วิวาทะ Work Hard vs. Work-Life Balance ทำไมเจ้าของธุรกิจคิดอย่าง พนักงานคิดอย่าง ต่างสองมุม

กระแสช่วงนี้ จะเห็นได้ว่าชาวเน็ตหลายๆ คนออกมาถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่อง ‘Work-Life Balance’ บางคนก็บอกว่าคนเราต้องแบ่งเวลาให้ตัวเองบ้าง อย่ามัวแต่บ้างาน ในขณะที่บางคนคิดว่าต้องทำงานหนักๆ ไว้ จะได้ไม่เสียใจทีหลัง 

Work

เรื่องราวทั้งหมด มันเริ่มต้นจาก ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’ เจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์และผู้ก่อตั้ง Mission To The Moon ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ดูจากบรรยากาศเศรษฐกิจ 1-2 ปีต่อจากนี้ บอกเลยว่าใครยังทำงานชิล work life balance slow life อยู่ ไม่รอดแน่นอน ตอนนี้ต้องกลับเข้าสู่บรรยากาศ work hard to survive แล้ว”

โพสต์ดังกล่าวของ ‘รวิศ’ ถูกแชร์ไปเกินหมื่นแชร์และกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ทันที มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จุดประเด็นการพูดถึง Work Hard และ Work Life Balance อย่างกว้างขวางทันที

หนึ่งในนั้นมี ‘โตมร ศุขปรีชา’ บรรณาธิการ นักเขียน นักแปล และคอลัมนิสต์ ที่ได้ออกมาตั้งคำถามถึง ‘ปัญหาของคำว่า Work Hard’ โดยระบุไว้หลากหลายประเด็น อาทิ

  • ในโลกนี้มีคนจำนวนมาก ที่กำลัง Work Hard ในระดับ Hardest จนไม่สามารถทำงานให้หนักไปกว่าเดิมได้แล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ตระหนักด้วยว่า ขนาดทำงานหนักขนาดนี้ ก็ยังไม่มีวัน ‘ลืมตาอ้าปาก’ ได้ 
  • ต่อให้เป็นคนชั้นกลางจะขยับขยายตัวเองผ่านการ Work Hard แต่ทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจนั่นแหละ ว่าด้วยสภาพสังคมที่ปราศจากความเป็นธรรม บิดเบี้ยวและ ‘เอื้อ’ ต่อคนเพียงบางกลุ่ม กระทั่งคนชั้นกลางที่เงินเดือนเป็นแสน ก็ไม่มีทาง ‘รวย’ ในระดับเจ้าสัวได้
  • อยากชี้ให้เห็นว่า อุดมการณ์ Work Hard นั้นมีปัญหาซ่อนอยู่ไม่น้อย ยิ่งโลกและสังคมเศรษฐกิจมัน ‘ห่วย’ เท่าไหร่ การแก้ปัญหาเชิงปัจเจกด้วยการ Work Hard เพื่อเอาตัวรอด อาจกลายเป็นวิธีคิดที่ยิ่งสร้างปัญหาขึ้นมาทับถมกันให้มากก็เป็นได้

ยังไม่จบเท่านี้ เพราะล่าสุด ‘หนุ่มเมืองจันท์’ หรือ ‘สรกล อดุลยานนท์’ นักคิด นักเขียน สื่อมวลชนผู้คว่ำหวอดในวงการธุรกิจและการเมืองไทย ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นเรื่อง ‘Work-Life Balance’ และ ‘Work Hard’ ผ่านหัวข้อ ‘6 เรื่องน่าเศร้าของเมืองไทย’ 

เนื้อหาที่เอามาเล่าก็อย่างเช่น มีคนรู้จักทำธุรกิจ SME และเคยทำโฟกัสกรุ๊ปกับนักศึกษาจีนที่มาเรียนในไทย แล้วตั้งคำถาม “ทำไมเรียนจบถึงอยากมาทำงานที่บ้านเรา” จนพบว่าหนึ่งในเหตุผลที่นักศึกษาจีนตอบคือ “ทำงานแข่งกับคนไทยสบายมาก เพราะเธอขยันกว่า” 

ดูเหมือนว่ามหากาพย์ในครั้งนี้ คนที่อยู่ฝั่ง ‘Work-Hard’ จะมีแต่เจ้านายหรือผู้ประกอบการเสียส่วนใหญ่ ในขณะที่ฝั่ง ‘Work-Life Balance’ จะเต็มไปด้วยพนักงานหรือคนทำงาน แล้วคุณล่ะอยู่ฝั่งไหนกัน?

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา