ชื่อ Workpoint ถึงอย่างไรก็ขายได้ เพราะวาไรตี้เกมโชว์แต่ละรายการต่างการันตีด้วยคุณภาพ และความสนุก แต่ปัจจุบันแค่ 2 เรื่องอาจเลี้ยงช่องทีวีดิจิทัลของตัวเองไม่ได้ เพราะผู้บริโภคตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่บน Smartphone มากขึ้น ดังนั้นการใช้ Social Media เข้ามาช่วยโปรโมท และการปรับเปลี่ยนผังรายการอยู่ตลอดจึงจำเป็น
Social ต้องเป็นทั้งทางเลือก และทางหลัก
ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ บอกว่า ไม่ใช่แค่เนื้อหารายการดี และสนุกที่จะทำให้ช่องทีวีได้รับความนิยมในยุคนี้ เพราะผู้บริโภคอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นการตั้งทีมงานเพื่อเข้ามาดูแลเรื่องโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยทางบริษัทมีการทำเรื่องนี้ตั้งแต่เปิดช่องเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน ผ่านทีมงานราว 10 คน หน้าที่หลักคือส่งคอนเทนต์ต่างๆ ให้เข้าไปอยู่รายล้อมผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ เพื่อดึงดูดพวกเขาเข้ามารับชมผ่านทางโทรทัศน์ และปีหน้าจะเป็น 20 – 30 คน
“เราเปรียบโซเชียลเหมือนเครื่องมือในการ PR คอนเทนต์ ไม่ใช่เป็นช่องทางหลักในการรับชม แต่ก็โชคดีที่คอนเทนต์รายการเราค่อนข้างแข็ง ทำให้การติดต่อกับแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น YouTube, Facebook และ Line ค่อนข้างง่าย โดยรายได้จาก YouTube ปีนี้น่าจะได้ราว 50 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่ทำได้ 20 ล้านบาท นอกจากนี้ยังทำสัญญากับ Facebook เพื่อนำรายการไป Live หรือทำคลิปวีดีโอใหม่ๆ ตามที่ฝั่งนั้นกำหนด ส่วนไลน์ตอนนี้เราทำแค่นำรายการเก่าไปฉายแบบ Exclusive จนรายได้รวมฝั่งโซเชียลปีนี้ทำได้ 60 – 70 ล้านบาท”
ถ้ารายการไม่ดีต้องรีบถอดเพื่อรักษาเรตติ้ง
ขณะเดียวกัน การที่ Workpoint ขึ้นมาครองอันดับที่ 3 ของช่องทีวีดิจิทัล ผ่านเรตติ้ง 1.2 ใกล้เคียงกับปี 2558 เพราะมีการปรับผังรายการอยู่ตลอด รวมถึงตัดสินใจถอดรายการอย่างรวดเร็วหากรายการเหล่านั้นมีเรตติ้งต่ำกว่า 1 โดยรายการที่จะถูกถอดหลังเดือนต.ค. มี 2 รายการคือ ชิงช้าสวรรค์ คอนเทสต์ และ ชิงช้าสวรรค์ โอทอป จากเหตุผลฉายมานาน 9 ปี และขณะนี้มีรายการ ไมค์ หมดหนี้ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกันฉายซ้อนกันอยู่ แต่ก็ยังมีบางช่วงเวลาที่เรตติ้งต่ำ เช่นช่วง 09.00 – 12.00 ในวันธรรมดา
ทั้งนี้เตรียมใส่รายการใหม่เข้ามา 7 รายการ ประกอบด้วย 1.แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน ที่หยุดทำมา 2 ปีครึ่ง 2.เกมจารชน คู่หูอันตราย ที่หยุดทำมากว่า 10 ปี 3.The Mask Singer หน้ากากนักร้อง ที่ซื้อรายการมาจากเกาหลีใต้ 4.ไมค์ทองคำ หมอลำฝังเพชร ที่ต่อยอดซีรีส์ไมค์ทองคำ 5.Let me in Thailand ศัลยกรรมพลิกชีวิต ซีซัน 2 ที่ซื้อมาจากเกาหลีใต้ 6.ละคร ชะนีผีผลัก และ 7.ละคร แรงชัง เหตุผลที่ไม่เน้นละคร เพราะบริษัทมีสตูดิโอของตนเอง ทำให้ประหยัดต้นทุนในการทำรายการวาไรตี้ ประกอบกับต้นทุนละครต่อตอนสูงกว่าวาไรตี้หลายเท่าตัว
แข่งร้องเพลงคืออีกแม่เหล็กนอกจากชิงร้อยฯ
“เมื่อค่ายเพลงตอนนี้มีรายได้จากการเก็บค่าลิขสิทธิ์เป็นส่วนใหญ่ รายการแข่งร้องเพลงจึงเกิดขึ้นเยอะ เพื่อช่วยเหลือให้ฝั่งนั้นมีรายได้เลี้ยงบริษัทด้วย และถ้ามีรูปแบบแข่งขันดี ผู้บริโภคก็ดูอยู่ดี เช่น ไมค์ทองคำ เด็ก ของเราผู้ใหญ่ก็ดูเยอะ ส่วน I Can See Your Voice ที่มีเรตติ้ง 5 ก็ถูกพูดถึงในโซเชียลอย่างกว้างขวาง ดังนั้นเราไม่ได้มีแค่ชิงร้อยชิงล้าน และปริศนาฟ้าแล่บ ที่มีเรตติ้งรายการละ 3 กว่าๆ แต่ยังมีรายการอื่นที่มีเรตติ้งสูงกว่าหนึ่งช่วยเลี้ยง และทำให้ค่าโฆษณาเฉลี่ยเราอยู่ที่ 1.2 แสนบาท”
สำหรับเป้าหมายของ Workpoint ในปีนี้ วางรายได้ไว้ที่ 2,500 ล้านบาท มาจากธุรกิจทีวีดิจิทัล 80% มีเรตติ้งโดยรวม 1.2 เป็นเบอร์ 3 ได้อย่างยั่งยืน โดยปี 2560 ตั้งเป้ารายได้เพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท เรตติ้งเพิ่มเป็น 1.3 – 1.4 เพื่อใช้ต่อรองขึ้นราคาค่าโฆษณากับเอเยนซี่ ส่วนเป้าระยะยาววางไว้เป็นอันดับที่ 3 อย่างต่อเนื่อง เหมือนกับช่วงโทรทัศน์แอนะล็อกที่มี 6 ช่อง เพราะเบอร์ 3 ในขณะนั้นก็มีรายได้ปีละ 4,000 – 5,000 ล้านบาท ก็อยู่ได้สบายๆ ส่วนจะขึ้นไปอยู่ใน 2 อันดับแรกหรือไม่ คงไม่ใช่เป้าหมายในตอนนี้
สรุป
การแข่งขันของทีวีดิจิทัลยังหนักหน่วง แม้ภาพตลาดจะชัดแล้วว่ามีแค่ 6 ช่องที่พอจะอยู่ได้ ส่วนช่องถัดจากนี้คงต้องพยายามสร้างความแตกต่าง และหาวิธีประชาสัมพันธ์ช่องให้ได้มากที่สุด มิฉะนั้นอาจเห็นกรณีแบบ กลุ่มทีวีพูล ทิ้งช่องอีกเป็นแน่แท้
อ้างอิง // รูปภาพจากเว็บไซต์ workpointtv.com
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา