เปิดแนวคิดบริษัทที่มี Work Life Balance ดีติดอันดับโลก: ชาวฟินแลนด์ & เดนมาร์ก เขาทำงานกันยังไง

เคยสงสัยกันไหมว่า ประเทศที่คนทำงานมี Work Life Balance ดีที่สุดในโลกเขาทำงานกันยังไง ?

Work Life Balance

ในช่วง 4-5 ปีมานี้เทรนด์ Work Life Balance มาแรงทั่วโลก Kisi เลยได้ลองเปรียบเทียบข้อมูลเรื่องสภาพการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร และความน่าอยู่ของเมืองต่างๆ พบว่าในปี 2021 เมืองเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์มี Work Life Balance ดีเป็นอันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วย เมืองโคเปนเฮเกน (Copenhagen) ประเทศเดนมาร์กในอันดับที่ 5 

แต่ที่น่าเศร้าคือเมื่อลองดูอันดับของเมืองที่ทำงานหนักที่สุดในโลกกลับพบว่า กรุงเทพ ประเทศไทยของเราขึ้นไปอยู่อันดับที่ 3

Brand Inside เลยอยากชวนคุณผู้อ่านมาเปิดหูเปิดตาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่า เมืองที่คนทำงานมี Work Life Balance ดีที่สุดในโลก เขาทำงานกันยังไงบ้าง

มาเริ่มกันที่ เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

บริษัทต่างๆ ในเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ มีวัฒนธรรมการทำงานที่น่าสนใจหลายอย่างด้วยกัน เช่น 

  • การแยกวันหยุดนักขัตฤกษ์ออกจากวันลาประจำปีที่มีให้อยู่แล้ว 30 วัน 
  • การให้พนักงานลาหยุดฤดูร้อนประจำปีนาน 4 สัปดาห์ และให้ลาหยุดได้อีก 1 สัปดาห์ในช่วงฤดูหนาว แต่ยังได้รับเงินเดือนตามปกติ เพื่อให้พนักงานไปใช้เวลากับครอบครัว
  • การพักทานข้าวกลางวันได้นานถึง 1-2 ชั่วโมง ต่างจากบริษัทไทยหลายๆ แห่งที่พนักงานต้องรีบทานข้าวกลางวันเพื่อกลับไปทำงานต่อ

นอกจากนี้ คนในบริษัทที่ฟินแลนด์ก็มักจะมีสไตล์การทำงานกันแบบสบายๆ คือไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งอะไรแต่ละคนก็สามารถพูดกันได้อย่างเป็นกันเอง 

Heini Vesander หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรของ Wolt หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดของยุโรป เล่าว่า เธอเคยทำงานที่ ซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลาหลายปี แต่กลับพบว่า ตัวเองทำงานหนักมาก และไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้เวลากับลูกสาวเลย เธอจึงตัดสินใจกลับมาที่ฟินแลนด์ เพราะคนที่นี่ให้ความสำคัญกับการแบ่งเวลาให้ครอบครัวมากๆ 

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นลองมาดูตัวอย่างการทำงานของบริษัทสัญชาติฟินแลนด์กันดีกว่า

Rovio บริษัทผู้ผลิตเกมส์ชื่อดังอย่าง Angry Bird

เบื้องหลังเกมที่มีคนเล่นกว่าพันล้านครั้งนี้ คือบริษัทที่ขึ้นชื่อว่ามีวัฒนธรรมการทำงานดีเป็นอันดับต้นๆ ของฟินแลนด์

Jijo Jackson อดีตโปรแกรมเมอร์ที่ Rovio เล่าว่า ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรในการทำงาน เขาก็สามารถเข้าไปถามหรือขอคำแนะนำจากทุกคนได้ทุกเมื่อ โดยไม่จำเป็นต้องนัดก่อนเลย เพราะทุกคนพร้อมช่วยเหลือกัน เพื่อสร้างงานที่มีคุณค่าต่อสังคมขึ้นมา 

นอกจากนี้ ที่ Rovio ก็ให้พนักงานทำงานตั้งแต่ 10 โมงเช้า ถึงแค่ 4 โมงเย็นเท่านั้น ดังนั้น หลัง 4 โมงเย็นจะไม่มีการนัดประชุมใดๆ เพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้านไปพักผ่อนกับครอบครัว แต่ถ้าวันไหนมีงานเยอะ คนที่นี่ก็อาจจะใช้ชั่วโมงทำงานนานกว่าปกติ แต่จะชดเชยด้วยชั่วโมงการทำงานที่น้อยลงในวันถัดๆ ไปแทน

ทำความรู้จักสไตล์การทำงานแบบ ‘เดนมาร์ก’

คนที่เดนมาร์กจะทำงานกันเฉลี่ย 37 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และสามารถหยุดยาวได้ 5 สัปดาห์ โดยยังได้รับเงินเดือนตามปกติ 

นอกจากนี้ คนเดนมาร์กจะไม่ค่อยเอาอาหารมาทานที่โต๊ะทำงานเลย เพราะเวลาพักเที่ยงก็คือเวลาพักจริงๆ ที่สำคัญ คนที่นี่จะไม่นัดประชุมกันหลัง 4 โมงเย็น เพราะถ้าประชุมเลิกเลทก็ต้องกลับบ้านช้า และมีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง 

Martin Sondergaard ทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์อยู่ที่เดนมาร์ก เขาเล่าว่า บริษัทที่ทำงานอยู่ให้ความสำคัญกับครอบครัวพนักงานมาก และจะไม่มีใครบ่นเลยถ้าขอเลิกงานเร็วเพื่อไปรับลูก หรือขอลาหลายวันติดกันเพื่อไปหาครอบครัวที่อยู่ไกล

เขาแนะนำว่า หากใครอยากสมัครทำงานที่เดนมาร์กก็ไม่จำเป็นต้องบอกคนสัมภาษณ์ว่าตัวเองพร้อมทุ่มเททำงานอย่างหนักหลายๆ ชั่วโมงต่อวัน เพราะคนที่นี่ให้ความสำคัญกับการแบ่งเวลาให้เรื่องอื่นๆ ในชีวิตด้วยเช่นเดียวกัน

Geoffrey Taylor ชาวอเมริกันผู้ทำงานอยู่บริษัทไอทีแห่งหนึ่งในเดนมาร์ก เล่าว่า คนของบริษัทที่เขาทำงานอยู่ใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตกันมาก และจะถามไถ่กันเสมอว่า “รู้สึกยังไงกับงานที่ทำอยู่” และ “ช่วงนี้ภาระงานเยอะไปไหม” 

เขาเล่าว่า ช่วงแรกที่ย้ายมาทำงานเดนมาร์กก็ยังปรับตัวไม่ค่อยได้ เพราะถ้าทำงานเกินเวลาหน่อย หัวหน้าก็จะเดินมาถามว่า “ทำไมถึงยังอยู่ที่บริษัท” ถ้าเขาตอบว่าเพราะงานยังไม่เสร็จ หัวหน้าก็จะถามต่อว่า “งานนี้เร่งด่วนไหม ถ้าไม่เร่งด่วนค่อยทำพรุ่งนี้” ซึ่งแตกต่างจากหัวหน้าที่อเมริกา

มาดูตัวอย่างบริษัทที่มี Work Life Balance ดีในเดนมาร์กกันบ้าง

บริษัทเภสัชภัณฑ์ AbbVie ถูกจัดอันดับให้เป็นสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดในเดนมาร์กเมื่อปี 2011 และพนักงานที่นี่ก็โหวตว่าตัวเองได้ทำงานอย่างมี Work Life Balance ถึง 95% ในขณะเดียวกัน บริษัทก็ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานใหม่ลง 50% รวมถึงรายได้ที่มาจากพนักงานแต่ละคนก็เพิ่มขึ้นถึง 50% เช่นเดียวกัน

เคล็ดลับความสำเร็จของ AbbVie คืออะไร ?

สำหรับ AbbVie จะพยายามให้ทุกคนในองค์กรตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงานทั่วไปขจัดความคิดว่าในหนึ่งวันต้องทำงานตั้งแต่ 9 โมงถึง 5 โมงออกไป เพราะทางบริษัทมองว่า จำนวนเวลาที่นั่งอยู่ในบริษัท ไม่สำคัญเท่าผลลัพธ์ของงานที่ได้ 

Danek ผู้ช่วยฝ่ายสื่อสารองค์กรที่ AbbVie เล่าว่า ‘ความเชื่อใจ’ เป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งผู้บริหารของบริษัทนี้ก็มีความเชื่อว่า “ทุกคนในองค์กรล้วนตั้งใจทำงานของตัวเองให้ดี” และ “งานจะออกมาดีก็ต่อเมื่อพนักงานมีความสัมพันธ์กับคนที่บ้านดีด้วย” ดังนั้น ทางบริษัทเลยอยากให้พนักงานได้ใช้เวลาพักผ่อนกับครัวมากๆ เพราะการพักผ่อนนี่แหละที่จะช่วยชาร์จพลังให้พร้อมกลับมาทำงานเป็นอย่างดี 

สรุป

จะเห็นได้ว่าแม้ฟินแลนด์และเดนมาร์กจะมีชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่าไทย แต่หลายๆ บริษัทก็สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ พนักงานก็มีความสุข เพราะบริหารทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างลงตัว 

คำถามคือแล้วหลายๆ บริษัทในไทยควรปรับตัวอย่างไร เพื่อให้พนักงานมี Work Life Balance ได้ดีขึ้นบ้าง เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ควรหยิบยกมาพูดคุยกัน เพราะพนักงานทุกคนคือกำลังสำคัญขององค์กร 

ที่มา businessculture (1), (2), talentedladiesclub, Scandinaviastandard, supernavigators, helsinkibusinesshub, helsinki, myhelsinki

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา