งานหนักไม่เคยฆ่าคน ไม่จริง ผลการศึกษาจาก WHO เผย มีคนตายจากการทำงานหนักปีละเกือบ 8 แสน

องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยผลการศึกษา งานหนักไม่เคยฆ่าใคร ไม่จริง เพราะในปี 2016 มีคนตายจากการทำงานหนักเกือบ 8 แสนคน ยิ่ง Work From Home ยิ่งเป็นปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ทำงานมากขึ้นกว่าเดิม

เคยมีคำกล่าวที่ว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” สื่อถึงการทำงานหนัก และทุ่มเทให้กับการทำงาน แล้วผลตอบแทนที่ได้จะดีเอง แต่อย่างไรก็ตามถ้าใครคิดว่างานหนักไม่เคยฆ่าใคร ก็คงต้องคิดใหม่เสียแล้ว เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปิดเผยผลการศึกษาว่า ในแต่ละปีมีคนที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักจำนวนมาก

งานหนักไม่เคยฆ่าคน ไม่จริง ทุกปีมีคนตายจากการทำงานหนักหลายแสน

องค์การอนามัยโลก เปิดเผยผลการศึกษา พบว่า ในปี 2016 มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักมากถึง 745,000 คน เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับปี 2000 โดยจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักนี้ แบ่งออกเป็น

    • เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตก 398,000 คน
    • เสียชีวิตจากโรคหัวใจ 347,000 คน

คนทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กระทบหนักสุด

โดยผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนัก เป็นผู้ที่ทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 55 ชั่วโมง ยิ่งทำงานมาก ยิ่งเสี่ยงมาก นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่า ผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย (72%) และเป็นคนทำงานที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก

อย่างไรก็ตามไม่ได้แปลว่าคนที่ทำงานหนัก จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตทันที หรือเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในเวลาไม่นาน เพราะองค์การอนามัยโลกพบว่า คนที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักในช่วงอายุ 60-79 ปี เป็นคนที่เคยทำงานหนักมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตั้งแต่ช่วงอายุ 45-74 ปี

ส่วนในกรณีที่ไม่ได้เสียชีวิต แต่การทำงานหนักก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน เพราะการทำงานหนักเกิน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ 17% และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเส้นเลือดในสมองแตก 35%

ยิ่ง Work From Home ยิ่งทำงานหนักมากขึ้น

แม้ว่าทุกคนจะรู้ว่าการทำงานหนักส่งผลเสียต่อสุขภาพ มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่กลายเป็นว่าโลกนี้ก็ยังมีผู้ที่บูชาการทำงานหนักต่อไป จากสถิติขององค์การอนามัยโลกพบว่าประชากรโลกกว่า 9% เป็นคนที่ต้องเผชิญกับการทำงานหนัก

ยิ่งมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนคนทำงานทั่วโลกต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชั่วโมงการทำงานจะน้อยลงกว่าเดิม จากการที่บริษัทบางแห่ง ปิดสำนักงาน ปรับลดพนักงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ภาระหนักจึงตกอยู่ที่พนักงานที่ยังต้องทำงานอยู่

แม้ในมุมของนายจ้าง จะมองว่าการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาทำงานที่บ้าน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มมากขึ้นจากการที่พนักงานมีภาระรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในขณะที่ทำงานที่บ้าน

ที่มา – WHO

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา