นายจ้างหลายคนตั้งข้อสงสัยต่อการ WFH เพราะเชื่อว่าจะทำให้ลูกจ้างอู้ แต่ล่าสุด WEF ยกงานศึกษามาแย้ง โดยชี้ว่าคนทำงานมากขึ้นสูงสุด 40% ในยุคโควิดระบาด
หยุดสงสัย WFH ไม่ได้ทำให้คนอู้
นายจ้างหลายคนตั้งข้อสงสัยต่อการ Work From Home โดยบางคนชี้ว่าอาจไม่เหมาะกับลักษณะงานของบริษัท แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เชื่อว่าเป็นการเปิดโอกาสให้บรรดาลูกจ้างอู้งาน
แต่ล่าสุด World Economic Forum องค์กรระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ ตั้งประเด็นว่า WFH ทำให้คนทำงานหนักขึ้น โดยยกงานศึกษาของ NBER มาโต้แย้งความเชื่อที่ว่า WFH ทำให้คนอู้งาน
การศึกษาดังกล่าวพบว่า โดยเฉลี่ย คนทำงานมากขึ้นประมาณ 15%-20% ในช่วงแรกของการระบาด
- ถ้าทำงาน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ เราจะทำงานมากขึ้น 6-8 ชั่วโมง
- หรือทำงานเพิ่มอีกฟรี 1 วัน เต็มๆ
นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าในกรณีที่หนักที่สุด คนอาจทำงานมากขึ้นได้ถึง 30%-40% เลยทีเดียว และนี้คือข้อค้นพบของการศึกษาในประเทศอินเดีย
การศึกษาชิ้นนี้ของ NBER คือการศึกษาจำนวนการทำงานที่เพิ่มขึ้นโดยการวิเคราะห์ผู้ใช้งาน GitHub กว่า 15 ล้านบัญชี โดยเปรียบเทียบรูปแบบการทำงานก่อนการระบาดในปี 2015-2019 และ หลังการระบาดในปี 2020
WFH ยังทำให้คนทำงานวันหยุดเพิ่ม
คนทำงานวันหยุดมากขึ้นในช่วง Work From Home คืออีกหนึ่งข้อค้นพบสำคัญของงานศึกษานี้เกี่ยวกับการทำงานแบบใหม่ เพราะนอกจาก WFH จะไม่ได้ทำให้คนอู้งานแล้ว เอาเข้าจริงกลับทำให้คนทำงานในช่วงเวลาที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งอีกต่างหาก
ก่อนการระบาดพบว่า จากจำนวนชั่วโมงการทำงานทั้งหมด มีอยู่ 20% เกิดขึ้นในวันหยุด แต่หลังการระบาดเริ่มขึ้นตัวเลขนี้กระโดดไปอยู่ที่ 24% เลยทีเดียว
เส้นแบ่งชีวิต-การทำงานที่เลือนราง
Jonny Edser กรรมการผู้จัดการบริษัท Wildgoose พูดถึงเหตุผลที่คนทำงานกันมากขึ้นในช่วง Work From Home ว่าการทำงานแบบนี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างอาชีพและชีวิตส่วนตัวเลือนลง ถึงขนาดที่คนส่วนใหญ่ยอมทำงานทั้งๆ ที่ป่วยอยู่บ้าน
โดยในเรื่องนี้ มีงานศึกษาจากสิงคโปร์มายืนยัน โดยงานชิ้นนี้สำรวจพบว่าคนกว่า 59% ไม่ต่อต้านการทำงานทั้งๆ ที่ไม่สบาย เนื่องจากไม่สะดวกใจที่จะลาพักอยู่บ้านในช่วงทำงานจากบ้าน
ที่มา – WEF
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา