Work Life Balance เป็นแนวคิดการใช้ชีวิตที่เน้นความสมดุลระหว่างการทำงาน และชีวิตส่วนตัว โดยไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปจนเกิดผลเสียกับชีวิต
แต่ดูเหมือนว่าการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ในช่วงที่สถานการณ์บังคับ อย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นการทำลายสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่มนุษย์เงินเดือนยุคใหม่พยายามสร้างไปเสียแล้ว
Work From Home กับ Work Life Balance ที่หายไป
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานที่ต่างๆ ต้องปิดทำการ มนุษย์เงินเดือนหลายคนต้องทำงานที่บ้าน ในเวลาเดียวกับที่ลูกๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำงานไปพร้อมๆ กับการดูแลลูก ทำอาหาร และดูแลบ้านในช่วงเวลาเดียวกัน
หรือบางครอบครัวมีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน ในช่วงเวลาปกติอาจจ้างผู้ดูแลเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในช่วงกลางวันขณะที่คุณต้องไปทำงานได้ แต่ในช่วงเวลาแบบนี้ทุกคนในครอบครัวอาจต้องอยู่ด้วยกันที่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นแม้แต่ช่วงเวลาวันธรรมดาที่คุณต้องทำงานจากที่บ้าน
แต่ความจริงแล้วปัญหาสมดุลระหว่างการทำงาน และชีวิตส่วนตัว ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะ Joan Acker นักสังคมวิทยา ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับสภาพสังคมการทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1990 พบว่า ในครอบครัวผู้ชายจะเป็นฝ่ายทำงานประจำ หาเงินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว
ส่วนผู้หญิงจะทำหน้าที่ดูแลความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้ชาย รวมถึงสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไปอย่างมาก เราจึงเห็นครอบครัวที่มีผุ้ชายทำงานเพียงคนเดียวลดน้อยลงไปทุกที ซึ่งผลสำรวจของกระทรวงแรงงานของประเทศเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2018 พบว่ามีครอบครัวที่ผู้ชายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว เพียง 2,624 ครอบครัวเท่านั้น จาก 33,632 ครอบครัว
เมื่อเวลาผ่านมา 30 กว่าปี สภาพสังคมเปลี่ยนไปอย่างมาก ความเท่าเทียมระหว่างผู้หญิง และผู้ชายมีมากขึ้น ทั้งหญิงและผู้ชายจึงต้องช่วยกันทำงาน หาเงินทั้งสองฝ่าย เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายบริษัทประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้าน
ยิ่งเป็นการทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวเลือนลางลงไปอีก เพราะสถานที่ทำงาน กับสถานที่ใช้ชีวิตส่วนตัวเป็นที่เดียวกัน ลองจินตนาการถึงวันธรรมดาที่คุณต้องทำงานที่บ้าน ในขณะที่ลูกๆ ของคุณก็หยุดเรียนอยู่ที่บ้านเช่นกัน
แต่นับว่าเป็นความโชคดีของมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลาง ที่ยังพอแบ่งเวลาเพื่อดูแลลูก ทำอาหารให้คนในครอบครัว ซักเสื้อผ้า ดูแลผู้สูงอายุได้บ้าง เพราะการทำงานที่บ้านได้ให้อิสระในการบริหารเวลาในระดับหนึ่ง
ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ไม่สามารถเลือกทำงานที่บ้านได้ ทำให้เมื่อพูดถึงการแบ่งเวลาให้ชีวิตส่วนตัว หรือดูแลครอบครัว กับเวลาทำงาน จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถแบ่งเวลาให้ทั้งสองได้ โดยเฉพาะคนที่ได้ค่าจ้างเป็นรายวัน ถ้าต้องการลางานเพื่อดูแลครอบครัว ก็จะไม่ได้เงินค่าจ้างในวันนั้น
ไม่ใช่แค่พนักงาน แต่ผู้ประกอบการก็กังวลด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความกังวลให้กับตัวพนักงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตัวผู้ประกอบการที่ต้องอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านเนื่องจากสถานการณ์บังคับ ก็กังวลเช่นกัน ว่าการทำงานที่บ้านอาจลดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานลง เพราะสภาพแวดล้อมการทำงานที่ถูกรบกวนจากคนอื่นๆ ในครอบครัวได้ง่าย
ส่วนพนักงานที่ไม่มีลูกหรือครอบครัวให้ดูแล อาจรู้สึกไม่ยุติธรรมว่าทำไมบางครั้งต้องรับภาระของพนักงานที่มีลูก ให้ทำหน้าที่แทน หรือในบางครั้งบริษัทก็มีสวัสดิการดูแลพนักงานที่มีลูกมากกว่าพนักงานคนอื่นๆ พนักงานที่มีลูกอาจได้สิทธิลางานเพื่อดูแลลูก จนกลายเป็นว่าภาระงานบางส่วนต้องโอนไปอยู่กับพนักงานที่ไม่มีลูกแทน
แม้ว่าหลายบริษัทจะมีสวัสดิการดูแลพนักงานที่มีลูก แต่อย่าลืมว่าสวัสดิการส่วนใหญ่ คือการให้สิทธิลางานหลังคลอด เพื่อพักฟื้น รวมถึงดูแลลูกในช่วงเวลา 3-6 เดือนแรก แต่สิ่งสำคัญมากกว่าที่ต้องคำนึงถึง คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลลูก 1 คน มีจำนวนที่สูงมาก บางครอบครัวค่าใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงดูลูก เป็นเหตุผลหลักที่จะทำให้ตัดสินใจไม่มีลูก หรือไม่มีลูกเพิ่มอีก
อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนแยกระหว่างชีวิตการทำงาน กับชีวิตส่วนตัวไม่ได้เพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วโควิด-19 ยังมีข้อดี คือทำให้เราได้ตระหนักถึงการดูแลครอบครัว และได้ใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารักในบ้านมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ที่มา – Quartz at work, BLS
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา