หายไปแค่ชุบตัว “วงศ์ทนง” และทีมงานเดิม กับความท้าทายใหม่ในโลกสื่อ ที่ไม่ได้มีแค่ออนไลน์

หลังเจอข่าวร้ายๆ รุมล้อม และปลดล็อคตัวเองด้วยการลาออกจากบริษัท เดย์ โพเอทส์ จํากัด พร้อมกับหายตัวไปพักหนึ่ง ล่าสุด “โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” ก็ชุบตัวกลับมาใหม่ แถมพาทีมงานหน้าเดิมๆ มาร่วมกันทำธุรกิจสื่ออีกครั้ง

ถ้าทำถูกต้อง แล้วจะไปกลัวอะไร

ผู้อ่านที่ติดตามโลกออนไลน์คงจะได้เห็นการกลับมาของ โหน่ง-วงศ์ทนง กับบริษัทสื่อหน้าใหม่ของเขาภายใต้ชื่อ The Standard หรือบริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด หลังเพิ่งเปิดตัวเว็บไซต์ไปในวันนี้ แต่กว่าจะถึงจุดนั้นเหมือนผู้ก่อตั้งร่วมของนิตยสาร aday ต้องเจอกับมรสุมมากมาย แต่สุดท้ายก็รอดพ้นมาได้

วงศ์ทนง เล่าให้ฟังว่า การตัดสินใจลาออกจากบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ถือเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตครั้งใหม่ และการกลับมาทำสื่ออีกครั้งก็ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะยังมีหลายคนที่มองตัวเองในแง่ลบ ทั้งการขายหุ้นแล้วรับเงิน 300 ล้านบาทไปแล้ว หรือเรื่องอื่นๆ แต่ถ้าสุดท้ายแล้วตนเองบริสุทธ์ การจะกลับมาทำธุรกิจสื่ออีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

ทีมบก. ของ The Standard ซึ่ง 7 ใน 8 เป็นลูกหม้อของกลุ่ม aday มาก่อน

“เมื่อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่อยากซื้อหุ้นเดย์ โพเอทส์ ตัดสินใจไม่ซื้อ เพราะผม กับปิงปอง (นิติพัฒน์ สุขสวย) ลาออก แสดงให้เห็นว่าผมไม่เกี่ยวข้อง และทำทุกอย่างสุจริต และที่ตลกกว่านั้นคือ วันที่ผมเปิด The Standard อย่างเป็นทางการ บริษัทนั้นก็แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าล้มละลาย ดังนั้นการที่ผมออกมา และตั้งบริษัทของตนเองก็เป็นเรื่องดี”

30 ล้านบาท กับทีมงาน 80 คน

สำหรับเงินทุนก้อนแรกที่โหน่ง กับปิงปอง สองผู้ก่อตั้ง aday และ The Standard มาจากการลงทุนโดย วินิจ เลิศรัตนชัย อดีตดีเจ และผู้ทำธุรกิจออแกไนเซอร์ ที่ทั้งสองผู้ก่อตั้งไปเจรจา หลังจากรู้จักมาเกือบ 20 ปี โดยเงินก้อนแรกของบริษัทที่ได้มาคือ 30 ล้านบาท เพื่อจ้างทีมงาน 80 คน และลงทุนระบบบริหารจัดการทั้งเว็บไซต์ และสิ่งพิมพ์

ภาพ pixabay.com

“เราคุยกันแค่ 30 นาที และก็ตกลง ส่วนเงินของคุณวินิจจะมาจากไหน ผมรู้แค่ไม่ได้มาจากกลุ่มนักการเมือง และแบรนด์สินค้า เพราะเราต้องการเป็นสื่อที่สุจริต และตรวจสอบได้ โดยตอนนี้ทางฝั่งผมถือหุ้นเยอะที่สุด หรือ 55%แบ่งเป็นผม 25% (20% ถือเอง 5% ถือให้พนักงาน) ปิงปองถือ 20% อีก 10% คือกลุ่มผู้ลงขัน aday 300 กว่าคน ส่วนคุณวินิจถือ 45%”

สิ่งพิมพ์ที่ไม่รอด เพราะทำไม่เป็น

ทั้งนี้ธุรกิจ The Standard ประกอบด้วย 1.เว็บไซต์ thestandard.co ที่มีทั้งข่าว, วีดีโอ, สารคดี และ Podcast (เริ่มจัดรายการเดือนส.ค.) 2.Free Copy รายสัปดาห์ The Standard (เริ่มแจก 3 ก.ค.) 3.Pocketbook และ 4.การจัดอีเวนท์ (เริ่มจัดอีเวนท์ในช่วงปลายปี 2560) ซึ่งทั้งหมดจะใช้ชื่อแบรนด์เดียวกันทั้งหมด เพื่อความ Convergence

ภาพ pixabay.com

ซึ่งในมุมของ Convergence นั้น วงศ์ทนง ย้ำว่า เป็นอีกทางรอดของธุรกิจสื่อในตอนนี้ เพราะในฝั่งสื่อสิ่งพิมพ์นั้นการจะทำแบบเดิมก็จะอยู่ยากขึ้น และตายไปในที่สุด โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร หรือเท่ากับทำธุรกิจไม่เป็นในโลกปัจจุบัน ส่วนในฝั่ง Free Copy นั้นถ้าจะทำให้รอด ต้องทำให้มีมูลค่า และต้องให้ผู้บริโภคยินยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อได้มา

สรุป

หากสังเกตรูปแบบธุรกิจของ The Standard จริงแล้วก็คือบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด กลายร่างมาดีๆ นี่เอง เพราะทั้งทีมงาน และโมเดลรายได้ แทบจะเป๊ะ แต่ด้วยประสบการณ์สื่อ 20 ปีของ โหน่ง-วงศ์ทนง  ก็น่าจะพาธุรกิจรอดปีนี้ไปแบบไม่ยากเย็นนัก แต่ในระยะยาว การแข่งขันในโลกของสื่อที่มีหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวันก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนในอดีต ก็คงต้องรอดูว่าเนื้อหาเว็บ หรือคน จะเป็นปัจจัยที่ครองผู้อ่านไว้ได้

ทั้งนี้จากเรื่องดราม่าบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับคอลัมม์นิสต์ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่จะมาเขียนให้กับ The Standard ทางผู้ก่อตั้ง และทีมงานบรรณาธิการของเว็บไซต์ ได้ตัดสินใจพักคอลัมม์นี้ไว้ชั่วคราวแล้ว เพื่อยุติดราม่าดังกล่าว และวางตัวเป็น News Agency หรือสำนักข่าว ในแบบที่ตนเองต้องการได้ต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา