต่างประเทศจนติดตลาด

การที่ช่องโทรทัศน์ต่างประเทศซื้อรายการของไทยไปออกอากาศนั้น ช่วงแรกเริ่มต้นจากละครก่อน เพราะมีกลุ่มแฟนคลับนักแสดง และเนื้อหาที่ตรงใจกับผู้ชม โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน แต่ตอนนี้ไม่ได้มีแค่ละครแล้ว เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา Workpoint ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม Content โทรทัศน์ของไทย ได้เดินเกมทำตลาดต่างประเทศ ผ่านการออก Roadshow ตามงานโทรทัศน์ต่างๆ จนสามารถขายลิขสิทธิ์ (License) ไปได้กว่า 10 ประเทศทั่วโลก ผ่าน 23 รายการทั้งรายการวาไรตี้ และละคร

ธนศักดิ์ หุ่นอารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.เวิร์พอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เล่าให้ฟังว่า รายการต่างๆ ของบริษัททุกจับตามองจากต่างประเทศระยะหนึ่งแล้ว เพราะเกมโชว์ต่างๆ ก็เคยได้รับรางวัลระดับเอเชีย ดังนั้นการเดินหน้าออกบูทตามงานผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ เช่น Asia TV Forum & Market ที่สิงคโปร์ และ MIPCOM ที่ฝรั่งเศส ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ช่องรายการจากต่างประเทศ และดิสทริบิวเตอร์ที่สนใจซื้อรายการใหม่ๆ ไปทำตลาด ก็เข้าถึงบริษัทได้มากขึ้น จนสามารถเปิดตลาดต่างประเทศได้ระดับหนึ่ง

“เวลา Workpoint ไป Roadshow จะมีแคตตาล็อกว่าตอนนี้มีรายการอะไรบ้าง แต่ละรายการพรีเซนต์อะไรออกมา ที่สำคัญรายการที่เอาไปเสนอไม่ใช่แค่รายการที่ออกอากาศอยู่ในปัจจุบัน แต่รายการเก่าเราก็เอาไป เช่นสายลับจับแกะ และรายการราชรถมาเกย ก็ยังได้รับความสนใจอยู่ เพราะตัวรายการมีความ Creative ชัดเจน และดูไม่เก่าเหมือนระยะเวลาที่ออกอากาศ ซึ่งจุดนี้เองทำให้ Workpoint แตกต่างจากบริษัทผลิตเนื้อหารายการอื่นๆ ที่เน้นขายรายการที่ออกอากาศในปัจจุบันมากกว่า”

ไม่ได้ซื้ออย่างเดียว เพราะมั่นใจเนื้อหา

สำหรับการขายลิขสิทธิ์รายการของ Workpoint นั้นจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ Format หรือการขายรูปแบบรายการให้ผู้ซื้อไปผลิตเอง โดยมีบริษัทคอยแนะนำอยู่ตลอด เช่นรายการราชรถมาเกย ที่อยู่ระหว่าง Pre-Production ในสหรัฐอเมริกา ผ่านการปรับรูปแบบคำถามให้เข้ากับวัฒนธรรมที่นั่น และมีรถยนต์เป็นรางวัล ซึ่งตรงกับความต้องการของประเทศที่ต้องเดินทางด้วยรถเป็นหลัก กับขายแบบ Finished หรือการขายเทปรายการ โดยให้ผู้ซื้อสามารถนำไปลงเสียงได้เอง

และถึงตอนนี้ Workpoint จะมีการซื้อรายการจากต่างประเทศมาปรับปรุงเพื่ออกอากาศบ้าง เช่น The Mask Singer ของประเทศเกาหลี จนฮิตติดตลาด แต่ทางบริษัทยังเน้นการผลิตรายการด้วยตนเองเป็นหลัก และพร้อมนำคอนเซ็ปรายการเหล่านั้นไปทำตลาดในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะรายการปริศนาฟ้าแล่บ ที่แม้จะเป็นแค่รายการเกมโชว์ตอบคำถาม ที่ผู้บริโภคต้องการเรื่องความรู้อยู่แล้ว แต่การนำความสนุกด้วยการติดตั้งตัว Roller Coaster ก็ทำให้ตัวเกมมีความสนุกยิ่งขึ้น และสามารถขายไปในประเทศอื่นๆ ได้

เตรียมงัด 100 รายการในอดีตปัดฝุ่นขาย

สำหรับประเทศที่ซื้อรายการจาก Workpoint ไปแพร่ภาพประกอบด้วย เวียดนาม, เมียนมา, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, สวีเดน, เปรู, ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา โดยหลังจากนี้ทางบริษัทมีแผนนำรายการเก่าในมือกว่า 100 รายการมาเสนอคอนเซ็ปขายในต่างประเทศ และเตรียมร่วมงานผู้ผลิตรายการโทรทัศน์เพิ่มเติม เช่นงานในรัสเซีย และเม็กซิโก เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยปีนี้บริษัทคาดว่ารายได้จากการขายลิขสิทธิ์รายการให้ต่างประเทศจะเติบโต 20% พร้อมกับเร่งเจรจาปิดการขายลิขสิทธิ์รายการในประเทศจีน เพื่อได้ฐานผู้ชมที่มากขึ้นด้วย

สรุป

การอยู่รอดในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล อาจไม่ใช่แค่หวังหาเงินโฆษณาอย่างเดียว แต่การสร้างธุรกิจใหม่มาต่อยอดให้กับการผลิตรายการของตัวเอง เช่น Workpoint ก็ส่งเนื้อหารายการไปขายยังต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยง ผ่านช่องทางรายได้ใหม่ๆ และจากวิสัยทัศน์ รวมถึงความ Creative ทำให้จากผู้ผลิตรายการเล็กๆ ที่เริ่มจากเวทีทอง และชิงร้อยชิงล้าน กลายเป็นอาณาจักรที่มี 19 สตูดิโอ และยืนหยัดมาได้ 28 ปี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา